หากเอ่ยถึงคนเร่ร่อน หรือคนไร้บ้านเชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึงภาพ คนที่นอนอยู่ใต้สะพานบ้าง ริมถนนบ้าง หรือแม้แต่ที่สวนสาธารณะต่างๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นนับเป็นอาการเจ็บป่วยทางสังคมอย่างหนึ่ง เห็นได้จากการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของปัญหาที่นับวันที่ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
คนเร่ร่อน ไร้ที่อยู่อาศัยมักถูกมองว่าเป็นขยะสังคม สร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้พบเห็น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเกิดจากการถูกบีบบังคับจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ช่องว่างระหว่างสังคมเมืองกับชนบท ปัญหาความแตกแยกของครอบครัว ฯลฯ ทำให้มีการอพยพเข้าสู่เมืองหลวง สถานที่พึ่งและความหวังสุดท้ายในการเริ่มต้นชีวิตใหม่
...แต่วันนี้ พวกเขามีที่พึ่งแล้ว เมื่อได้ดำเนินการจัดตั้ง “บ้านอุ่นใจ” ซึ่งถือเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวแห่งแรก ณ กรุงเทพมหานคร
กำเนิดบ้านอุ่นใจ
อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เล่าถึงการเริ่มต้นของบ้านอุ่นใจว่า ปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้านนั้นเกิดจากผลกระทบของปัญหาด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมฯลฯ ทำให้มีการอพยพประชากรเข้าสู่เมืองใหญ่ เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกิน การศึกษาในระดับต่ำ ทำให้เกิดภาวะว่างงาน แรงงานไม่มีฝีมือ มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
“จากการสำรวจทั้ง 50 เขตของกทม.พบว่ามีคนเร่ร่อน และคนไร้บ้านถึง 675 ราย ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดร้อยละ 67.1 ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 26-45 ปี ปัญหาที่พบคือไม่มีที่อยู่อาศัย ว่างงานเป็นส่วนใหญ่”
ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงได้คิดโครงการขึ้นมาและได้มอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคม ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและบ้านพักคนไร้บ้านซึ่งก็คือ “บ้านอุ่นใจ” ขึ้นเป็นแห่งแรกของกทม. เพื่อรองรับการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้บ้านอย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม โดยบ้านอุ่นใจตั้งอยู่ด้านข้างกระทรวงแรงงาน ถ.มิตรไมตรี เขตดินแดง
ไพรัตน์ เหมันต์ นักสังคมสงเคราะห์ ประจำบ้านอุ่นใจ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภารกิจส่วนใหญ่นั้นจะให้ความช่วยเหลือประสานงาน ส่งกลับภูมิลำเนา จัดหางานในพื้นที่ รวมถึงส่งต่อให้สถานสงเคราะห์ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ฯลฯ ภายใน 10-15 วัน เพื่อรอส่งต่อสถานสงเคราะห์ในสังกัดพม. แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะพิจารณาให้อยู่ต่อเป็นกรณีไป
ทั้งนี้บ้านอุ่นใจจะเปิดตลอด 24 ชั่วโมง มีทีมเฉพาะกิจที่พร้อมปฏิบัติการทันทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉินซึ่งผู้พบเห็นสามารถแจ้งได้ที่สายด่วน โทร.0-2248-1482 โดยจะสามารถรับได้ 30 คนชาย 15 คนและหญิง 15 คน
“ในแต่ละวันทางเจ้าหน้าที่จะมีการปรับบุคลิกภาพในช่วงที่รอการส่งต่อ ลักษณะคนเหล่านี้นั้นไม่เหมือนคนปกติ เขาอาจจะมีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ ซึ่งเราไม่รู้ เราจึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับพวกเค้าให้เข้ากับสังคม ตอนนี้มีผู้ที่รอการส่งต่ออยู่ 7 คน ชาย 4 คน และหญิง 3 คน เราต้องหาทางออกไปให้เขา ทางเจ้าหน้าที่จะมีการลงพื้นที่สำรวจหาญาติ ก่อนส่งกลับภูมิลำเนา หรือให้คำแนะนำเรื่องการหางาน การประกอบอาชีพให้เหมาะกับศักยภาพของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเขาด้วย ”
เปลือยชีวิตคนไร้บ้าน
น้องนก (นามสมมติ) อายุ 12 ปี 1 ในสมาชิกของบ้านอุ่นใจ เล่าเรื่องราวชีวิตผ่านน้ำเสียงอันสั่นเครือ และแววตาที่ไร้ซึ่งความสดใสต่างจากเด็กสาวในวัยเดียวกันว่า ก่อนที่จะมาอยู่ที่นี่ได้อาศัยอยู่กับเพื่อนสนิทประมาณ 6-7 เดือน ช่วงที่อยู่กับเพื่อนก็เอาแต่เที่ยวเตร่ไปวัน ๆ โดยจะไปอยู่แถวสวนลุมฯ บ้างตามประสาวัยรุ่น
สำหรับครอบครัว น้องนกมีแม่และพี่ชายอีก 2 คน พี่ชายคนโตเรียนอยู่ ม.6 ทำงานไปด้วย ส่วนคนกลางไม่ได้เรียน รับจ้างไปวัน ๆ ส่วนพ่อนั้นเลิกกับแม่ตั้งแต่ยังจำความไม่ได้
น้องนกต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ป.4 เพราะตั้งท้องจึงไม่กล้าไปเรียน ไม่กล้ากลับบ้าน และเมื่อตัดสินใจบอกแม่เพราะคิดว่าท้องที่โตขึ้นนั้นสักวันแม่คงรู้ แม่บอกแต่เพียงว่า “ตามมีตามเกิด เพราะบ้านจน” ตอนนี้ท้องได้ 7 เดือนแล้ว ส่วนพ่อของเด็กนั้นพอรู้ว่าท้องได้ประมาณ 2 สัปดาห์ก็ไม่ติดต่อกลับมาเลย ซึ่งแฟนคนนี้คบหามาประมาณเดือนกว่า ประกอบกับไม่รู้ที่มาที่ไปของแฟนด้วยจึงไม่ทราบว่าจะไปตามได้ที่ไหน
“ตอนนั้นหนูสับสนมาก ท้อแท้ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ท้องก็เริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่กล้าที่จะบอกใคร อายเพื่อนด้วย ช่วงนั้นมืดแปดด้าน คุยกับใครก็ไม่ได้ ตัดสินใจออกจากบ้านเลย ไม่ได้คิดอะไรเที่ยวไป เล่นไป กับเพื่อน จะได้ไม่คิดอะไรมาก บางทีหนูลืมไปด้วยซ้ำว่าตัวเองท้องอยู่ หาทางออกไม่เจอ คือ มันสุด ๆ แล้ว ในตอนนั้นหนูไม่รู้จะอยู่ที่ไหนแล้ว ลูกก็จะคลอดแล้ว พอดีครูที่โรงเรียนเดิมแนะนำและช่วยมาส่งที่มูลนิธิ หลังจากที่อยู่ได้ 1 วันรู้สึกสบายใจขึ้น พี่ให้คำปรึกษาเรื่องลูก และหาที่อยู่ หนูคิดว่าอย่างน้อย ๆ ก็มีกินมีที่นอน และอีกไม่กี่วันมูลนิธิก็จะส่งไปสหทัยมูลนิธิให้เขาดูแลต่อ คงจะรอให้หนูคลอดลูกและจัดการหาที่อยู่ให้ อย่างน้อยมันอาจจะดีกว่าที่อยู่กับหนู ”
น้องนกเล่าต่อว่า หลังจากนี้ชีวิตคงจะดีขึ้นกว่านี้ จะตั้งใจเรียนให้จบป. 6 ส่วนเรื่องที่ผ่านๆมาก็ไม่อยากที่จะย้อนกลับไปคิด มันไม่ได้ช่วยอะไรเลยอย่างน้อยๆตอนนี้ก็มีเพื่อนที่มูลนิธิ 2-3 คนที่คอยคุย และบอกเล่าเรื่องราวที่ผ่านมา ทั้งนี้คิดว่าเรื่องต่าง ๆ ที่คนอื่นเจอมานั้นก็ไม่ได้แย่น้อยไปกว่าตนเลย อีกทั้งพี่ๆ ที่มูลนิธิก็ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ทำให้ตนได้พูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น
“เจ้าหน้าที่ก็ถามหนูตลอดว่าอยากให้ช่วยอะไรก็บอก แต่ถ้าอยากออกไปข้างนอกก็ขออนุญาตก่อน เขาคุยกับหนู บางทีหนูกล้าที่จะคุยมากกว่าแม่อีกหนูคิดนะ ถ้าย้อนเวลาได้หนูก็อยากที่จะเรียนหนังสือเหมือนเพื่อนๆ อยากเรียนสูงๆเหมือนที่ฝันไว้ อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ถ้าตอนนี้หนูได้เรียนคงอยู่ ป.5 แล้ว”
เช่นเดียวกับลุงอุทัย วัฒนชัยปัญญา วัย 54 ปี อีกหนึ่งสมาชิกของบ้านอุ่นใจเล่าว่า พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดตากแต่ที่ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯนั้นเพื่อที่จะมารับเงินจากบริษัทเดิมที่เป็นรปภ.ไว้ ซึ่งคิดว่าน่าจะให้ได้ทันที แต่กลับไม่ใช่เพราะบริษัทบอกให้รอจนถึงวันนัดคือวันที่ 11 มิ.ย.จึงจะได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะถูกหักไปเท่าไหร่
ทั้งนี้ ในช่วงที่ยังไม่ถึงกำหนดนัดก็อาศัยนอนตามสนามหลวงบ้าง หมอชิตบ้าง บางทีก็ไปหัวลำโพง ในขณะที่มีเงินติดตัวแค่ 40-50 บาทเท่านั้นก่อนที่จะมาเจอเจ้าหน้าที่มูลนิธิที่สวนจตุจักร
“มารับเงินก็ไม่รู้ว่าจะเหลือเท่าไหร่ เขาหักเยอะมาก ไหนจะค่าประกันสังคม หักที่ทำงานไม่ครบกำหนด จะเหลือสักกี่บาทก็ไม่รู้ แต่ก็เข้าใจนะว่าเขาต้องการคนทำงานเต็มที่ เขียนหนังสือคล่อง ตอกบัตรเร็ว ดูแลความปลอดภัยทั่วถึง ตาลุงก็มองไม่ค่อยเห็น อายุก็เริ่มมากจะให้ทำงานเต็มที่เหมือนพวกหนุ่มๆ หรือตอนสมัยเป็นหนุ่มนั้นก็เป็นไปไม่ได้”
ลุงอุทัยเล่าต่อว่า ก่อนนี้เคยไปทำงานที่ไต้หวันประมาณ 5 ปี ช่วงนั้นชีวิตก็ดีขึ้น มีเงินกลับมาซ่อมแซมบ้าน ซื้อข้าวของเครื่องใช้ส่งลูกสาวคนเดียวได้เรียนหนังสือเหมือนคนอื่นเขา มีเงินเก็บขึ้นมาหน่อย แต่ที่ต้องกลับมาจากไต้หวันเพราะภรรยาเสีย หลังจากที่ทำบุญให้ภรรยาเสร็จ ก็จะกลับไปทำงานเหมือนเดิม แต่เมื่อพยายามอยู่หลายครั้งก็ไม่สำเร็จ จนมาครั้งสุดท้ายที่โดนหลอกจากบริษัทจัดหางานเถื่อน เสียเงินไป 45,000 บาทเงินที่เก็บก็ไม่มีเหลือเลย ตนคิดว่าไม่รู้ว่าจะเริ่มทำอะไรดี
“ท้อมากโดนหลอกไปหมดตัว เงินที่เหลือเก็บก็ไม่มีแล้ว คิดว่าตำรวจคงเป็นที่พึ่งสุดท้าย แต่เขาช่วยอะไรไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวตน บริษัทมันไม่มีด้วยซ้ำ จะไปตามเอากับใครล่ะ แล้วเงินที่ให้ไปเพื่อที่จะทำเรื่องไปทำงานต่างประเทศล่ะ คำถามในหัวเยอะ ลำพังจะหางานใหม่ก็ไม่มีตังค์ที่จะไป ต้องรอเก็บที่ละนิดละหน่อย หยิบยืมบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำไรให้พออยู่พอกินในแต่ละวัน ลูกสาวคนเดียวก็ต้องให้ป้าเขาเป็นผู้ปกครองแทนเพราะตนมามีเงินส่งเสียแล้ว
ลุงอุทัยเล่าอีกว่า ก่อนที่ตัดสินใจมาอยู่ที่บ้านอุ่นใจนั้น ไม่ได้รู้ที่มาที่ไป รู้แต่ว่าไปเพื่อรอให้ถึงกำหนดวันที่บริษัทนัด ก็คิดลังเลอยู่นาน ตัดสินใจอยู่นาน แต่ด้วยเงินที่จะหมดไปทำให้ไม่มีทางเลือก อีกทั้งอยู่ที่นี่ก็คงต้องเร่ร่อนอยู่นาน กว่าจะถึงวันนัด ดังนั้นจึงคิดว่าในเมื่อก่อนหน้าที่มันหมดทุกอย่างแล้ว คงไม่มีอะไรแย่กว่าตอนนี้ จึงตัดสินใจมาอยู่ที่นี่
“ตอนแรกก็แปลกใจว่าเขาทำอะไร ทั้งถ่ายรูป ซักประวัติ ใจก็กลัวจะโดนหลอกอีก แต่หลังจากที่เขาจัดหาข้าวหาน้ำให้กินและนั่งคุยซักพัก ก่อนที่จะไปพักผ่อน ที่นอนก็ดีสะอาดสะอ้าน ตอนนั้นก็รู้สึกดีขึ้นแล้วล่ะ คิดว่าไม่ได้โดนหลอกแน่ ใจชื้นขึ้นมาหลังจากที่หางานแล้วถ้าไม่มีงานทำ ต่อจากนี้คงกลับบ้าน ไปทำไร่ทำนา ปลูกผักไว้กิน แต่นั่นก็ต้องมีทุนถึงจะทำได้ ถ้าไม่มีอะไรทำจริงๆ นั้นก็คิดว่าจะไปบวชซะเลย”
...และทั้งหมดนั้นคือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และคงต้องบอกปัญหาเรื่องคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะใช่ว่าทุกคนจะโชคดีเหมือกับน้องนกและลุงอุทัยเสมอไป ที่สำคัญคือแม้จะมีบ้านอุ่นใจให้ความช่วยเหลือ แต่นั่นก็เป็นเพียงความช่วยเหลือชั่วคราว เพราะสิ่งที่จะเป็นเกราะคุ้มกันที่ดีต่อสังคมมากกว่าก็คือความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัวนั่นเอง