xs
xsm
sm
md
lg

"หมอวิชัย" ลั่นขีดเส้นตายสั่งซื้อยาที่บังคับใช้สิทธิฯ 15 กรกฎาคมนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.ขอเวลาศึกษาข้อเสนอบ.ซาโนฟี "ยาพลาวิกซ์"อีก 2 สัปดาห์ ทราบตัวเลขผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงยาชัดเจน ส่วนยาเอฟฟาไวเรนท์ ชนิดน้ำสำหรับเด็ก "เอ็มเอสดี" ผลิตรายเดียว ย้ำต้องพิจารณาข้อต่อรองหากยกเลิกซีแอลส่งผลกระทบกับไทยอย่างไรหรือไม่ ขณะที่"หมอวิชัย" ลั่นหมู่หรือจ่ารู้ผลตัดสิน 15 ก.ค. สั่งซื้อยาแน่ พร้อมเผยงบประมาณปีแรกในการสร้างโรงงานวัคซีนใช้งบประมาณกว่า 100 ล้าน เร่งรัดการดำเนินทุกขั้นตอน คาดเสร็จภายใน 4-5 ปี


นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและสมองโคพิโดเกรล (Clopidogrel) ชื่อทางการค้าพลาวิกซ์ ของบริษัท ซาโนฟี อเวนติส ที่มีการเสนอโครงการความร่วมมือให้ยาพลาวิกซ์ 3.4 ล้านเม็ดกับคน 3.4 หมื่นคน โดยที่สธ.จะจ่ายเงินเพียง 1 ล้านเม็ด นั้น ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อเสนอของบริษัทซาโนฟี่ เกี่ยวกับความแตกต่างของจำนวนผู้ป่วยที่จะต้องใช้ยา “พลาวิกซ์” กับข้อเสนอยา 3.4 ล้านเม็ด กับคน 3.4 หมื่นคน ซึ่งราคายาจะถูกลงจาก 90 บาทเหลือ 27 บาทนั้น มากหรือน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีมากนอกแค่ไหน เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้ยาพลาวิกซ์ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด มีข้อจำกัดด้านราคายาที่มีราคาแพงมากจึงมีการใช้ยาแอสไพรินแทน โดยมีคุณสมบัติในการป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันเช่นกัน

“คนที่เป็นโรคหัวใจและสมอง หรือ ต้องทำศัลยกรรมเส้นเลือด เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการรักษาด้วยยาพลาวิกซ์แต่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้ใช้ยาตัวนี้ ยิ่งในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่สามารถใช้ได้ อย่างไรก็ตามจะมีการสรุปผลการศึกษาข้อมูลทางวิชาการที่ได้มีการปรึกษากับแพทย์ด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดว่า หากไม่มีปัญหาด้านเงินทองจะมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้เท่าไหร่ มีข้อบ่งชี้ในการใช้อย่างไรบ้าง แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้”นพ.วินัยกล่าว

นพ.ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรี ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก และในฐานะนายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องใช้ยาพลาวิกซ์มีจำนวนมาก ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมีผู้ป่วยมากหรือน้อยที่ต้องพึ่งยาดังกล่าว แต่ราคายาที่แพงมากทำให้ผู้ป่วย 1 ราย ที่ต้องรับประทานยาทุกวัน วันละ 1 เม็ด ใน 1 ปี เป็นเงินถึง 25,550 บาท ก็ถือว่าเป็นเงินจำนวนมาก ดังนั้น จึงมีเพียงไม่กี่รายที่แบกรับค่าใช้จ่ายได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจึงต้องใช้ยาอื่นมีราคาถูกแต่มีผลข้างเคียงมากกว่าทดแทน เช่น ยาแอสไพริน ที่มีผลข้างเคียงกัดกระเพาะและไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกราย

“เมื่อยามีราคาแพงก็ไม่มีโรงพยาบาลนำมาใช้กับผู้ป่วย ยิ่งในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นการเหมาจ่ายรายหัว โรงพยาบาลต่างก็กลัวที่จะขาดทุน แต่ถ้าหากยาถูกลงเหลือสัก 10 บาท ก็น่าที่จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น”นพ.ประดิษฐ์ชัยกล่าว

ด้านนพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งข้อเสนอผลการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับยาเอฟฟาไวเรนท์ ชนิดแขวนตะกอน (ยาน้ำ) สำหรับการรักษาเด็กอายุกว่า 3 ปี จำนวน 2,500 คน/ปี ที่บริษัทเอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด เสนอแถมฟรี หากซื้อยาเอฟฟาไวเรนท์ ในราคา 726 บาทต่อคนต่อเดือน และข้อเสนออื่นๆ เช่น การสนับสนุนงบประมาณการตรวจวินิจฉัย ผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ และให้การสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ พบว่า ยาเอฟฟาไวเรนท์ชนิดแขวงตะกอนสำหรับเด็กมีเพียงบริษัทเอ็มเอสดี เพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่มีการผลิต และหากให้ฟรีโดยที่ไม่มีเงื่อนไขเบื้องต้นก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่หากนำมาแลกกับการให้ยกเลิกการทำซีแอลซึ่งเป็นเรื่องระดับนโยบาย ซึ่งจะต้องศึกษาผลกระทบว่าจะเกิดผลเสียหายกับประเทศไทยหรือไม่

ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 และในฐานะประธานคณะกรรมการคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ และในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ปฏิกิริยาของบริษัทยาและฝ่ายต่อต้านลดลง ทำให้กระแสข่าวเงียบลงแต่สธ.ไม่ได้อยู่เฉย แต่เดินหน้าในการหาข้อมูล และต่อรองกับบริษัทยาอินเดีย และเร่งให้มาขึ้นทะเบียนกับอย.โดยในวันที่ 15 กรกรฎาคมนี้ จะต้องมีการตัดสินใจสั่งซื้อยาทั้ง 3 ตัว คือยาเอฟฟาไวเรนท์ พลาวิกซ์ คาเลตตรา อย่างแน่นอน

นพ.วิชัย กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมาได้มีการชี้แจงกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยได้มีการชี้แจง ทำความเข้าใจให้ตรงกันในหลายๆ เรื่อง ซึ่งการสร้างโรงงานวัคซีนถือเป็นนโยบายที่มีความเร่งด่วนจำเป็น ต้องใช้เวลาในการก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องมือ ต้องมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานจีเอ็มพีขององค์การอนามัยโลก เพื่อส่งออกวัคซีนไปยังประเทศอื่นๆ ได้

“ในการหารือชี้แจงมีการถกกันมากเรื่องงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณให้งบประมาณ 13 ล้านบาท ในการออกแบบโรงงานวัคซีน นอกนั้นองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะต้องลงทุนเบื้องต้น 60 กว่าล้านบาท รวมกับงบของอภ.อีก 40 ล้านบาท ใช้ในการศึกษารายละเอียดการก่อสร้างโรงงานวัคซีน และจัดจ้างที่ปรึกษาในการดำเนินการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ดังนั้นรวมแล้วในปี 2551 ที่จะเริ่มดำเนินการใช้งบประมาณปีแรกประมาณ 113 ล้านบาท”นพ.วิชัยกล่าวและว่า คณะทำงานจะเร่งดำเนินการสร้างโรงงานวัคซีนในทุกขั้นตอนการทำงาน โดยพยายามจะให้แล้วเสร็จภายใน 4-5 ปี โดยคณะทำงานจะมีการทำแผนปฏิบัติการ และติดตามการทำงานเป็นระยะๆ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น