xs
xsm
sm
md
lg

เลี้ยงกุ้งแบบเป็นมิตรต่อนาข้าว พระราชอัจฉริยภาพจาก“พ่อของแผ่นดิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กุ้งสุขภาพดี
เป็นที่ประจักษ์แท้ในสากลแล้วว่า พระราชอัจฉริยภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มีมากมายไพศาลครอบคลุมไปถึงทุกศาสตร์และศิลป์ หนึ่งในหลายร้อยหลายพันโครงการตามพระราชดำริก็คือ “โครงการนากุ้งเป็นมิตรกับนาข้าว” ที่ทรงโปรดให้มีการทดลองเลี้ยงร่วมกัน ในแปลงที่ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง บนที่พระราชทาน

8 ปีแห่งการทดลอง ณ วันนี้ทรงแสดงให้วงการเกษตรกรรมได้ประจักษ์ชัดแล้วว่า การเลี้ยงกุ้งอย่างถูกวิธีและตามแบบที่ทรงทำไว้ ไม่ทำให้น้ำเน่าเสีย และสามารถเลี้ยงควบคู่ไปกับการปลูกข้าวได้ด้วย

....ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2541 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) เฝ้าฯ เพื่อรับสนองพระราชดำริการศึกษาและการทดลองทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำที่เป็นมิตรต่อนาข้าว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพื้นที่ส่วนพระองค์ที่ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรีจำนวน 24.9 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ริเริ่ม

วัลลภเปิดเผยถึงการสนองพระราชดำริในครั้งนี้ว่า ฟาร์มกุ้งกุลาดำที่เป็นมิตรกับนาข้าวนี้ ทรงมีรับสั่งให้ทำเป็นแปลงนาทดลอง จากพื้นที่ส่วนพระองค์ 384 ไร่ พระราชทานให้ทำในเบื้องแรก 24.9 ไร่ และนับเป็นพระปรีชาสามารถยิ่งที่มีวางแบบบ่อกุ้งด้วยพระองค์เอง ทรงรับสั่งว่าถ้าบ่อน้ำกร่อยที่จะเลี้ยงกุ้งลึก 1.5 เมตร จะต้องมีคูน้ำจืดล้อมรอบ และมีก้นคูลึกกว่าบ่อกุ้ง 60 เซนติเมตร และมีระดับน้ำสูงกว่า 15 เซนติเมตร ทั้งนี้ทรงอธิบายว่า ทำเพื่อป้องกันมิให้น้ำเค็มหรือน้ำกร่อยซึมออกไปยังนาข้าวได้ ตามกฎของแรงดันน้ำ

“ทรงพระปรีชายิ่งและมีสายพระเนตรยาวไกล แบบที่ทรงวางมาให้นับว่าแสดงถึงพระอัจฉริยภาพอย่างแท้จริง ทางดักทางน้ำกร่อยที่จะไหลลงนาข้าวด้วยกฎแรงดันน้ำจืดจากคูรอบๆ และจากการทดลองทำปรากฏว่า แบบบ่อที่ทรงวางมาให้นั้น สามารถกันน้ำกร่อยหรือน้ำเค็มซึมออกมาได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ โครงการตามพระราชดำริดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายฝ่ายและเมื่อทดลองในพื้นที่พระราชทานได้ประมาณ 3-4 ปี มีการสร้างบ่อกุ้งอนุบาล บ่อเพาะเลี้ยงในขนาดจำลองเพื่อทดลองตามแนวพระราชดำริ ซึ่งการพัฒนาโครงการเป็นไปด้วยดีและเริ่มมีเสถียรภาพแล้ว จึงทรงโปรดฯให้คณะทำงานขยายพื้นที่โครงการออกไปเป็นสเกลแบบจริง

ด้านสาโรจน์ ทั่วจบ นักวิชาการผู้ดูแลโครงการเพาะกุ้ง เปิดเผยถึงรูปแบบของโครงการฯ ว่า แนวคิดคือ ใช้พื้นที่เดียวแต่สามารถใช้งานได้สองลักษณะ คือเป็นทั้งนากุ้งและนาข้าว ซึ่งเป็นการปฏิวัติความเชื่อเดิมว่านากุ้งทำให้น้ำเสีย ทำให้ดินเสีย และทำให้พื้นที่ที่เพาะกุ้งไม่สามารถนำไปทำเกษตรกรรมอย่างอื่นได้อีก

โดยเริ่มจากการปลูกข้าว ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือนจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ก็สูบน้ำออก แต่น้ำที่สูบออกไม่ได้นำไปทิ้ง หากแต่จะนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลน้ำเพื่อนำมาใช้ใหม่ จากนั้นสูบน้ำกร่อยลงในบ่อที่พักไว้ วัดค่าความเค็มของน้ำให้พอเหมาะ แล้วจัดการเลี้ยงกุ้ง จนเมื่อฤดูกาลเลี้ยงกุ้งสิ้นสุดลง ก็จับกุ้งด้วยการสูบน้ำออก นำน้ำที่มักจะถูกเรียกอย่างเข้าใจผิดว่า “น้ำเสีย” หรือ “น้ำทิ้ง” จากการเลี้ยงกุ้งนั้น ไปทำการรีไซเคิลด้วยการ นำปลาทับทิมลงไปเลี้ยง

“จริงๆ แล้วน้ำเลี้ยงกุ้งที่หลายคนชอบคิดกันว่าเป็นน้ำทิ้ง เป็นน้ำเสีย มีส่วนทำให้สภาพแวดล้อมเสียหายนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่มันเป็นน้ำที่อุดมไปด้วยอินทรียสาร มีทั้งอาหารที่เราให้กุ้ง มีมูลกุ้ง แต่ที่น้ำเหล่านี้เน่า ก็เพราะทุกวันนี้เราจับปู ปลา กุ้ง หอย แบบตั้งแต่ตัวเล็กๆ เราไม่มีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ไว้ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ น้ำมันเลยเน่าเสีย ทีนี้เราก็ทดลองนำปลาทับทิม ซึ่งมีลักษณะเด่นเป็น “ปลาสองน้ำ” คืออยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อยมาเลี้ยงในน้ำทิ้งกุ้งเพื่อให้กลไกกระบวนการธรรมชาติช่วยย่อยสลายอินทรียสารในน้ำ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีมาก จากนั้นเมื่อเก็บเกี่ยวกุ้งเสร็จก็พักบ่อไว้ระยะหนึ่ง แล้วก็ปลูกข้าวได้ไหม”

สาโรจน์อธิบายว่าการเลี้ยงกุ้งสลับกับปลูกข้าวเช่นนี้อาจจะเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ให้ชาวนาที่สนใจดำเนินตามแนวพระราชดำรินี้มีอาชีพเสริมหลังปลูกข้าวด้วยการเลี้ยงกุ้งที่ให้ผลผลิตราคาดี และสำหรับผู้เลี้ยงกุ้ง แม้ว่าข้าวจะได้ราคาน้อยกว่าและทำให้ช่วงเลี้ยงกุ้งน้อยลง 1 ช่วงในรอบปี แต่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีในกุ้งที่เป็นโรค หรือในเกษตรกรผู้ทำนาก็สามารถตัดวงจรโรคข้าวได้เช่นกัน กล่าวคือการเลี้ยงกุ้งสลับปลูกข้าวโดยมีการพักบ่ออย่างถูกต้องตามกรรมวิธีนั้น จะสามารถตัดวงจรโรคของทั้งข้าวและกุ้งได้ เพราะโรคเหล่านี้จะไม่ข้ามสายพันธุ์จากพืชมาสัตว์ หรือจากสัตว์มาพืช หากกุ้งเป็นโรค การพักบ่อมาปลูกข้าวก็จะเป็นการฆ่าเชื้อโรคในกุ้งไปโดยปริยาย เช่นเดียวกันหากข้าวเป็นโรค หรือมีศัตรูพืชโจมตีและวางไข่เอาไว้ การพักบ่อเพื่อเพาะกุ้งก็จะทำให้โรคข้าวและศัตรูพืชหมดไปเช่นกัน ซ้ำยังเป็นการผลัดวงจรวัฏจักรของการเลี้ยงกุ้ง มิให้ทำให้สภาพแวดล้อมเสียอีกด้วย

และนี่คืออีกหนึ่งในล้านพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และสายพระเนตรอันกว้างไกล ที่ทรงต้องการที่จะขจัดปัญหาให้แก่ปวงชนชาวเกษตรกร ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน....

แบบแปลนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ
บำบัดน้ำเสียด้วยการเติมออกซิเจน
ข้าวที่ปลูกได้ผลผลิตดีโดยปลูกร่วมกับนากุ้งได้


กำลังโหลดความคิดเห็น