หากการสานต่อความรักระหว่างหญิงชาย หมายถึงการแต่งงานสร้างรากฐานที่มั่นคงให้ชีวิตคู่แล้วล่ะก็ เชื่อว่าหนึ่งในปัจจัยที่จะนำมาซึ่งความอบอุ่นและสายใยแห่งความผูกพันคงหนีไม่พ้นเจ้าตัวน้อยๆ ที่คลานตามออกมาเปรียบเสมือนสัญลักษณ์บ่งบอกถึงคำสัญญาที่สองคู่บ่าวสาวได้มีให้แก่กันและกัน ทว่า ความหวังกลับริบหรี่ลงเมื่อนับถอยหลังจากได้เริ่มใช้ชีวิตคู่กันผ่านไปเป็นปี สองปี และอีกหลายๆปี เจ้าตัวน้อยยังไม่มาเกิดเสียที ซึ่งในทางการแพทย์ระบุไว้ว่าอยู่ในภาวะการมีลูกยากนั่นเอง
ที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั่วโลก แต่กลับมีเรื่องที่น่ายินดีเมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ทำให้คู่สมรสหลายคู่สมปรารถนาหรือ “เทคโนโลยีการช่วยเจริญพันธุ์” และที่เรากำลังจะนำมาพูดถึงคือ “การทำเด็กหลอดแก้ว” ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงาน “20 ปี เด็กหลอดแก้ว” ที่เปรียบเสมือนโอกาสและความหวังของหลายครอบครัว...
**กำเนิดเด็กหลอดแก้วไทย
ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ทำเด็กหลอดแก้วสำเร็จคนแรกของประเทศไทย เล่าว่า การมีลูกยากความหมายในทางการแพทย์คือการที่คู่สมรสไม่สามารถมีลูกได้ทั้งที่ไม่ได้มีการคุมกำเนิดและมีเพศสัมพันธ์ต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอประมาณ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 ปีแล้วยังไม่ท้อง เรียกว่ามีลูกยาก ซึ่งสถิติของคู่แต่งงานที่มีลูกยากในประเทศไทยโดยเฉพาะในสังคมเมืองค่อนข้างจะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นนั้นมาจากปัจจัยหลายอย่าง
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มาจากการแต่งงานช้า ทั้งสามี ภรรยาต่างมีอายุมาก ซึ่งในคนที่มีการศึกษามักใช้เวลาในการร่ำเรียนนาน กว่าจะจบการศึกษา กว่าจะทำงาน แต่งงาน อายุก็อาจจะอยู่ในช่วง 30 ปีขึ้นไปแล้ว ดังนั้น ตามธรรมชาติ เมื่ออายุสูงขึ้น ความสำเร็จในการตั้งครรภ์ก็จะยิ่งน้อยลง อีกสาเหตุหนึ่งคือ เรื่องของสุขภาพ เช่น รก พังผืด การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ความเครียดจากหน้าที่การงาน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเทคโนโลยีและวิทยาการทางการแพทย์ได้ก้าวล้ำไปมาก ในคู่แต่งงานที่มีบุตรยากนั้น นพ.ประมวลได้อธิบายเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวนี้ว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการช่วยให้มีลูกได้ดังใจฝันซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์” ซึ่งก็มีหลายกรรมวิธี แล้วแต่การวินิจฉัยของหมอ เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็รักษาตามอาการที่แตกต่างกันไปตามปัญหาของคนไข้
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการรักษาทั้งหมด 6 วิธีด้วยกันคือ การกำหนดวันไข่ตกให้มีเพศสัมพันธ์เอง การผสมเทียม การทำกิฟต์ การซิฟต์ การทำเด็กหลอดแก้ว และบลาสโตซิวท์คัลเจอร์
อย่างไรก็ตาม วิธีที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ การทำเด็กหลอดแก้ว ที่เป็นการเลือกไข่ที่ดีและเชื้ออสุจิที่แข็งแรงมาปฏิสนธิและเพาะเลี้ยงนอกกายจนเจริญเติบโตเต็มที่ถึงสี่เซลล์ แปดเซลล์ ซึ่งเป็นระยะที่ตัวอ่อนเริ่มเจริญเติบโตเรียกว่า เอมบริโอ แล้วจึงฉีดตัวอ่อนนี้กลับไปในโพรงมดลูก
“เมื่อปี 2530 เราได้ทำเด็กหลอดแก้วและสำเร็จเป็นรายแรกของไทย และเราถือเป็นประเทศแรกๆ ในแถบภูมิภาคนี้ ที่มีการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เข้ามาใช้ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาการการแพทย์ของไทยที่ทัดเทียมกับอารยประเทศ กระทั่งปัจจุบันนี้เชื่อว่าเทคโนโลยีของไทยก้าวหน้าไปมากกว่าหลายๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมณี ฝรั่งเศส เนื่องจากความรู้หลายๆ ด้านได้รับการพัฒนา อาทิ วันนี้เรารู้ถึงวิธีป้องกันว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน รู้ว่าไข่ที่ได้มาดีหรือไม่อย่างไร จนวันนี้ได้เป็นที่ยอมรับทั้งอัตราความสำเร็จและมาตรฐานไม่แพ้ต่างประเทศ โดยในปัจจุบันมีผู้มาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯกว่า 4,000 คน และมีเด็กหลอดแก้วเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 600 คน”
นพ.ประมวลยังบอกอีกว่า ด้วยความก้าวหน้าที่ได้รับความสำเร็จหลายต่อหลายครั้งในการพยายามช่วยให้สามีภรรยาหลายคู่พบกับความสมหวังทำให้การแพทย์ของไทยได้รับข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งคือมีคนไข้ต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจมาปรึกษาและเข้ารับการรักษาเรื่องที่มีลูกยากในเมืองไทย เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายถูกกว่าแม้ปัจจุบันอาจจะมีราคาสูงขึ้น แต่อัตราความสำเร็จใกล้เคียงกัน รวมทั้งหมอต่างประเทศก็ให้ความสนใจเข้ามาขอศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าวด้วย ฉะนั้นกลายเป็นว่าแทนที่จะเป็นเราที่ขอไปเรียนประเทศเขา กลับเป็นเราที่เป็นฝ่ายสอน จึงเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ
แม้การทำเด็กหลอดแก้วจะกลายเป็นความหวังของหลายครอบครัวที่อยากได้ลูกมาเป็นโซ่ทองสานสายใยรักระหว่างสมาชิกในบ้าน แต่ใช่ว่าจะเป็นทางออกสำหรับทุกคนหรือใครใคร่อยากได้ลูกก็จูงมือกันไปพบคุณหมอได้ตามใจชอบ
นพ.ประมวลอธิบายว่า การรักษาคนไข้ขึ้นอยู่ที่แพทย์ผู้ทำการรักษาไม่ใช่ขึ้นอยู่ที่ตัวคนไข้ แพทย์ต้องรู้ว่าคนไข้ของตนเองอยู่ในภาวะใด บางรายอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งเทคโนโลยีเลยก็ได้ เพียงแต่พยายามลดภาวะความเครียดลง หรือถ้าโอกาสที่จะทำแล้วสำเร็จมีน้อยแพทย์ก็ไม่ควรแนะนำให้คนไข้ทำ ทั้งสองฝ่ายต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันถึงโอกาสในความสำเร็จกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหลักการของแพทย์โดยทั่วไปควรคำนึงถึงการพยายามให้คนไข้ตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติให้มาก แต่ให้พึ่งเทคโนโลยีให้น้อยที่สุดและที่สำคัญในรายที่แพทย์ตัดสินใจทำให้ก็ไม่ควรตั้งความหวังไว้มากเกินไป แต่ก็ไม่อยากให้ท้อถอยหรือสิ้นหวังไปเลย
ขณะเดียวกันในคนที่ประสบความสำเร็จได้ลูกดังใจฝัน แม้จะเป็นเด็กที่เกิดมาจากการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แต่วิธีการเลี้ยงดูไม่ได้แตกต่างจากเด็กทั่วไปเลย หัวใจสำคัญอยู่ที่ครอบครัว “การเกิด การเจริญเติบโตของเด็กหลอดแก้วที่ผ่านมายังไม่มีอันตราย แต่สิ่งสำคัญต้องขึ้นอยู่ที่การเลี้ยงดูของครอบครัวเพราะเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วเขาก็เหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม การทำเด็กหลอดแก้วหรือการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์วิธีอื่นๆ อยากให้เป็นทางเลือกสุดท้ายที่หมอจะนำมาใช้รักษาคนไข้” ศ.กิตติคุณ นพ. ประมวลอธิบาย
**เปิดชีวิตเด็กหลอดแก้วไทยคนแรก
ลูกเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ และไม่ว่าลูกจะเกิดมาด้วยกรรมวิธีใด แต่เมื่อได้ขึ้นชื่อว่าลูกแล้ว คงไม่มีพ่อแม่คนใดที่จะไม่รักและใส่ใจกล่องดวงใจของตนเอง เช่นเดียวกับ ไขนภา ศรีสหบุรี คุณแม่ของ “น้องปวรวิทย์ ศรีสหบุรี” ซึ่งเป็นเด็กหลอดแก้วคนแรกของไทยโดยได้ลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2530
คุณแม่คนเก่งเล่าให้ฟังว่า เธอและสามีแต่งงานกันมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี แต่ก็ยังไม่มีลูกสักที ขณะนั้นเธออายุ 32 ปี ส่วนสามีอายุ 31 ปี จึงมีเพื่อนแนะนำให้ไปพบคุณหมอประมวลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ หลังจากนั้นคุณหมอได้ตรวจร่างกายทั้งคู่จึงได้รู้สาเหตุว่าเป็นเพราะตนมีปัญหาเกี่ยวกับพังผืด ซึ่งคุณหมอได้แนะนำให้ทำเด็กหลอดแก้ว
อย่างไรก็ตาม สำหรับครอบครัวศรีสหบุรีถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีเมื่อหลังจากได้ทำไปเพียงครั้งเดียวก็ประสบผลสำเร็จกระทั่งได้น้องปวรวิทย์ ซึ่งวันนี้อายุครบ 20 ปี กำลังเป็นนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานชาติ ชั้นปีที่ 3 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ไขนภาบอกว่าระหว่างที่น้องอยู่ในครรภ์ต้องทำตามคำแนะนำของคุณหมอทุกอย่าง อาทิ ห้ามขับรถ ห้ามได้รับการกระทบกระเทือนที่จะทำให้แท้งได้ ซึ่งคุณแม่มือใหม่หลายคนประสบปัญหาอยู่ และไปพบคุณหมอตามเวลานัดไม่ขาด พยายามรับประทานแคลเซียม และยาตามที่หมอสั่ง ส่วนการดูแลอย่างอื่นก็เหมือนคนปกติทั่วไป
“ตอนที่ลูกคลอดออกมาตอนแรกไม่รู้ว่าลูกเราเป็นเด็กหลอดแก้วคนแรกของไทย พอรู้ก็ตื่นเต้นมากและดีใจ ซึ่งการเลี้ยงดูเขาก็ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษหรือผิดปกติไปจากเด็กคนอื่นๆ เลย เพราะด้วยความที่เขาเป็นลูกเรายังไงมันก็พิเศษอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ความเอาใจใส่และเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้เขา ตอนที่น้องคลอดออกมามีคุณพ่อคุณแม่หลายต่อหลายคนเขียนจดหมายมาหาเราส่วนใหญ่จะเจอปัญหาเดียวกันคือมีลูกยาก ซึ่งก็อยากเป็นกำลังใจให้อย่าท้อแท้หมดหวัง ถ้ารู้ตัวว่าเข้าข่ายมีลูกยากก็ให้รีบมาปรึกษาแพทย์ และทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด” ไขนภาฝากกำลังใจไว้ทิ้งท้าย