xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยไม่โง่! เด็กสาธิตไอคิวกระฉูดไม่ตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลสำรวจชี้เด็กไทยไม่โง่ “เอแบค” ปรับวิธีวิจัยใหม่ พบเด็กอนุบาล-ประถมไอคิวเกินร้อย เฉลี่ยทั่วประเทศไอคิว 103 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสากล สงสัยยิ่งโตไอคิวยิ่งลด เกิดช่องว่างระดับไอคิวในระดับอนุบาลกับประถมฯ ลดกว่า 10 แต้ม ขณะที่เด็กสาธิตไอคิวสูงไม่มีตก แนะพัฒนาเด็กต่อเนื่อง สิ่งแวดล้อม ครอบครัว ระบบการศึกษา เป็นปัจจัยสำคัญ

วันนี้ (21 พฤษภาคม) นพ.วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกรมสุขภาพจิตและคณะผู้วิจัย แถลงผลการสำรวจระดับสติปัญญา โดยนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจเด็กอายุ 2-15 ปี ซึ่งศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาล กว่า 3,000 คน และในระดับประถมศึกษาอีก 4,000 คน ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 7,391 คน พบว่า เด็กไทยมีระดับสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ย 103.09 ซึ่งกลุ่มตัวอย่าง 45.3% มีไอคิว 90-109 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง รองลงมา 18.3% อยู่ในระดับ 110-119 ถือว่า มีไอคิวฉลาด ส่วนไอคิวมากกว่า 120 ที่เป็นอัจฉริยะมี 16.2% ส่วนระดับ 80-89 ที่เป็นปัญญาทึบ มีประมาณ 12% โดยเด็กใน กทม.มีไอคิวเฉลี่ยสูงสุด 108.47 รองลงมา คือ ภาคอีสาน 104.05 ภาคเหนือ 103.71 ภาคกลาง 101.84 และภาคใต้ 98.66 ทั้งนี้ พบว่าเด็กหญิงมีไอคิวเฉลี่ย 103.99 เด็กชายมี 102.3 สิ่งที่น่าสนใจคือ เด็กโตขึ้นแล้วมีระดับไอคิวลดลง โดยระดับอนุบาลเด็กหญิงและชายมีไอคิว 112 และ 109.41 แต่พอระดับประถมเด็กหญิงและเด็กชายมีไอคิว 97.43 และ 97.21 ซึ่งเป็นช่องว่างระดับไอคิวที่ลดลงกว่า 10 แต้ม เว้น กทม.ที่ลดลงเพียง 7 แต้มเท่านั้น จึงถือว่าเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญที่น่าสนใจ

นายนพดล กล่าวว่า นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่าเด็กอนุบาลมีไอคิวเฉลี่ย 110.67 ส่วนเด็กประถมมีไอคิว 97.31 ทั้งนี้ เมื่อแยกสังกัดของสถานศึกษาพบว่า เด็กที่เรียนในโรงเรียนสาธิตจะมีไอคิวอยู่ระดับฉลาดไม่ลดลงในช่วงประถมตามโรงเรียนสังกัดอื่นๆ โดยระดับอนุบาลมีไอคิว 115.52 พออยู่ประถมมีไอคิว 119.48 แต่ถ้าเป็นโรงเรียนสังกัดอื่น รวมถึงโรงเรียนเอกชนด้วย เด็กที่เรียนระดับอนุบาลมีไอคิวอยู่ในระดับฉลาด คือ 113.65 แต่เมื่ออยู่ระดับประถมศึกษากลับมีไอคิวลดลงเหลือ 101.12 ทั้งนี้หากเทียบอายุ 3-5 ปีมีไอคิว 113.39 แต่เมื่ออายุ 6-11 ปีมีไอคิว 98.84

“อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถนำข้อมูลนี้มาสรุปว่าเด็กยิ่งเรียนแล้วยิ่งโง่ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัย ดังนั้นจึงไม่ควรนำข้อมูลนี้ไปเปรียบเทียบกับการสำรวจก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะโครงการศึกษานี้เป็นโครงการวิจัยแรกที่มีวิธีระเบียบวิจัยที่แตกต่างกันจากโครงการอื่น รวมถึงมีนักจิตวิทยาในการเก็บข้อมูลด้วยตนเอง หากจะนำไปเปรียบเทียบจึงต้องรอเปรียบเทียบในการสำรวจครั้งหน้า” นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องสังกัดของสถานศึกษาและระบบการศึกษาเป็นปัจจัยทำให้เด็กกลุ่มตัวอย่างมีไอคิวลดลงหรือไม่ เป็นเพียงสมมติฐานที่ได้หารือกับทีมวิจัย ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไปในอนาคต โดยต้องศึกษาว่ากลุ่มเด็กในโรงเรียนสาธิต มีฐานะทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ระบบแบบแผนการศึกษาเป็นอย่างไร เนื่องจากการศึกษาในโรงเรียนสาธิตอาจมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องและสอดคล้องกับการพัฒนาการของเด็กมากกว่าโรงเรียนในสังกัดอื่นๆ

นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า นอกจากจะมีการสำรวจระดับไอคิวในเด็กแล้ว จะมีการสำรวจอีคิว หรือความฉลาดทางอารมณ์ ของเด็กในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งหากเด็กมีความฉลาดอย่างเดียวแต่ความฉลาดด้านอารมณ์ไม่ดี อนาคตอาจจะทำให้บ้านเมืองย่ำแย่ได้ โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างร่วมรวมข้อมูล โดยจะมีการสรุปผลการสำรวจในไม่ช้านี้ รวมทั้งได้มีการสำรวจการได้รับไอโอดีนที่ดำเนินการร่วมกับกรมอนามัย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อระดับสติปัญญาของเด็กพร้อมกันด้วย

“ไอคิวเด็กไทยที่สำรวจได้ เฉลี่ย 103.09 เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ที่เด็กมีไอคิวเฉลี่ย 109-110 ถือว่าใกล้เคียงกัน และไทยอยู่ระดับเดียวกับหลายๆ ประเทศ อย่างไต้หวันที่อยู่ในระดับเดียวกับเรา เด็กไทยจึงไม่ได้เป็นเด็กปัญญาทึบเหมือนที่เคยมีผลสำรวจมา และนอกจากต้นทุนไอคิวที่มาพร้อมกับเด็กเอง ในการดูแลระหว่างแม่ตั้งครรภ์ พันธุกรรม เมื่อเด็กเติบโตขึ้น จำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนา สนับสนุน ในเรื่องสิ่งแวดล้อม อาหาร และระบบการศึกษาด้วย ซึ่งต้นทุนทางสติปัญญาของเด็กดีอยู่แล้วจึงอยู่ที่ผู้ใหญ่จะช่วยพัฒนา ส่งเสริมและกระตุ้นเด็กอย่างไร” นพ.ม.ล.สมชายกล่าว

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวต่อว่า สำหรับการสำรวจครั้งนี้ ได้เตรียมการทำงานมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งหลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลไอคิวเด็กไทย อยู่ที่ประมาณ 88-91 ซึ่งถือว่า อยู่ในระดับสติปัญญาทึบ จึงได้มีการศึกษาใหม่อีกครั้ง โดยมีการปรับแก้ไขการศึกษาวิจัย 3 จุด ใหญ่ๆ คือ 1.เครื่องมือการวิจัยให้สามารถวัดได้ทั้งวิธีการวัดโดยใช้การตอบคำถามโดยตรง และการแสดงออกโดยการเขียนวาดรูป ต่อรูป ฯลฯ พร้อมกับมีการพัฒนาเครื่องมือ แบบประเมินความสามารถทางเชาว์ปัญญาเด็กไทยอายุ 2-15 ปี โดยดัดแปลงมาจากเครื่องมือจากต่างประเทศ คือ WISC Standford Binet โดยมีความน่าเชื่อถือได้ 95% 2.จำนวนเด็กตัวอย่างที่สำรวจ โดยการสุ่มเด็กในประเทศไทยระดับอนุบาล-ประถมศึกษา ตั้งแต่อำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา-จ.เชียงใหม่และกทม.รวม 15 จังหวัด จำนวน 7,391 คน ส่วนที่ 3 ผู้เก็บข้อมูลทั้งหมด เป็นนักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์ในการทดสอบไอคิวเด็ก รวม 130 คน ช่วยให้ผลการสำรวจครั้งนี้มีความน่าเชื่อถืออย่างมาก

นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้การจัดวัดระดับไอคิวในเกณฑ์มาตรฐานสากลอยู่ที่ระดับ 90-109ส่วนระดับ 80-99จัดอยู่ในระดับปัญญาทึบ ระดับ 70-74 เรียกว่าปัญญาอ่อนคาบเส้น ต่ำกว่า 70 ลงไป เรียกปัญญาอ่อน โดยที่ระดับสติปัญญา ตั้งแต่ 110 ขึ้นไป จัดเป็นกลุ่ม ฉลาด ซึ่งจากการสำรวจพบว่า มีมากกว่า 30% ในส่วนของเด็กที่มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานจะมีการประสานกับกระทรวงศึกษาธิการและชุมชน ในการกระตุ้นพัฒนาการและเพิ่มขีดความสามารถต่อไป

ด้านนพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวเสริมว่า หากเด็กได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ มีการกระตุ้นพัฒนาการไปเรื่อยๆ ทั้งระบบการศึกษา ครอบครัว ให้โอกาสเด็กมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักกล้าคิดกล้าทำในขอบเขต ไมใช่เรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่เด็กจะต้องรู้จักแก้ปัญหา ผ่านอุปสรรคความยากลำบาก พร้อมกับการพัฒนาอารมณ์ ให้เด็กได้มีโอกาสรู้จักความทุกข์ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นไม่มองแต่สุขทุกข์ของตัวเอง ที่สำคัญคือจะต้องพัฒนาให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น