xs
xsm
sm
md
lg

“นพ.พลเดช” ยันบอร์ด กคช.ฟันธงสั่งเดินหน้ารื้อแฟลตดินแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมช.พม.ยืนยันบอร์ดการเคหะแห่งชาติฟันธงสั่งเดินหน้านโยบายทุบรื้อพัฒนาแฟลตดินแดงพื้นที่สีแดง 20 อาคาร ระบุถึงซ่อมก็ยังรับรองความปลอดภัยไม่ได้ ชี้เป็นหน้าที่ฝ่ายนโยบายเพื่อให้ฝ่ายปฏิบัติมีทิศทางชัดเจน แต่จะฟังความเห็นประชาชนเป็นหลัก คาดใช้เวลา 1 ปี เผยแผนสร้างเมืองใหม่ยังให้เป็นบ้านของผู้มีรายได้น้อย และให้สิทธิ์ผู้อยู่อาศัยเดิมก่อน ขณะที่ กคช.เตรียมติดป้ายอาคารไม่ปลอดภัยและอาจหยุดเก็บค่าเช่า ขณะที่ประธานคณะ กก.สอบทานปัญหาแฟลตดินแดง ยืนยันผลตรวจสอบของ 3 องค์กรวิศวกรรม เห็นว่ายังซ่อมได้ และสามารถอยู่ได้อีก 100 ปี ระบุหากสถานการณ์ชาวแฟลตดินแดง กับ กคช. บานปลาย จะออกแถลงการณ์ชี้แจงการสอบทานต่อสาธารณชน 

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยืนยันว่า คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ให้ทุบรื้อและพัฒนาแฟลตดินแดงในพื้นที่สีแดงทั้งหมดจำนวน 20 อาคาร ซึ่งมีโครงสร้างเสื่อมสภาพไม่ปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัย แม้จะซ่อมแซมก็ไม่สามารถรับรองความปลอดภัยได้ จึงเห็นควรให้รื้อและพัฒนาใหม่จะเกิดประโยชน์และความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยเดิมมากกว่า ทั้งนี้ ถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ที่จะต้องให้นโยบายที่ชัดเจนแก่ผู้ปฏิบัติ ที่ผ่านมาไม่มีการตัดสินใจที่ชัดเจน ทำให้ไม่มีทิศทางในการชี้แจงกับประชาชน ส่วนเมื่อทางการ กคช.ได้ไปปฏิบัติแล้วอาจยังทำไม่ได้ตามนโยบายนี้ก็ต้องรายงานกลับขึ้นมาว่าปฏิบัติไม่ได้อย่างไร คณะกรรมการฯ ก็จะต้องแก้ปัญหาต่อไป แต่อยากขอให้ประชาชนเข้าใจและใช้ดุลพินิจด้วย

นพ.พลเดช กล่าวว่า แนวทางดำเนินการตามมติดังกล่าว ประกอบด้วยการสร้างความเข้าใจต่อประชาชน การวางแผนเคลื่อนย้ายประชาชน และการวางแผนรื้อถอนอาคาร ซึ่งจะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยเดิมเป็นสำคัญ โดยกระบวนการทำงานได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว คาดว่าใช้เวลาพูดคุยกับประชาชนไม่ต่ำกว่า 1 ปี สำหรับการสร้างขึ้นใหม่มีนโยบายพัฒนาให้เป็นเมืองใหม่ที่มีองค์ประกอบครบถ้วนยิ่งขึ้น เช่น โรงเรียน สวนสาธารณะ เนื่องจากมีคนกว่า 30,000 คน แต่ยังคงวัตถุประสงค์เดิมคือเป็นเคหะเพื่อชุมชน หรือที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น แม้ กคช.จะต้องกู้เงินมาลงทุนมากแต่นโยบายค่าเช่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งนี้ จะเน้นให้สิทธิเข้าอยู่อาศัยแก่ผู้อยู่อาศัยเดิมเป็นสำคัญ ทั้งเจ้าของสิทธิเดิม ผู้เช่าช่วงต่อ หรือแม้แต่ผู้มาขออาศัย รวมทั้งจะเพิ่มหน่วยอาศัยให้แก่ผู้ต้องการมาอยู่ใหม่ด้วย

“เมื่อฝ่ายนโยบายได้ทำตามหน้าที่สมศักดิ์ศรีบทบาทแล้ว ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ ทำได้หรือไม่ก็เป็นเรื่องปัญหาอุปสรรคที่ไม่มีใครทำนายได้ แต่เราคิดว่าในการนำไปสู่การปฏิบัตินี้ต้องใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเข้มข้น” นพ.พลเดช กล่าว และว่า ในแง่หนึ่งคณะกรรมการฯ ก็ต้องตัดสินใจเพื่อป้องกันตนเอง เนื่องจากหากเกิดเหตุร้ายขึ้นระหว่างยังไม่ตัดสินใจก็จะเป็นความรับผิดชอบที่สูงมาก

นพ.พลเดช กล่าวด้วยว่า ทางการ กคช.ได้แจ้งแนวปฏิบัติเบื้องต้นว่าจะดำเนินการติดป้ายประกาศหน้าอาคารให้ชัดเจนว่าเป็นอาคารที่ไม่ปลอดภัยสำหรับการอยู่อาศัยแล้ว ส่วนผู้ที่ยังจะอาศัยอยู่ต่อไปก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง และอาจถึงขั้นหยุดเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าเนื่องจากถือว่าเป็นอาคารที่ไม่มีความปลอดภัยแล้ว ทั้งนี้ เพื่ออย่างน้อยหากเกิดเรื่องอะไรขึ้น ความรับผิดชอบก็จะน้อยลง อย่างไรก็ตามจะไม่มีการบังคับให้ย้ายออกไปจากอาคารในช่วงนี้แน่นอน

นายชนินทร์ รุ่งแสง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังหารือกับหัวหน้าฝ่ายโยธาธิการของสำนักงานเขตดินแดง ในฐานะเจ้าของพื้นที่ กรณีที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จะรื้อถอนแฟลตดินแดงที่อยู่ในเขตสีแดงว่า เนื่องจากแต่ละอาคาร เป็นอาคารที่เกิน 80 ยูนิตขึ้นไป การรื้อย้ายจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการจัดทำอีไอเอ 7-8 เดือน ในส่วนของ กทม. คงต้องรอให้ กคช. ยื่นคำร้องขอรื้อถอนมายังสำนักการโยธาก่อน ซึ่งตามกฎหมายต้องยื่นก่อนทำการรื้อถอน 30 วัน ส่วนพื้นที่แฟลตดินแดงจัดอยู่ในประเภทพื้นที่สีน้ำตาล มีความหนาแน่นระดับ ย.9 ตามกฎหมายผังเมืองใหม่ แล้วจะต้องมีการกำหนดแนวถอยร่นจากถนน ซึ่งจะสัมพันธ์กับความสูงของอาคาร และจะมีผลต่อขนาดของห้อง โดยต้องขอรอดูแบบที่ กคช. จะยื่นขอมาทาง กทม. ต่อไป
 ทั้งนี้ กทม. พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบเสมอ โดยสำนักพัฒนาสังคมและสำนักการศึกษาสามารถช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยทั้งด้านการฝึกอาชีพและด้านสถานศึกษา แต่ในความเห็นส่วนตัว ตนเห็นว่ายังไม่ควรทำการรื้อถอนขณะนี้ ควรรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาตัดสินใจ อีกประการหนึ่งก็มีผลสอบทานมาจากวิศวกรรมสถานฯ ก่อนหน้านี้แล้วว่า แฟลตดินแดงยังสามารถซ่อมแซมให้อยู่อาศัยได้อีกหลายปี

นายสืบศักดิ์ พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการสอบทานปัญหาแฟลตดินแดง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลที่ 3 องค์กรด้านวิศวกรรม คือ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานฯ และสถาบันเทคโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) มีความเห็นตรงกันคือ แฟลตดินแดง สามารถซ่อมได้ และรายงานของเอไอที ละเอียดมาก แต่การทุบหรือรื้อถอน เป็นอำนาจการตัดสินใจของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ทั้งนี้ เห็นว่าหากมีการตั้งธง คงไม่สามารถทำอะไรได้ และอย่าได้ฝากปากคนอื่นเพื่อมายืนยัน พร้อมระบุหากทุบแฟลตดินแดง คงต้องทุบแฟลตทั่วกรุงเทพฯ เนื่องจากมีแฟลตบางแห่งมีสภาพตัวอาคารแย่กว่าแฟลตดินแดงจำนวนมาก และที่ผ่านมา เคยแจ้งกับ กคช. ไปแล้ว
นายสืบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรดูข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบและสอบทานแฟลตดินแดง ให้ละเอียด ก่อนตัดสินใจ เพราะหากต้องจ่ายค่าชดเชย จะต้องใช้เงินกว่า 400 ล้านบาท ให้ผู้อยู่อาศัยกว่า 20 ตึก และการซ่อมใช้เงินเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น หากคิดเปรียบเทียบเงินชดเชยกับค่าซ่อม สามารถซ่อมได้ถึง 8 ครั้ง และอยู่ได้อีก 100 ปี และหากสร้างใหม่ต้องใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท และอยากถามว่า ขณะนี้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอแล้วหรือ หากสถานการณ์ระหว่างชาวแฟลตดินแดงกับ กคช.บานปลาย ทางสมาคมวิศวกรรมสถานฯ เตรียมทำแถลงการณ์ชี้แจงการสอบทานแฟลตดินแดงต่อสาธารณชน เพราะเชื่อมั่นว่าชาวแฟลตไม่อยู่นิ่งเฉยต้องออกมาชุมนุมประท้วงแน่นอน
ด้านนายพรศักดิ์ บุณโยดม ผู้ว่าการ กคช. กล่าวว่า มติการรื้อถอนแฟลตดินแดง เป็นไปตามที่ นพ.พลเดช สัมภาษณ์ ยืนยันว่า กคช. ห่วงใยประชาชนในเรื่องความปลอดภัย และเตรียมนัดตัวแทนแฟลตดินแดงเข้าหารือเพื่อรับฟังความเห็นครั้งแรกในวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน ที่ กคช. ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น. จากนั้น เตรียมสร้างความเข้าใจและหารือกับประชาชนในแฟลตทุกแฟลตต่อเนื่อง โดยเนื้อหาการพูดคุยจะเป็นเรื่องสภาพความเป็นอยู่ ว่าจะดำเนินการอย่างไร หากต้องย้ายที่อยู่อาศัย และความช่วยเหลือของ กคช. ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เชื่อว่าคงใช้ระยะเวลานาน แต่ชาวแฟลตจะเข้าใจไม่ต่อต้าน เปรียบการหารือเหมือนการพูดคุยระหว่างคนไข้กับญาติสนิท ย้ำไม่มีแนวคิดทำคอมเพล็กซ์ มีแต่ความจริงใจ และต้องการทำเพื่อสังคม ไม่หวังผลกำไร
นายพรศักดิ์ กล่าวถึงความเห็นของ 3 องค์กรด้านวิศวกรรม คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานฯ ว่า เปรียบเสมือนการตรวจอาการของคนไข้ โดยหมอคนแรกมีการตรวจไปกว่าร้อยละ 50 ส่วนหมอคนที่ 2 และ 3 มีการตรวจอาการพอสมควรไม่ลงลึกมาก ทั้งนี้ กคช. เตรียมเอกซเรย์อย่างละเอียดถึงอาการ ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งทั้ง 3 องค์กร ไม่ได้มีการยืนยันถึงความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ กคช. มีความห่วงใย โดยในบางจุดที่อันตราย กคช. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงไปดำเนินการซ่อมแซมชั่วคราว โดยนำโครงเหล็กไปด้ามในบางจุดที่มีความเสียหายอย่างรุนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น