xs
xsm
sm
md
lg

แข่งขันรถอัจฉริยะไทย/ชิต เหล่าวัฒนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้ พุธที่  23 พ.ค. 2550 นี้ จะมีการแข่งขันรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทย (Thailand Intelligent Vehicle Challenge)ที่สนามแข่ง “ซีคอนสแควร์”  ดังนั้นผมจึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านทุกท่านทั้งนักศึกษา และประชาชนที่สนใจไปร่วมชมการแข่งขันนี้เพื่อให้กำลังใจทีมเด็กไทยคนเก่งที่ทุ่มเทสติปัญญาและความพยายาม “สร้าง” รถแข่งอัจฉริยะไทยๆจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ถึง 20 ทีม

การแข่งขันนี้จัดโดยสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยร่วมกับภาควิชาเมคาโทรนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มี รศ. ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานการแข่งขัน ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
 

ผมเห็นว่าบริษัทนี้เป็นแบบอย่างที่ดีเพราะนอกจากเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ฮาร์ดดิสก์ชั้นยอดมาตรฐานโลกแล้วยังได้ให้การสนับสนุนการศึกษาของเด็กไทยในรูปแบบต่างๆมาโดยตลอด การแข่งขันรถอัจฉริยะในครั้งนี้เป็นการแข่งขันพัฒนารถไร้คนขับ ให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ได้ระยะทางไกลที่สุดเร็วที่สุด ผมขอขอบคุณในความกรุณาของ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี ที่ให้โอกาสน้องๆได้มีประสบการณ์สัมผ้สพัฒนาเทคโนโลยีเฉกเช่นเดียวกับเยาวชนของประเทศอื่นๆ ผู้เข้าแข่งขันสามารถใช้รถที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเองหรือรถที่มีขายตามท้องตลาดก็ได้มาพัฒนาดัดแปลงต่อให้เป็นรถอัจฉริยะ ไม่มีข้อจำกัดในประเภทของเครื่องยนต์หรือแหล่งกำเนิดพลังงาน ผู้เข้าแข่งขันสามารถใช้รถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในประเภทต่าง ๆ เช่น เบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล แก๊สธรรมชาติ แก๊สปิโตรเลียมเหลว อัลกอฮอล์ หรือสามารถใช้รถที่ใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานประเภทอื่น เช่น รถไฟฟ้า รถไฮบริดจ์ รถพลังงานเคมี หรือรถที่ใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหลายประเภทพร้อมกันเป็นต้น

รถจะต้องสามารถบรรจุผู้โดยสารได้อย่างต่ำ 1 คนและแล่นไปได้ด้วยกำลังของรถเอง รถจะต้องบรรจุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นในการขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองไว้บนรถ ไม่อนุญาติให้ติดตั้งอุปกรณ์ใด ๆ ที่ใช้ในการแข่งขันนอกตัวรถ เช่นที่บริเวณสนามแข่งขัน 

รถจะต้องสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองโดยปราศจากคนขับทั้งโดยตรง หรือแบบบังคับทางไกล รถจะต้องสามารถเคลื่อนที่ไปบนเส้นทางที่กำหนดให้โดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถแบ่งแยกถนนออกจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และบังคับรถให้วิ่งอยู่บนถนนได้ สามารถรู้ถึงสิ่งกีดขวางที่อยู่กับที่พร้อมทั้งหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ สามารถรู้ถึงสัญญานจราจรเช่น สัญญานไฟเขียว ไฟแดง หรือสัญญานบังคับทิศทาง พร้อมทั้งปฏิบัติตามกฏอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามไม่มีข้อจำกัดของประเภทและจำนวนของอุปกรณ์ควบคุมที่ใช้ ผู้เข้าแข่งขันสามารถใช้คอมพิวเตอร์ประเภทใดก็ได้ เช่น เดสก์ทอป แลปทอป พีซี104 พีดีเอ คอมพิวเตอร์อุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์ประเภทฝังตัว ไมโครโปรเซสเซอร์ ไมโครคอนโทรเลอร์ ดีเอสพี พีแอลซี หรืออุปกรณ์ควบคุมอื่น ๆ ได้โดยอิสระ

น้องๆหลายคนที่เล่นรถวิทยุบังคับเข้าใจว่าการควบคุมรถอัจฉริยะเหล่านี้สามารถทำแบบง่ายๆคือป้อนข้อมูลมุมบิดของล้อที่ตำแหน่งต่างๆเข้าคอมพิวเตอร์แล้วสั่งการทำงาน เช่นนี้คงไม่พอ รถอัจฉริยะต้องขับเคลื่อนได้ในทิศทางและสภาพถนนที่ไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน แผนที่มีเพียงแบบคร่าวๆ และบางครั้งก็ไม่สามารถวิ่งบนถนนไฮเวย์ปกติได้ต้องออกนอกเส้นทาง (Off Road) ดังนั้นจึงต้องประยุกต์ใช้ “ปัญญาประดิษฐ์”ในขั้นตอนของการวางแผนการเดินทาง การวิเคราะห์ข้อมูลจากเซนเซอร์ต่างๆ รถอัจฉริยะรุ่นแรกๆที่ มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอนพัฒนาขึ้นเมื่อสิบกกว่าปีก่อน เคยเข้าใจผิดหลบเงาของต้นไม้แล้วหลงวิ่งไปชนต้นไม้เสียพังยับเยิน ผมเพิ่งแลกเปลี่ยนกับผู้ติดตามเทคโนโลยีด้านการมองเห็น (Vision System) จึงทราบว่ามีเทคนิคใหม่ในการประมวลผลภาพโดยตรงจากฮาร์ดแวร์ ในลักษณะสมองกลฝังตัว (Embeded System) ทำให้การประมวลผลดังกล่าวเร็วขึ้นกว่าสิบเท่าตัวจากเทคโนโลยีของปีที่แล้ว ผมคาดหมายว่า กำหนดการแข่งขัน DARPA Grand Challenge Desert Race ปีนี้ ของ กระทรวงกลาโหมสหรัฐ จะมีหลายทีมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ ผมจะไปเกาะข้างสนามการแข่งขัน หากมีทีเด็ดคงจะมาเล่าให้ท่านผู้อ่านอีกทีครับ

ทีมชนะเลิศของการแข่งขันรถอัจฉริยะชิงแชมป์ประเทศไทยจะได้รับเงินรางวัลถึง 200,000 บาท และได้ไปสังเกตการณ์การแข่งขัน Urban Challenge ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปลายปี 2550 เพื่อไปเก็บข้อมูลเทคนิคที่สำคัญเป็นฐานความรู้ให้น้องๆคนไทยรุ่นต่อไปสามารถสร้างรถอัจฉริยะไปแข่งกับเขาได้ในอนาคต

ในการแข่งขันใดๆ ชัยชนะอาจจะไม่ใช่สิ่งที่มีความหมายสูงสุด ผมขออวยพรให้น้องๆทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขัน มี “สัมมาสติ” ในการเรียนรู้ให้มากที่สุด สามารถรู้เห็นข้อผิดพลาดของตนได้อย่างชัดเจนจนฝังรากลึกเข้าไปในปัญญาแห่งตน มีญาณวิเศษที่มาเตือนตนทันเวลาเพื่อมิให้ผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต

ผู้ชนะที่แท้จริงต้องสามารถเตือนตนของตนด้วยตนเอง

 




ท่านผู้อ่านสามารถส่งข้อคิดเห็น/เสนอแนะมาที่ผู้เขียนที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th
กำลังโหลดความคิดเห็น