xs
xsm
sm
md
lg

ยลซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากใครผ่านไปผ่านมาบริเวณถนนราชดำเนินในยามนี้ก็คงจะต้องเห็นถึงความงดงามของซุ้มเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้มีโครงการจัดสร้างขึ้น เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุครบ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550  

แม้ขณะนี้จะแล้วเสร็จเพียงบางส่วน แต่เราก็ไม่ขอพลาดโอกาสที่จะพาทุกๆท่านไปร่วมชื่นชมพระบารมี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อองค์พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยผ่านงานสถาปัตยกรรมที่ตระหง่านตามเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินของมหานครแห่งนี้...

บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯกทม. อธิบายว่า โครงการก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวนี้ได้จัดสร้างภายใต้กรอบแนวความคิด “พระทรงเป็นแรงบันดาลใจ” โดยพระองค์ทรงดำรงตนอยู่ในหลักทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นพระราชจริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือส่งผลไปถึงคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมืองให้มีความเป็นธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าถือปฏิบัติก่อให้เกิดความสุข สร้างความเป็นธรรมให้เกิดในสังคม

ทั้งนี้ การจัดสร้างดังกล่าวกทม.ได้ปรึกษาถึงความเหมาะสมต่างๆเพื่อให้การจัดสร้างเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ โดยได้ปรึกษากับสำนักราชเลขาธิการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนงบประมาณที่จัดสร้างนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 30 ล้านบาท ซึ่งกทม.ได้มอบหมายให้สำนักการโยธา(สนย.) กทม.เป็นผู้รับผิดชอบงานทั้งหมด โดยงานก่อสร้างซุ้มจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกกำหนดก่อสร้างจำนวน 9 ซุ้มที่ถนนราชดำเนินใน และถนนราชดำเนินกลาง ขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนระยะที่ 2  จะอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 24 ซุ้มโดยจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้

รองผู้ว่าฯกทม.ฝ่ายโยธาอธิบายอีกว่า แต่ละซุ้มกทม.ได้จัดทำคำอธิบาย ความหมาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด

ด้านประทีป ศรีจันทร์ นายช่างศิลป์ ระดับ 6 กลุ่มงานมัณฑนศิลป์ สำนักงานออกแบบ สำนักการโยธา กทม.ผู้รับผิดชอบงานออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า ตนมีประสบการณ์รับผิดชอบงานออกแบบการก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติมาเป็นระยะเวลารวม 17 ปีแล้ว โดยล่าสุดได้เป็นผู้ออกแบบซุ้มเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ 60 ปีเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจแก่ทั้งตัวเองและครอบครัวเป็นอย่างมาก

สำหรับการเตรียมงานออกแบบและก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมีพระชนมายุ 80 พรรษาทั้ง 33 ซุ้มได้เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2549  ซึ่งผ่านการศึกษาและคิดค้นรูปแบบอย่างประณีตทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุดให้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ของไทยตลอดไป

นายช่างศิลป์ระดับ 6 แห่งมหานคร เล่าต่อว่า หนึ่งในไฮไลท์ของงานครั้งนี้ที่อยากจะแนะนำประชาชนคือ “ซุ้มช้างคู่พระบารมี”ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าศาลหลักเมือง ถนนราชดำเนินใน โดยซุ้มดังกล่าวนี้จะมีความสูงจากพื้นถึงยอด 13.80 ม.มีลักษณะเป็นรูปช้างทรง 3 ช้าง ยืนบนแท่นฐานที่มีผังเป็นรูปสามเหลี่ยม ยืนชูงวงและงา แสดงถึงความมีพลัง กล้าหาญ สง่างาม เทินบุษบกทรงกลม ภายในประดิษฐานตราสัญลักษณ์ 80 พรรษาจำนวน 3 ตราที่สามารถหมุนได้รอบด้าน

“สาเหตุที่เลือกช้างเพราะในสมัยโบราณช้างเผือกถือว่าเป็นสิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง เมื่อเมืองใดพบช้างเผือกจำนวนมากแสดงว่าเมืองนั้นมีความสมบูรณ์ มั่งคั่ง ส่วนที่มีฐานดอกบัวนั้น เพราะเป็นสื่อสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา เป็นสื่อแห่งปัญญา และเป็นผลผลิตทางการเกษตรซึ่งจากพระบรมราโชวาททรงสอนให้รู้จักคำว่า พอเพียง” ประทีป เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ

สำหรับซุ้มทั้ง 33 ซุ้มประกอบไปด้วย บริเวณถนนราชดำเนินในคือ “ซุ้มช้างคู่พระบารมี” จำนวน 1 ซุ้ม ซึ่งเป็นการก่อสร้างแบบถาวร

ถนนราชดำเนินกลางประกอบด้วย   “ซุ้มเครื่องราชสักการะ”  บายศรี ธูปเทียน-แพ และพุ่มทอง แสดงถึงการถวายเครื่องราชสักการะในพระราชพิธีฯ การทูลถวายเพื่อความเป็นสิริมงคล ความจงรักภักดีซึ่งมีความหมายในทางที่ดี เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของประเทศ อายุยืนยาว ความเจริญรุ่งเรือง ความรักที่มั่นคงต่อประชาชนและประเทศ ซึ่งมีจำนวน 3 ซุ้ม และแต่ละซุ้มจะมีราชสีห์ และคชสีห์ถือฉัตร 7 ชั้นประกบทั้ง 2 ด้าน โดยราชสีห์ หมายถึง มหาดไทยเป็นใหญ่ฝ่ายพลเรือน ส่วนคชสีห์ หมายถึง กลาโหม เป็นใหญ่ในฝ่ายทหารซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเป็นพนักงานป้องกันรักษาราชอาณาจักร

“ซุ้มทศพิธราชธรรม”  ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน และความยุติธรรม โดยแบ่งเป็นจำนวน 5 ซุ้มๆ ละ 2 ข้อ หน้า-หลัง  เช่น ทาน-ศีล โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์ที่สอดคล้องกันอยู่ภายในกรอบรูปหยดน้ำที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมามากว่า 60 ปีเพื่อให้ประชาชนที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระองค์มีความสุข

นอกจากนี้ภายในกรอบยังล้อมด้วยเพชรประดับเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงสถิตเป็นเพชรอันมีค่าในดวงใจคนไทยทั่วหล้า ส่วนสีเขียวและทอง หมายถึง ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์แห่งประเทศ ด้านบนประดิษฐานตราสัญลักษณ์ 80 พรรษา ที่ฐานมีข้อความบรรยายหน้า-หลัง และมีป้ายบรรยายเรื่องทศพิธราชธรรม 10 ประการบริเวณจุดเริ่มต้นของซุ้มและซุ้มสุดท้าย ซึ่งขณะนี้ได้ก่อสร้างเสร็จหมดแล้ว

ถนนราชดำเนินนอกจำนวน 20 ซุ้ม ประกอบด้วย ซุ้มพระราชประวัติจำนวน 5 ซุ้ม โดยได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ตั้งแต่ครั้งทรงเยาว์วัย , เสด็จขึ้นครองราชย์ ,ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรส, ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” , พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และพระราชพิธีกาญจนาภิเษก จนถึงพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ซุ้มพระอัจฉริยภาพ เช่น ทรงต่อเรือ ทรงเป็นนักกีฬาแข่งเรือใบ ทรงแต่งเพลง ทรงดนตรี ทรงวาดรูป ทรงภาพถ่าย นักประดิษฐ์ รวม จำนวน 4 ซุ้ม

ซุ้มโครงการตามแนวพระราชดำริ เช่น เรื่องหญ้าแฝก ปลูกป่า ด้านประมง ด้านจราจร ด้านชลประทาน จำนวน 5 ซุ้ม โดยทุกซุ้มจะอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วประดับตบแต่งทั้งด้านหน้าและด้านหลังเช่นกัน

ทั้งนี้ บนถนนราชดำเนินนอกจะมีซุ้มที่สร้างคร่อมถนนจำนวน 5 ซุ้มโดยได้นำซุ้มที่สร้างเฉลิมพระเกียรติทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีมาปรับปรุงใหม่พร้อมตบแต่งเพิ่มเติมด้วยเทวดา ราชสีห์ และคชสีห์ และเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ ได้แก่

ซุ้มมหาจักรีประกอบด้วยตราจักรี พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 และตราสัญลักษณ์เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา

ซุ้มพญาครุฑ อันเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ สัญลักษณ์แห่งอำนาจ สิทธิและความชอบธรรม และยังหมายถึงตราประจำแผ่นดินสำหรับประเทศไทย

ซุ้มมงคล 8 ประกอบด้วย อุณหิส คทา สังข์ จักร ธง ขอช้าง โคอุสภ หม้อเต็มเปี่ยมด้วยน้ำ จำนวน 2 ซุ้ม

ซุ้มพระมหาชนกหมายถึง พระมหาชนกซึ่งเป็นหนึ่งในทศชาติชาดกของพระพุทธเจ้าที่แสดงถึงความเพียรพยายาม และความมุ่งมั่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือปฏิบัติและเป็นแรงบันดาลใจให้ทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานแก่ชาวไทยเพื่อยึดถือปฏิบัติตามอันถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่เปรียบมิได้

และปิดท้ายถนนราชดำเนินนอกด้วยซุ้มนพรัตน์ ได้แก่ สีขาวผ่องเพชรดี ทับทิมสีมณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์ เจิดจำรูญนพรัตน์ อวยสวัสดิ์ภาพล้น ปวงพิบัติขจัดพ้น ผ่านร้ายกลายดี

นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 ซุ้ม บริเวณมุมสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต โดยจัดสร้างเป็น “ซุ้มองค์คู่บุญบารมี” ซึ่งนับแต่วันที่ 28 เมษายน 2493 เป็นวันราชาภิเษกสมรส นับเป็นระยะเวลาถึง 57 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมุ่งที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรทั้งหลาย และทรงสร้างแรงบันดาลใจให้แก่พสกนิกรยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีเสมอมา

ทั้งนี้ กทม.ยังได้จัดพิมพ์คู่มือชมซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เพื่อให้คำแนะนำและความรู้สำหรับประชาชนในการชมซุ้มต่างๆ ที่กทม.ได้สร้างขึ้นในโอกาสอันมหามงคลนี้ โดยจัดพิมพ์เบื้องต้นจำนวน 80,000 ชุด โดยคู่มือดังกล่าวจะมีคำอธิบายความหมายของซุ้มทั้ง 33 ซุ้มทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ซึ่งในคู่มือดังกล่าวจะมีดัชนีซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 80 ทั้ง 33 ซุ้ม โดยมีแผนที่เส้นทางแสดงที่ตั้งของแต่ละซุ้มอย่างชัดเจน

กำลังโหลดความคิดเห็น