เผย คนไทยหูหนวกกว่า 340,000 คน รพ.รามาธิบดี เดินหน้าผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมให้คนหูหนวกได้ยินอีกครั้ง หลังผ่าตัดสำเร็จไปแล้วทั้งสิ้น 52 ราย ชี้ เหตุของการหูหนวกในผู้ใหญ่ คือ โรคเบาหวาน โรคหูอักเสบเรื้อรัง ส่วนในเด็กมีที่มาจากการตั้งครรภ์ช่วง 2-3 เดือนแรก แนะมารดารักษาสุขภาพ ห้ามกินยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวดเด็ดขาด
ผศ.พญ.ชนิดา กาญจนลาภ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยกว่า 340,000 คน ประสบปัญหาการได้ยิน หรือคิดเป็น 5 คน ในประชากรไทย 1,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากประสาทหูเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น ส่วนมากพบในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป มากที่สุดในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งเด็กทารกยังเป็นกลุ่มเสี่ยงประสาทหูใช้การไม่ได้ตั้งแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา โรงพยาบาลรามาธิบดีประสบความสำเร็จในการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมทั้งแก่เด็กและผู้ใหญ่ที่หูหนวกไม่สามารถฟังได้ ผู้ป่วยคนแรกเป็นวิศวกรที่ทำงานในที่เสียงดังมากๆ ก็สามารถกลับไปทำงานได้ ต่อมา ในปี 2542 เป็นต้นมา ได้เริ่มรักษาในเด็ก รวมมีผู้รับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมแล้วทั้งสิ้น 52 คน
ผศ.พญ.ชนิดา กล่าวว่า ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะยังไม่สามารถสื่อสารได้ทันที แต่จะต้องให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายฝึกฝนการพูดและการฟังอีกประมาณ 18 เดือน พ่อแม่คนรอบข้างก็เป็นส่วนสำคัญ ทั้งนี้ การผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมส่งผลดีให้บุคคลนั้นสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ และยังมีผลต่ออารมณ์หงุดหงิดลดน้อยลง สำหรับค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดกับโรงพยาบาลรามาธิบดี จะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท แต่ค่าตัวเครื่องประสาทหูเทียมที่นำไปฝังนั้น มีราคาถึง 850,000 บาท ซึ่งคาดว่าในปีนี้ กรมบัญชีกลางจะให้ข้าราชการเบิกค่ารักษาดังกล่าวได้ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นการรักษาที่มีความจำเป็น
“ผู้ใหญ่ที่หูหนวกส่วนมากมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคเบาหวาน โรคหูอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกในสมอง โรคหัดเยอรมัน รวมทั้งการอยู่ในสถานที่เสียงดังมากๆ หรือฟังเพลงดังๆ ก็จะทำให้การรับเสียงเสื่อมได้เร็ว ส่วนเด็กเล็กจะเป็นความพิการแต่กำเนิด ตั้งแต่ช่วง 2-3 เดือนแรกที่ตั้งครรภ์ มารดาต้องระวังรักษาสุขภาพ ไม่ปล่อยให้ป่วยเป็นไข้ หรือหวัด การรับประทานยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวด การประสบอุบัติเหตุที่กระทบเด็กในครรภ์ จะส่งผลให้เด็กในครรภ์มีปัญหาทางการได้ยิน นอกจากนั้น เป็นเรื่องกรรมพันธุ์ คนหูหนวกแต่งงานกัน ค่อนข้างมีโอกาสสูงมากที่ลูกจะมีปัญหาการได้ยินด้วย” ผศ.พญ.ชนิดา กล่าว
รศ.กฤษณา เลิศสุขประเสริฐ นักแก้ไขการได้ยิน ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ภายหลังการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม ทีมแก้ไขการได้ยินและทีมแก้ไขการพูด จะเข้ามาดูแลฝึกฝนให้ผู้ป่วยสามารถฟังและพูดได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ทั้งนี้ เป็นเพราะหลักการทำงานของประสาทหูเทียมจะใช้การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปในสมองตามเสียงที่รับเข้ามา ผู้ป่วยจึงต้องศึกษาเรียนรู้ตีความสัญญาณไฟฟ้าให้เป็นด้วย อย่างไรก็ตาม หากฝึกจนชำนาญก็สามารถพัฒนาไปมากกว่าการพูดและฟัง คือ การฟังโทรศัพท์ และการฟังเพลง
สำหรับอุปกรณ์ประสาทหูเทียม ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวปล่อยกระแสไฟฟ้า ที่ต้องถูกฝังอยู่ในศีรษะผู้ป่วย ใช้ควบคู่กับอุปกรณ์รับเสียงที่จะแขวนไว้ที่ใบหูผู้ป่วย ใช้ไฟจากถ่านไฟฉายขนาดเล็ก แต่ผู้ป่วยบางรายต่อสายไปยังถ่านไฟฉายก้อนใหญ่ เพื่อให้ใช้ได้นานและประหยัด
ผศ.พญ.ชนิดา กาญจนลาภ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยกว่า 340,000 คน ประสบปัญหาการได้ยิน หรือคิดเป็น 5 คน ในประชากรไทย 1,000 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากประสาทหูเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น ส่วนมากพบในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป มากที่สุดในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งเด็กทารกยังเป็นกลุ่มเสี่ยงประสาทหูใช้การไม่ได้ตั้งแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา โรงพยาบาลรามาธิบดีประสบความสำเร็จในการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมทั้งแก่เด็กและผู้ใหญ่ที่หูหนวกไม่สามารถฟังได้ ผู้ป่วยคนแรกเป็นวิศวกรที่ทำงานในที่เสียงดังมากๆ ก็สามารถกลับไปทำงานได้ ต่อมา ในปี 2542 เป็นต้นมา ได้เริ่มรักษาในเด็ก รวมมีผู้รับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมแล้วทั้งสิ้น 52 คน
ผศ.พญ.ชนิดา กล่าวว่า ภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะยังไม่สามารถสื่อสารได้ทันที แต่จะต้องให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายฝึกฝนการพูดและการฟังอีกประมาณ 18 เดือน พ่อแม่คนรอบข้างก็เป็นส่วนสำคัญ ทั้งนี้ การผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมส่งผลดีให้บุคคลนั้นสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ และยังมีผลต่ออารมณ์หงุดหงิดลดน้อยลง สำหรับค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดกับโรงพยาบาลรามาธิบดี จะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท แต่ค่าตัวเครื่องประสาทหูเทียมที่นำไปฝังนั้น มีราคาถึง 850,000 บาท ซึ่งคาดว่าในปีนี้ กรมบัญชีกลางจะให้ข้าราชการเบิกค่ารักษาดังกล่าวได้ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นการรักษาที่มีความจำเป็น
“ผู้ใหญ่ที่หูหนวกส่วนมากมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคเบาหวาน โรคหูอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกในสมอง โรคหัดเยอรมัน รวมทั้งการอยู่ในสถานที่เสียงดังมากๆ หรือฟังเพลงดังๆ ก็จะทำให้การรับเสียงเสื่อมได้เร็ว ส่วนเด็กเล็กจะเป็นความพิการแต่กำเนิด ตั้งแต่ช่วง 2-3 เดือนแรกที่ตั้งครรภ์ มารดาต้องระวังรักษาสุขภาพ ไม่ปล่อยให้ป่วยเป็นไข้ หรือหวัด การรับประทานยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวด การประสบอุบัติเหตุที่กระทบเด็กในครรภ์ จะส่งผลให้เด็กในครรภ์มีปัญหาทางการได้ยิน นอกจากนั้น เป็นเรื่องกรรมพันธุ์ คนหูหนวกแต่งงานกัน ค่อนข้างมีโอกาสสูงมากที่ลูกจะมีปัญหาการได้ยินด้วย” ผศ.พญ.ชนิดา กล่าว
รศ.กฤษณา เลิศสุขประเสริฐ นักแก้ไขการได้ยิน ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ภายหลังการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม ทีมแก้ไขการได้ยินและทีมแก้ไขการพูด จะเข้ามาดูแลฝึกฝนให้ผู้ป่วยสามารถฟังและพูดได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ทั้งนี้ เป็นเพราะหลักการทำงานของประสาทหูเทียมจะใช้การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปในสมองตามเสียงที่รับเข้ามา ผู้ป่วยจึงต้องศึกษาเรียนรู้ตีความสัญญาณไฟฟ้าให้เป็นด้วย อย่างไรก็ตาม หากฝึกจนชำนาญก็สามารถพัฒนาไปมากกว่าการพูดและฟัง คือ การฟังโทรศัพท์ และการฟังเพลง
สำหรับอุปกรณ์ประสาทหูเทียม ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ตัวปล่อยกระแสไฟฟ้า ที่ต้องถูกฝังอยู่ในศีรษะผู้ป่วย ใช้ควบคู่กับอุปกรณ์รับเสียงที่จะแขวนไว้ที่ใบหูผู้ป่วย ใช้ไฟจากถ่านไฟฉายขนาดเล็ก แต่ผู้ป่วยบางรายต่อสายไปยังถ่านไฟฉายก้อนใหญ่ เพื่อให้ใช้ได้นานและประหยัด