ราชบัณฑิตยสถานประกาศเดินหน้าจัดทำพจนานุกรมคำใหม่ เผยรวบรวมคำศัพท์แสลงวัยรุ่น ทั้งเก่าใหม่กว่า 1,000 คำ ชี้จะทำให้วัยรุ่นใกล้ชิดและหันมาใช้พจนานุกรมเพิ่มขึ้น พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนและวัยโจ๋มีส่วนร่วมในการบัญญัติศัพท์ ระบุเตรียมจัดพิมพ์ปลายปีนี้
วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่ราชบัณฑิตยสถานจัดแถลงข่าวเรื่อง “การจัดทำพจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับการจัดทำและเก็บศัพท์ใหม่ๆ ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งมีกระแสเกี่ยวกับคำศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นตามยุคมัยปัจจุบัน เช่น คำที่นิยมใช้ในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเฉพาะ โดย ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิชนายกราชบัณฑิตฯ กล่าวว่า การจัดทำพจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน นั้น เมื่อกล่าวถึงงานพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเฉพาะพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งจะเก็บคำที่ใช้ในภาษาไทยและเกิดขึ้นเป็นเวลานานนับสิบปี และใช้กันจนติดแล้ว แท้จริงแล้วราชบัณฑิตยสถาน ได้แก่ พนานุกรมโบราณศัพท์ ที่รวบรวมคำศัพท์ที่ปรากฏในเอกสารเก่าๆ เช่น ศิลาจารึก กฎหมายเก่า วรรณคดีโบราณ พจนานุกรมสำหรับนักเรียน รวบรวมคำที่ปรากฏในตำราเรียนของนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา พจนานุกรมเฉพาะสาขาวิชา เช่น วรรณคดีไทย วรรณกรรมท้องถิ่นภาคต่างๆ ดนตรีไทย ดนตรีสากล และพจนานุกรมภาษาไทยปัจจุบันหรือพจนานุกรมคำใหม่ ที่เก็บคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน
นายกราชบัณฑิตยสถาน ยังกล่าวอีกว่า ภาษาเป็นสิ่งที่ใช้สื่อสารกันในปัจจุบัน และภาษาไทยมีการผันแปรและเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับสังคมของคนในชาติ มีคำใหม่ สำนวนใหม่ วลีใหม่เกิดขึ้นทุกวัน คำเดิมอาจมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ ขยายความ หรือเปลี่ยนความหมายผิดแผกจากเดิม เช่น “กระหึ่ม” เดิมมีความหมายแค่เสียงดัง อย่างเช่น เสียงดนตรีดังกระหึ่ม ต่อมาความหมายขยายไปถึงชื่อเสียงโด่งดังรู้จักกันไปทั่ว เช่นพูดว่า นักร้องคนนี้ชื่อเสียงดังกระหึ่ม หรือคำที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น คำว่า “เด็กซิล” หรือ “เด็กซิ่ว” ซึ่งมีที่มาจากภาษาอังกฤษว่า fossil
“อย่างไรก็ตาม ราชบัณฑิตยสถานในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวางรากฐานและกำหนดการใช้ภาษาไทย เก็บคำ และอธิบายคำภาษาไทย จำเป็นจะต้องมีการติดตามบันทึกภาษาที่เปลี่ยนแปลงหรือเกิดใหม่ การแก้ไขปรับปรุงพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยังไม่สามารถติดตามความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ราชบัณฑิตยสถานจึงเห็นควรให้มีคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งศึกษาและติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่ภาษา เก็บคำที่เกิดขึ้นและคำเปลี่ยนแปลงการใช้หรือเปลี่ยนแปลงความหมายแตกต่างไปจากที่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 แล้วรวบรวมจัดพิมพ์ออกเผยแพร่เพื่อทำประชาพิจารณ์เป็นระยะๆ คณะกรรมการชุดนี้มีชื่อว่า คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยปัจจุบัน โดยมีภาคีสมาชิกมาช่วยรวบรวมคำที่ใช้ในกลุ่มวัยรุ่นอีกด้วย ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว ขณะนี้มีการรวบรวมคำใหม่ๆ พร้อมความหมาย ตัวอย่างการใช้คำ และที่มาของคำจวนประมาณ 1,000 คำแล้ว”
ด้าน ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมภาษไทยปัจจุบัน กล่าวว่า เนื่องจากภาษามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันการสื่อสารมีความก้าวหน้า ผู้คนติดตามและบริโภคข่าวสารทุกวัน มีคำใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย หากไม่มีการรวบรวมให้ความหมาย ต่อไปอนาคตอาจจะไม่สามารถเข้าใจเอกสารที่เขียนในสมัยนี้ ทั้งนี้ ราชบัณฑิตยสถาน กำลังดำเนินการจัดพจนานุกรมคำโบราณอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งพบว่ามีการหลายคำที่แปลและเดาความหมายไม่ได้ เป็นเพราะการขาดการเชื่อมโยงกับอดีต ดังนั้น หากไม่มีการบันทึกความหมายของคำ เช่น คำวัยรุ่นไม่ “โดนใจ” นั้น เรื่องนี้ทางคณะกรรมการก็ได้พยายามสอบถามความหมายจากวัยรุ่นเพื่อเก็บข้อมูลและกำหนดวิธีการใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการมากที่สุด และพจนานุกรมฉบับนี้ไม่ใช่พจนานุกรมศัพท์บัญญัติ แต่เป็นการรวบรวมคำที่มีอยู่แล้ว และดำเนินตามขอบเขตการเก็บใหม่ ซึ่งหากมีทักท้วงคำใดมาทางคณะกรรมการก็จะนำมาพิจารณาว่าจะแก้ไขอย่างไร
“ต้องยอมรับว่า ตอนนี้อาจจะยังไม่มีความสมบูรณ์มากนัก ยังมีคำที่ต้องจัดเก็บอีกเป็นร้อยๆ คำ ซึ่งเราก็จะพยายามทำงานกันต่อไปเรื่อยๆ และหากเป็นไปได้ทั้งในเรื่องของงบประมาณในการจัดพิมพ์นั้นก็จะพยายามจัดทำออกมา 2 ปี ต่อเล่ม อย่างไรก็ตาม หลายคนก็จะมองว่าการจัดทำพจนานุกรมคำใหม่ นี้เป็นเหมือนการส่งเสริมให้วัยรุ่นใช้คำแสลงมาไป แต่ถึงแม้ไม่มีใครมาเก็บคำเหล่านั้น วัยรุ่นก็มีการคิดค้นคำใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ อยู่ดี หากเราเก็บรวบรวมไว้ได้อีกประมาณ 30-40 ปี ย้อนหลังมาอ่านหนังสือคนรุ่นปุจุบันนั้นจะได้รู้ความหมายของคำๆ นั้น”
นางจินตนา พันธุฟัก เลขาธิการบัณฑิตยสถาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คาดว่าจะเริ่มจัดพิมพ์ประมาณปลายปี และเนื่องในปีนี้ เป็นปีมหามงคล ราบัณฑิตสถานจึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดโครงการ “รณรงค์ปี 2550 เป็นปีภาษาไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550” จึงขอเชิญชวน และขอความร่วมมือกับประชาชนทั่วไปร่วมรณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสมทั้งการเขียน การอ่าน การพูด และการร้องเพลง และราชบัณฑิตยสถานยินดีและเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการจัดทำพจนานุกรมคำใหม่ เพื่อจะให้การนิยามศัพท์เป็นไปด้วยความถูกต้องและเป็นตามความต้องการ มาตรฐานเดียวกัน โดยสามารถส่งความคิดเห็นมาได้ที่ www.royin.com
“อยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และอยากให้คำศัพท์มีบัญญัติไว้เพื่อความเข้าที่ถ่อแท้ในภายหลัง ซึ่งหากมองในทางที่ดีการจัดทำเล่มดังกล่าวนี้จะมีส่วนช่วยให้วัยรุ่นเข้ามาใช้พจนานุกรมเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างคน 2 วัย วัยรุ่นกับวัยผู้ใหญ่ เกิดสีสัน การสร้างสรรค์ คำในภาษาไทย”