เอ่ยถึงลูกทุ่ง - ลูกกรุง เด็กสมัยใหม่ส่วนใหญ่ก็แทบจะร้องยี้! ด้วยเพราะค่านิยมทางสังคมที่ฝังหัวมาตลอดว่าเป็นของที่พ้นสมัยและเฉิ่มเชย ทำให้เพลงลูกทุ่ง – ลูกกรุง ทั้งหลายกลายเป็นดนตรีเฉพาะกลุ่มและมีผู้สนับสนุนที่โดยมากแล้วจะเป็นวัยผู้ใหญ่ และมีเด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย ทั้งที่ความตั้งใจในการรังสรรค์ผลงานลูกทุ่ง – ลูกกรุงเหล่านั้น มีมากไม่แพ้งานศิลปะแขนงอื่นๆ เลย
อย่างไรก็ตาม ขณะมีเรื่องที่น่าดีใจเกิดขึ้นคือ ล่าสุด ม.รามคำแหงได้ตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ขึ้นมาใหม่ พร้อมทั้งเปิดการเรียนการสอนในสาขาดนตรีไทยสมัยนิยมขึ้น โดยแบ่งออกเป็นวิชาเอกดนตรีลูกกรุง และวิชาเอกดนตรีลูกทุ่ง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ล่าสุดของการศึกษาไทยเลยก็ว่าได้ เนื่องเพราะแม้จะมีสถาบันการศึกษาอื่นเปิดสอนด้านดนตรีลูกทุ่งบ้าง แต่ก็ไม่เคยแยกออกเป็นวิชาเอกเช่นนี้ ส่วนดนตรีลูกกรุงนั้นแทบไม่เคยมีปรากฏเลย
-1-
ระดมขุนเพลงถ่ายทอดวิชา
ดร.สมศักดิ์ เกตุแก่นจันทร์ รักษาราชการรองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.รามคำแหง อาจารย์หนุ่มไฟแรงผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการดนตรีไทยมากกว่า 20 ปี เปิดเผยถึงที่มาของการเปิดคณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาดนตรีลูกทุ่งและลูกกรุงว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา รามคำแหงได้ดำเนินนโยบายในการจัดการเรียนการสอนเพื่อสืบสานเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติมาโดยตลอด อาทิ การจัดตั้ง “โขนรามคำแหง” ที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง การเปิดการเรียนการสอนด้านดนตรีลูกทุ่งและลูกกรุงก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ทางคณะฯ ได้เปิดสอน 3 สาขา 4 วิชาเอก คือสาขานาฏกรรมไทย , สาขาดนตรีไทย,และสาขาดนตรีไทยสมัยนิยม ซึ่งแบ่งเป็น 2 วิชาเอก คือดนตรีลูกทุ่ง และดนตรีลูกกรุง โดยในสาขาสุดท้ายนั้นและแบ่งกลุ่มการศึกษาออกเป็นสามกลุ่มเพื่อตอบสนองความถนัดและความสนใจที่ผู้เรียนสามารถเลือกได้คือกลุ่มการขับร้อง,กลุ่มการดนตรีและกลุ่มการประพันธ์
“ผมเชื่อว่า คณะฯและหลักสูตรทั้งหมดของเรา จะสามารถตอบโจทย์ของคนหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มนักศึกษาผู้ที่พลาดในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐในด้านดนตรี และกลุ่มคนทำงานเพลงลูกทุ่งและลูกกรุงที่อยากเพิ่มพูนความรู้และศักยภาพ โดยเบื้องต้นการเปิดคณะฯเป็นครั้งแรกคาดว่าจะมีนักศึกษาให้ความสนใจมาลงเรียนประมาณ 100 คน”ดร.สมศักดิ์กล่าวถึงเป้าหมาย
แต่ที่พิเศษมากไปกว่านั้น และที่ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ทางการศึกษาก็คือทางสถาบันได้รวบรวมเอาบุคลากรที่ถือเป็น “สุดยอด” ทางด้านดนตรีลูกทุ่งและลูกกรุงใต้ฟ้าเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นสุเทพ วงศ์กำแหง สลา คุณวุฒิ โฉมฉาย อรุณฉาน ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี ธีระ ภู่มณี บุญช่วย โสวัตร ฯลฯ มาเป็นอาจารย์พิเศษที่พร้อมจะนำประสบการณ์ด้านดนตรีที่สั่งสมมาตลอดชีวิต มาถ่ายทอดให้แก่ศิษย์เพื่อสร้าง “คนดนตรี” รุ่นต่อไปด้วย
-2-
หมดยุคครูพักลักจำ
นักแต่งเพลงชื่อดัง “สลา คุณวุฒิ” ให้ความเห็นว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับดนตรีลูกทุ่ง แต่การศึกษาในศาสตร์แขนงนี้ในยุคก่อนนั้นค่อนข้างจะยาก เนื่องจากต้องอาศัยวิธีการเรียนแบบ “ครูพักลักจำ” เป็นส่วนใหญ่ และไม่มีสถาบันการศึกษาสอนแบบมีระเบียบแบบแผน ทำให้การรู้และเข้าถึงศาสตร์เป็นไปแบบเฉพาะตน และมีผลต่อการถ่ายทอดความรู้ เพราะไม่ได้มีการเรียนอย่างเป็นระบบ และแน่นอนว่าไม่มีการสอนถึงการผ่องถ่ายความรู้แก่คนรุ่นต่อไป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคของการต่อยอดภูมิปัญญาแก่คนรุ่นใหม่
ดังนั้น การที่มีสถาบันการศึกษาในยุคนี้ให้ความสำคัญและเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบระเบียบเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งและเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้วงการเพลงทั้งลูกทุ่งและลูกกรุงจะมีบุคลากรรุ่นใหม่ไฟแรงออกมาเป็นกำลังสำคัญเพื่อพัฒนาวงการต่อไป
เช่นเดียวกับ “นิตยา อรุณวงศ์” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โฉมฉาย อรุณฉาน” นักร้องเสียงทองคุณภาพคับแก้วผู้ได้รับรางวัลผู้ขับร้องชัดเจนถูกหลักภาษาไทยหลายรางวัล ที่บอกว่าเมื่อก่อนนี้การศึกษาเรื่องเพลงลูกทุ่งหรือเพลงลูกกรุงนั้นยากลำบากมาก จะต้องไปฝากเนื้อฝากตัวกับครูเพลง ต้องขยันฝึกซ้อม ถ้าใครได้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ก็คือไม่ผ่าน ต้องใช้ความพยายามส่วนตัวสูง ต้องมีวินัยต่อตัวเองมาก
ดังนั้น เมื่อได้รับการติดต่อให้มาเป็นอาจารย์พิเศษและทราบว่ามีการเปิดสอนวิชาดังกล่าว ก็รู้สึกดีใจมากๆ ที่วันนี้จะมีการเปิดช่องการเข้าถึงการศึกษาด้านนี้ เพราะเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง ที่เด็กรุ่นใหม่เมินหน้าหนีนั้น เป็นแหล่งความรู้ ทั้งทางด้านฉันทลักษณ์ที่สละสลวย ทั้งภาษาที่งดงาม ทั้งความรู้และจริยธรรมที่สอดแทรกเข้ามาในเนื้อเพลง”
ด้าน ธีระ ภู่มณี เดี่ยวมือหนึ่งดนตรีเครื่องสายแห่งกรมศิลปากร บอกว่า การเปิดสอนในแขนงวิชาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อเด็กและเยาวชน ที่แตกต่างจากในยุคก่อนที่หากอยากได้วิชา ก็จำเป็นจะต้องไปฝากตัวรับใช้อาจารย์เพื่อให้ได้มาซึ่งวิชา แต่มาในวันนี้อาจารย์ทุกคนยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ความสามารถและประสบการณ์ทั้งชีวิตให้เพื่อเป็นการส่งต่อความรู้ให้แก่เด็กรุ่นใหม่ ซึ่งเด็กเหล่านี้นอกจากจะมาเรียนในฐานะนักศึกษาผู้สนใจแล้ว ยังเป็นการเรียนในฐานะ “ผู้สืบสานเอกราชด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อชาติ” อีกด้วย
ส่วน “สุดยอดครูปี่พาทย์” อย่าง อ.บุญช่วย โสวัตร ศิลปินผู้เชี่ยวชาญทั้งทางแนวทฤษฎีและการปฏิบัติ ซึ่งมีความชำนาญเป็นพิเศษเรื่องเครื่องเป่า เครื่องตี และการขับร้อง และได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในด้านการดนตรีไทยอีกด้วย ให้ความเห็นว่าการผลิตบุคลากรเพื่อสืบสานองค์ความรู้และสืบทอดเจตนารมณ์จากรุ่นสู่รุ่นนั้นเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง ดังที่มีคำกล่าวเอาไว้ว่า “ชาติใดมีปราชญ์รับใช้สังคมมาก ชาตินั้นเจริญและมีความสุขอย่างแน่นอน” ดังนั้น ถือเป็นนิมิตหมายทางศิลปวัฒนธรรมที่ดีที่จะมีสถาบันการศึกษา บรรจุศาสตร์ด้านการดนตรีอันเป็นรากเหง้าของชาติเรา เป็นการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างเป็นระบบระเบียบ
-3-
วิพากษ์ดนตรียุคปัจจุบัน
สำหรับ “ขุนพลเพลงขลุ่ยแนวบูรณาการ” อย่าง อ.ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี เปิดเผยว่า ตนเองได้พูดมาตลอดและพูดมานานแล้วว่า การศึกษาในนานาอารยประเทศที่ได้รับการยอมรับทางฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ วิศวกรรม หรือวิชาการด้านต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีวิชาบังคับให้เรียนศิลปะแขนงต่างๆ ควบคู่ไปด้วยทั้งนั้น มิให้เรียนแต่วิชาการโดดๆ แต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะเป็นที่รู้กันเป็นสากลว่าความงดงามของศิลปะไม่ว่าจะแขนงใดๆ นั้น จะเป็นสิ่งที่จรรโลงให้มนุษย์มีหัวใจเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
“ลองเข้าไปใกล้ๆ พวกคนเก่งแต่ไม่มีศิลปะในหัวใจดู จะรู้ว่าคนพวกนี้มีรังสีอำมหิต คิดเป็นบวกเป็นลบ เป็นได้เป็นเสีย เพราะคนพวกนี้ขาดหัวใจ ผมเห็นด้วยในความคิดที่ว่าเด็กสมัยนี้หยาบกร้าวและกระด้างขึ้น เพราะเด็กสมัยนี้เกิดมาก็เล่นเกม เล่นคอมพิวเตอร์ ดูทีวี คือชีวิตอยู่แต่กับเครื่องจักร หัวใจความเป็นคนจึงลดลง และขาดแง่งามของชีวิต ผมคิดว่าไม่ว่าศิลปะชนิดไหนก็ตาม ขอให้เด็กได้มีโอกาสซึมซับเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นก็ได้ ไม่ต้องเล่นเป็น วาดเป็น ร้องเป็น แต่ขอให้ฟังเป็น ดูเป็น ได้เห็น เท่านี้ก็พอ ผมเชื่อว่าศิลปะคือชีวิต และการเรียนศิลปะหรือดนตรีในช่วงหนึ่งของชีวิต เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องมีเพื่อจรรโลงจิตใจ”
อ.ธนิศร์กล่าวอีกว่า ในความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่เพลงสมัยใหม่เป็นเรื่องผิดบาปหรือไม่ดีแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเพลงวัยรุ่นนั้นจำเป็นจะต้องมีอยู่ และมีอยู่มากด้วย เพราะประชากรวัยรุ่นไทยนั้นมีจำนวนไม่น้อย แต่สิ่งที่หลายคนอาจลืมไปคือเพลงเพื่อเด็กและเยาวชน เพราะหากเด็กอายุ 7 – 8 ขวบในวันนี้ ร้องเพลงวัยรุ่นของเด็กโตที่อายุ 17 – 18 แล้วเมื่อโตขึ้นถึงวัย 17 – 18 เด็กเหล่านี้จะทำอะไร ในเมื่อเขาเหล่านั้นก็เคยร้องเพลงของช่วงอายุ 17- 18 มาแล้ว
“ผมเชื่อว่าการสร้างเพลงและดนตรีที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย จะมีส่วนช่วยเด็กให้มีกิจกรรมทำและไม่เดินหลงทางจนไปทำอะไรผิดที่ผิดทาง และสำหรับการเรียนการสอนของคณะฯ ผมเชื่อว่าอาจารย์พิเศษทุกท่านที่รับหน้าที่ที่จะมาสอนให้นั้น ทุกคนไม่ได้หวังอะไรเลย นอกจากต้องการจะช่วยสังคมและสืบสานเอกราชด้านวัฒนธรรมทางดนตรีของเรา”
ด้าน“สุเทพ วงศ์กำแหง” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปการแสดง (เพลงไทย-ขับร้อง) พ.ศ.2533 ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ศิลปะด้านการขับร้องด้อยค่าลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงสมัยใหม่ที่นักร้องวัยรุ่นนิยม “พูดไม่ชัด” เพราะเป็นค่านิยมผิดๆ ที่เข้าใจว่าเป็นความเท่ห์ ความทันสมัย แต่หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการทำลายเอกราชด้านภาษาและวัฒนธรรมของเราลงไปทีละน้อย
ส่วน โฉมฉาย อรุณฉาย สรุปความเห็นทิ้งท้ายอย่างตรงไปตรงมาว่า....
“ทุกวันนี้เด็กและเยาวชนไทยกำลังตกเป็นเมืองขึ้นทางด้านศิลปวัฒนธรรมให้แก่หลายประเทศในเอเชีย ที่กำลังขายวัฒนธรรมผ่านสื่อและบทเพลง เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือที่กำลังฮอตที่สุดอย่างเกาหลี แต่สิ่งที่เด็กหลายคนยังไม่รู้ และมองว่าการร้องเพลงไม่ชัดเป็นของโก้เก๋นั้น ที่ประเทศเกาหลีในขณะนี้กำลังรณรงค์ให้นักร้องวัยรุ่นชื่อดัง ใช้ภาษาเกาหลีอย่างถูกต้องและชัดเจนในการร้องเพลง และไม่อนุญาตให้นักร้องที่ร้องไม่ชัดออกอากาศผ่านสื่อ”
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเรียนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ โทร. 0 -2310-8885 หรือที่งานประชาสัมพันธ์ 0 -2310-8045 – 7 และเว็บไซต์ www.ru.ac.th , www.faa.ru.ac.th