xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากชาวแฟลตดินแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่มีข่าวออกมาว่าจะมีการทุบ แฟลตดินแดง 1-8 ริมถนนดินแดง 672 หน่วย และแฟลตดินแดง 21-32 ริมถนนวิภาวดีรังสิต 640 หน่วย รวม 1,312 หน่วย หรือ 9,000 ครอบครัวเพราะสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(เอไอที) ตรวจสอบแล้วพบอาคารมีรอยแตกร้าว เหล็กเสริมคานเป็นสนิมและผุ คานห้องน้ำ ห้องครัว ระเบียงด้านหลังในตัวเสาขึ้นสนิมรับน้ำหนักไม่ได้ โครงสร้างอ่อนแอ

แน่นอนว่า... ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงย่อมหนีไม่พ้นชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในแฟลตต้นเหตุแห่งนี้ ซึ่งแม้ขณะนี้จะยังไม่เป็นที่ยุติว่า “ทุบได้” หรือ “ไม่ได้” สิ่งที่น่าสนใจและน่าค้นหายิ่งก็คือ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชีวิตของชุมชนชาวแฟลตแห่งนี้ดำเนินไปอย่างไร พวกเขามาอยู่กันตั้งแต่เมื่อไหร่และรู้สึกอย่างไรกับข่าวการทุบที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้ง....

ลุงเสริฐ (นามสมมุติ) อดีตลูกจ้างกทม. วัย 66 ปี ชาวแฟลตดินแดง เล่าให้ฟังว่า แฟลต 1-8 สร้างเมื่อปีประมาณปี 2508 แต่มาอยู่เมื่อปี 2530 ตอนนั้นก็มีคนบอกว่าอย่ามาอยู่ที่นี่เลยเพราะเป็นดงโจร โจรเยอะ สมัยก่อนจ้างคนมาอยู่ยังไม่มากันเลย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชาวแฟลตก็อยู่กันอย่างไร้คนสนใจ โดยเฉพาะจากการเคหะแห่งชาติ

กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ไม่เคยมาดูแลเรื่องความสะอาด น้ำไม่ไหล ไฟเสีย ไปแจ้ง ก็บอกว่าไม่มีงบซ่อม แถมเมื่อไปร้องเรียนกับทางสำนักงานที่ดูแล ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลยแม้แต่น้อย

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องค่าเช่าแผงจากร้านค้าต่างๆ ที่ไม่แน่ใจว่า ดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่ ไม่รู้ว่ารายได้ที่เก็บไปเข้าการเคหะฯ หรือเข้ากระเป๋าของเจ้าหน้าที่ เพราะไม่มีใบเสร็จให้ หรือแม้จะมีให้เป็นของจริงหรือเปล่าก็ยังเป็นที่สงสัย อย่างพ่อค้ามาขายของวันเสาร์ใต้ถุนแฟลตก็จะมีเจ้าหน้าที่มาเดินเก็บวันละ 3 รอบ ร้านอาหารเก็บวันละ 100 บาท แผงพระเล็กๆ ใช้โต๊ะ 1 ตัวตั้งก็เก็บ 10 บาท

“เลือกตั้งทีไรก็มีข่าวจะทุบแฟลตทุกที ที่บอกอย่างนี้เพราะที่นี่มีคะแนนเสียงเยอะมากประมาณ 3-4 หมื่นเสียง เพราะเวลาผู้สมัครมาหาเสียงก็บอกจะช่วยให้สามารถอยู่แฟลตต่อได้อีก ก็ทำให้ผู้สมัครคนนั้นได้รับเลือกไป ลุงว่าที่อยากทุบตึกแล้วสร้างใหม่เพราะเขาต้องการเก็บเงินค่าหัวคิวการก่อสร้าง คิดง่ายๆ เปอร์เซ็นต์เดียวเป็นเงินเท่าไหร่ ถ้าพันล้านก็ได้ 100 ล้าน ถ้าซ่อมได้ค่าหัวคิวน้อย สร้างใหม่ได้เยอะเลย เห็นไหมเสายังดีอยู่ ดูด้วยตาเปล่าคานไม่เอียงและถ้าเอียงผนังต้องร้าว แฟลตนี้อยู่อีก 10 ปีก็ยังได้”

“ลุงว่า เรื่องของเรื่องคือตอนนี้บริเวณแฟลตดินแดงมันเจริญมาก ไม่ใช่ทุ่งนาเหมือนเมื่อก่อน คงต้องการสร้างแฟลตให้สูงกว่าเดิมเพื่อให้มีรายได้มากขึ้น โบนัสพนักงานก็จะมากขึ้นด้วย ”

ด้านเรืองยศ รักมั่นมิตรดี ประธานชุมชนแฟลตดินแดง 1-20  บอกว่า อยู่ที่นี่มา 20 กว่าปีแล้ว และชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการทุบทิ้งแน่นอน เพราะอยู่กันมานาน เมื่อไปที่อื่นก็ต้องเริ่มต้นใหม่ การคมนาคมไม่สะดวกเหมือนที่นี่ ไหนจะมีปัญหาให้ต้องคิดเรื่องลูกหลานที่เรียนหนังสือหรือทำงานอยู่ในเมือง ถ้าไปที่อื่นจะให้ทำอย่างไร ดังนั้น ถ้าซ่อมได้ก็อยากให้ซ่อม แต่ถ้าซ่อมไม่ไหวจริงๆ ต้องทำประชาพิจารณ์กับชาวแฟลตก่อน

“คราวที่แล้วใกล้เลือกตั้งก็มีข่าวทุบแฟลตดินแดง ผู้สมัครเขาก็บอกว่าถ้าเลือกเขาๆจะช่วยไม่ให้ทุบ ข่าวทุบครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 แล้ว จากที่คุยกับชาวชุมชนบางส่วนก็อยากให้ทุบแต่ก็ส่วนน้อยเพราะอยากได้เงินและก็ไม่มีปัญหาเรื่องบ้านเนื่องจากมีบ้านกันแล้ว ขณะที่ส่วนใหญ่รายได้น้อยก็อยากอยู่ต่อ ถ้าสร้างใหม่ราคาแพงก็คงมีปัญหาเพราะตอนนี้ค่าเช่าถูกอย่างที่อยู่ตอนนี้เช่าเป็นมือที่ 2 เสียค่าเช่าเดือนละ 450 บาท ”

เช่นเดียวกับลุงปลง ฤทัยธรรม วัย 70 ปี ประธานชุมชนแฟลตดินแดง21 -32 ฝั่งถนนมิตรไมตรี ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน บอกว่า ชาวแฟลตไม่เห็นด้วยเพราะคนที่นี่เขาไม่อยากย้าย ลูกเรียนที่นี่ ทำงานแถวนี้ สมัยก่อนที่นี่เป็นสลัมแต่การเคหะได้เขามาสร้างแฟลตประมาณปี 2509 ทำให้มีสภาพดีขึ้น จนมาถึงปี 2546-2547 ก็มีข่าวทุบ 3-4 ครั้ง ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวกับการเมืองทั้งนั้น นอกจากนี้พื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นทำเลทองเพราะอีกด้านก็ติดกับถนนวิภาวดีรังสิตด้วย

“ ปัญหาถ้าทุบแล้วจะให้ไปอยู่ที่ไหน ไกลหรือใกล้ ถ้าจะกลับมาอยู่ที่เก่าใหม่ราคายังราคาเท่าเดิมหรือเปล่า ส่วนที่จะจ่ายค่าชดเชย 2.5 แสนบาท ก็ไม่พอกับค่าใช้จ่ายหรอกเพระเดี๋ยวนี้บ้านแพงยิ่งใกล้ๆใจกลางเมืองยิ่งแพงแต่ถ้าถูกก็ไกล ตอนแรกลุงเข้าใจว่าการเมืองมาเกี่ยวข้องนะแต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วเพราะผู้ใหญ่ต้องการที่ตรงนี้สร้างบ้านพักให้เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานอยู่”

อย่างไรก็ตาม ประธานชุมชนแฟลตดินแดง 21-32 ยอมรับว่า ห้องพักบางห้องก็สภาพดี แต่บางห้องก็มีรอยร้าวชัดๆ อย่างห้องที่ตนอยู่ปูนล่อนจนเห็นคาน เมื่อวิศวกรมาตรวจก็บอกว่าต้องขัดสนิมออกก่อนแล้วค่อยเอาปูนยา แต่พอให้ช่างการเคหะฯมาทำ(เสียสตางค์จ้าง) ไม่ขัดสนิมให้แถมยังเอาปูนโปะลงไปเลย

“ผมเห็นว่าอย่างน้อยๆ แฟลตนี้สามารถอยู่ได้อีก 4-5 ปี  ถ้าซ่อมก็ขอเสนอให้ซ่อมเป็นห้องๆ แต่ถ้าจะทุบต้องชัดเจนว่าจะให้ย้ายไปอยู่ใกล้หรือไกล ยังไงบ้าง”

ส่วนลุงวิรัช วัย 60  ปี สมาชิกชาวแฟลตดินแดงอีกคนหนึ่ง สรุปตรงไปตรงมาว่า ใกล้เลือกตั้งทีก็จะทุบที เป็นแบบนี้มา 4-5 ครั้งแล้ว ที่สำคัญคือที่ผ่านมามีแต่ข่าวการทุบ แต่ไม่ได้มีการบอกชัดเจนว่าจะทำอะไรต่อในพื้นที่นี้ ถ้าจะก่อสร้างใหม่การเคหะฯ มีงบหรือไม่อย่างไร

“ผมอยู่ที่นี่ตั้งแต่ค่าเช่าเดือนละ 125 บาท ค่าน้ำ 5 บาท ค่าไฟ 50 บาท ตอนนี้ 450 บาทต่อเดือน แถมเสียค่าภาษีโรงเรือนอีก 100 บาท ถ้าทุบจริงๆ ลุงก็ไม่ได้เตรียมอะไรเลย ไม่รู้จะย้ายไปไหน อยู่กับลูก 2 คน แต่ลูกมันก็พึ่งลุง ตอนนี้ใช้เงินเก็บอย่างเดียวถ้าหมดก็อดตายเพราะลุงทำงานไม่ได้ ต้องฟอกไตทุกเดือน นี่ถ้าไม่มีประกันสังคมก็แย่เหมือนกัน อาศัยส่งทุกเดือนก็เลยประหยัดเรื่องค่ารักษาได้ แต่ลุงบอกเลยนะว่าห้องลุงยังเนี้ยบ มันอยู่ที่การบำรุงรักษาถ้าดูแลดีห้องก็จะมั่นคงแข็งแรง”

“พื้นดินกทม.ทรุดทุกปี พื้นปูนที่เทข้างนอกตัวแฟลตก็ทรุดตามดินกทม.แต่ตัวแฟลตก็ปกติดีพื้นไม่ได้แตกร้าว ช่างภาพห้องดีๆก็ไม่ถ่าย ถ่ายแต่ห้องไม่ดี อย่างห้องลุงเขาก็ไม่ยอมถ่าย ส่วนตัวลุงว่าอยู่ได้อีก 5 ปี ตอนนี้กำลังพนันกับเพื่อนอยู่ว่าจะทุบหรือไม่ทุบ” ลุงวิรัชบอกทิ้งท้ายอย่างขำๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น