xs
xsm
sm
md
lg

เรียนบนเกาะแบบ “มอแกน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มบ้านเรือนของชาวมอแกนให้จมหายไปพร้อมกับบ้านเรือนของพี่น้องชาวใต้นับพันราย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนั้น ซึ่งชาวมอแกนก็ได้รับการจัดหาพื้นที่ให้ใหม่สำหรับสร้างชุมชนของพวกเขาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันหมู่บ้านของชาวมอแกนตั้งอยู่บริเวณหาดอ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์ใต้ จังหวัดพังงา โดยมีประชากรประมาณ 300 คน แต่ด้วยวิถีชีวิตของชาวมอแกนที่หากินกับทะเล งมหอย ตกปลา จับปูและสัตว์ทะเลต่างๆ บางครอบครัวจึงเคลื่อนย้ายไป-มาระหว่างเขตแดนของไทยและประเทศพม่า ทำให้ประชากรของชาวมอแกนบนหมู่เกาะสุรินทร์ ขยับขึ้นและลงไม่คงที่อยู่ตลอดทุกฤดูกาล

ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นหน้ามรสุม ชาวมอแกนจะอพยพขึ้นมาสร้างบ้านเรือนตามเกาะหรือชายหาดที่มีอ่าวกำบังคลื่นลมเพื่อหลบลมพายุ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวมอแกนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะสุรินทร์ยังใช้เรือหาปลาของพวกเขาสร้างรายได้เพิ่มเติม ด้วยการใช้รับส่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดำน้ำชมความงามของปะการังในช่วงเวลาเปิดเกาะที่ปลอดจากฤดูมรสุมอีกด้วย

แม้ชาวมอแกนจะเป็นเพียงชนกลุ่มน้อย แต่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นว่าพวกเขาก็คือคนไทยเช่นกัน จึงมีพระราชดำรัสให้จัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกนที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ขึ้น โดยการจัดตั้งศูนย์การเรียนดังกล่าวพระองค์ทรงให้นำรูปแบบโครงการการจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในชนบทมาใช้ และมีพระประสงค์ให้หน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพังงา ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอคุระบุรี และอำเภอคุระบุรีช่วยกันดำเนินโครงการ

ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพังงา และศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอคุระบุรีซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการเรียนการสอนจึงได้ประกาศจัดตั้งศูนย์การเรียนชุมชนโดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์” เมื่อต้นปี 2548 เพื่อให้ความรู้แก่ชาวมอแกนตามพระราชดำรัสในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ตั้งแต่นั้นมา

บวรเทพ ถาวรนุวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอคุระบุรี เปิดเผยว่า หน้าที่หลักของศูนย์การเรียนฯ คือ การจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้เด็กชาวมอแกนสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ สอนให้เขารู้จักสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ตลอดจนสอนวิชาชีพให้ชาวมอแกนด้วย

“แต่การให้การศึกษาแก่ชาวมอแกน ก็มีคำถามจากหลายฝ่ายว่า เรากำลังจะทำลายวิถีชีวิตของเขาหรือไม่ ขณะที่หน่วยงานทางด้านการศึกษาต้องการให้เขาพัฒนา แต่หน่วยงานด้านอนุรักษ์ต้องการให้คงวิถีชีวิตเดิมของชาวมอแกนไว้ ดังนั้น การให้การศึกษาของเราจึงเป็นการจัดการศึกษาแบบพัฒนาเพื่ออนุรักษ์ นั่นคือให้ความรู้เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิต สุขอนามัยดีขึ้น สามารถอ่านออกเขียนได้ แต่ต้องไม่ไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดิมของเขา”

ปัจจุบันศูนย์การเรียนชุมชนชาวมอแกนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เปิดสอนเด็กมอแกนระดับก่อนประถมศึกษา(อายุ 3-5 ปี) และระดับประถมศึกษา(อายุ 6 ปีขึ้นไป) โดยมีครูอาสาของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนประจำที่ศูนย์การเรียนแห่งนี้ 2 คน

“ครูอาสาทั้ง 2 คนทางสำนักพระราชวังเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องเงินเดือนให้ ซึ่งครูที่มาอยู่บนเกาะกับชาวมอแกนนั้น ถือว่าเสียสละมาก เพราะในช่วงเวลาปิดเกาะหน้ามรสุม 6 เดือน เขาไม่สามารถจะออกไปไหนได้เลย ติดต่อทางบ้านก็แทบจะทำไม่ได้ และต้องทำหน้าที่มากกว่าครู ปวดหัวตัวร้อนทะเลาะกัน ชาวมอแกนจะเรียกหาครูตลอด”ผอ.บวรเทพกล่าว

ชนะ แก้วกุดัง ครูอาสา กศน.ซึ่งแม้จะสำเร็จการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และไม่ได้เรียนครูมาแม้แต่น้อย แต่เมื่อฟังเขาพูดถึงงานที่ตัวเองเลือกทำเชื่อว่าคงไม่มีใครคลางแคลงใจกับการทำหน้าที่และจิตวิญญาณความเป็น “ครู”อย่างแน่นอน

“หลักสูตรที่ใช้สอนเด็กๆ คือหลักสูตรสำหรับชนกลุ่มน้อย ซึ่งผมก็เอามาบูรณาการกับวิชาอื่นๆ ปรับไปตามสภาพการเรียนการสอน ซึ่งในช่วงเปิดเกาะนักท่องเที่ยวจะเข้ามาที่หมู่บ้านมอแกนจำนวนมาก ทำให้การเรียนการสอนไม่เต็มที่ ก็ต้องปรับวิธีเรียน แทนที่จะนั่งเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวก็ออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้ง เสริมเรื่องนันทนาการเข้าไป ให้เด็กได้ร้องเพลง แสดงออก วาดรูป เติมเรื่องบำเพ็ญประโยชน์พาเขาเดินเก็บขยะรอบเกาะ สอนเขาให้รู้ว่าขยะมาจากไหน เราต้องดูแลรักษาเกาะอย่างไร แม้ว่าขยะที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เกิดจากพวกเขา แต่ทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษา ซึ่งเราต้องสอดแทรกเรื่องเหล่านี้ด้วย”

ชนะ บอกอีกว่า สิ่งที่เขาดีใจมากสำหรับการทำหน้าที่ครูคือ เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ พูดคุยด้วยภาษาไทยรู้เรื่อง และโดยเฉพาะการดูแลเรื่องสุขอนามัย เด็กที่มาโรงเรียนจะค่อยๆ ปรับพฤติกรรม ก่อนกินข้าวต้องล้างมือ ตอนเช้าอาบน้ำมาโรงเรียน เวลาปวดหนักเบาเด็กๆ วิ่งมาถ่ายที่ห้องสุขาของโรงเรียน เพราะชาวมอแกนจะขับถ่ายโดยไม่มีห้องสุขา ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะซึมซับไปสู่ครอบครัวของเด็กด้วย ทำให้ปัญหาเรื่องสุขภาพลดน้อยลงไป

“ผมย้อนกลับไปนึกถึงความรู้สึกของตัวเองเมื่อเป็นเด็ก เวลาที่เรานั่งเรียนกับคุณครู เวลาครูใช้ชอล์กเขียนกระดานดำเรารู้สึกอะไร เด็กๆ คงรู้สึกไม่ต่างกับผม ผมก็เอาความรู้สึกของตัวเองมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้พวกเขา เพราะผมไม่ได้จบวิชาชีพครูมาจากสถาบันไหน”

ขณะที่ ธีรยุทธ์ ตาหลี ครูอาสา กศน.ประจำชั้นระดับก่อนประถมศึกษา ซึ่งต้องรับหน้าที่สอนเด็กเล็ก ที่สำคัญเขาทำหน้าที่คุณครูอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ว่าจุดเริ่มต้นของการมาเป็นครูอาสาจะเริ่มจากการอยากลอง แต่เขาก็ทำหน้าที่นี้มาเกือบ 2 ปีแล้ว

แต่ปัญหาสำคัญที่ครูทั้ง 2 คน ประสบขณะนี้ คือ ผู้ปกครองของเด็กชาวมอแกนกำลังตั้งคำถามว่า การส่งลูกมาโรงเรียนเกิดประโยชน์อะไรกับพวกเขา ซึ่งสิ่งที่ ผอ.บวรเทพพยายามดำเนินการอยู่ในขณะนี้คือ การขอวุฒิการศึกษาให้แก่เด็กมอแกนที่เรียนจบ เพื่อให้เด็กสามารถนำไปใช้ศึกษาต่อในอนาคต






กำลังโหลดความคิดเห็น