ในอดีตดนตรีไทยเป็นศิลปะที่รุ่งเรืองและหาฟังได้ไม่ยาก แต่ในปัจจุบันผู้คนสนใจเล่นดนตรีไทยน้อยลง อย่างไรก็ตาม ผลพวงจากกระแสภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" ได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยปลุกกระแสให้คนไทยหันมาสนใจและเล่นดนตรีไทยมากขึ้น
ขณะเดียวกันโหมโรงยังทำให้คนไทยรุ่นหลังได้รับรู้เรื่องราวของบรมครูดนตรีไทยคนสำคัญท่านหนึ่งด้วย นั่นก็คือ “หลวงประดิษฐ์ไพเราะ หรือศร ศิลปบรรเลง” ที่เป็นตัวละครเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้
แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือ แม้หลวงประดิษฐ์ไพเราะจะสิ้นไปแล้ว ทว่า ในปัจจุบันได้มีการสืบทอดวิชาของท่านมาอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่น จนทางเพลงของท่านตกทอดมาสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน รุ่นเหลน และบุคคลทั่วไปที่มีหัวใจรักดนตรีไทย ในนาม “ชมรมดนตรีไทย มูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง)”
กำเนิดแหล่งบ่มเพาะ
อาจารย์มาลินี สาคริก เลขาธิการมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และรุ่นหลานของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ เล่าว่า เมื่อหลวงประดิษฐ์ไพเราะสิ้นชีวิตลง คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง บุตรีคนโตได้รวบรวมโน้ตเพลงของท่านไว้ในหนังสืองานศพ แต่ด้วยความที่เพลงของท่านมีมากเกินที่จะนำมาพิมพ์ได้หมด จึงคิดว่าจะนำมารวมและพิมพ์เผยแพร่ในโอกาสต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มาคิดทบทวนดูแล้ว คุณหญิงชิ้นก็เห็นว่า การสืบทอดวิชาดนตรีด้วยการนำแต่โน้ตเพลงมาพิมพ์อาจไม่แพร่หลายเท่าที่ควร หากคนอ่านไม่เข้าใจตัวโน้ต หรือไม่ได้ยินเสียงเพลงก็ไม่มีความหมาย จึงเกิดความคิดว่าจำเป็นต้องสร้างนักดนตรี และครูดนตรี เพราะคนเหล่านี้จะเป็นบุคลากร ซึ่งสืบสานให้ดนตรีไทยคงอยู่ต่อไป
ด้วยความคิดอันนี้นี่เอง จึงได้นำไปสู่จัดตั้งมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ขึ้นเพื่อดำเนินงานสร้างคนดนตรีไทยอย่างจริงจัง โดยถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม 2524 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบร้อยปีเกิดของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงความดีของท่านที่มีต่อวงการดนตรีไทย และเป็นองค์กรดำเนินงานสืบสาน พัฒนาด้านวิชาการดนตรีไทย และเผยแพร่การเรียนการสอนดนตรีไทยให้ผู้สนใจทั่วไป
และถัดมาในปี 2525 ชมรมดนตรีไทยมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่ออนุรักษ์ พัฒนา และเผยแพร่การเรียนการสอนดนตรีไทย
“หัวใจของชมรมคือ สร้างเด็กไทยให้มีจริยธรรมและสืบสานดนตรีไทยต่อไป ที่นี่ไม่ได้เป็นโรงเรียนสอนดนตรี เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่ที่ให้คนที่รัก หรือชอบอะไรเหมือนกันมารวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างหรือผลักดันอะไรบางอย่าง” อ.มาลินีอธิบาย
ด้านอัษฎาวุธ สาคริก รุ่นเหลนของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และนักเรียนของชมรมรุ่นแรกๆยังบอกอีกว่า การเข้าเรียนที่นี่ต่างจากที่อื่นนับตั้งแต่กติกาการรับสมัครสมาชิก ข้อที่หนึ่งคือ คนที่มาเรียนต้องอยากเรียนไม่ได้มาเพราะถูกบังคับ ข้อ2 ทุกคนต้องเข้าร่วมและผ่านพิธีกรรมไหว้ครู และข้อสุดท้ายคือ ต้องให้สั่งสอน หรือว่ากล่าวตักเตือนศิษย์ได้
…แล้วแปลงบ่มเพาะแห่งนี้มีวิธีการเรียนการสอนอย่างไรถึงมีลูกศิษย์หลั่งไหลมาเรียนนับพันคน
เรียนแบบหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
อ.ชนก สาคริก ทายาทรุ่นหลานผู้สืบทอดทางดนตรีของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ และครูดนตรีไทยของชมรมแห่งนี้ เล่าว่า หลวงประดิษฐ์ไพเราะกล่าวไว้ว่า การสอนดนตรีให้สอนเฉพาะคนที่อยากจะเรียนเท่านั้น ที่สำคัญคือ การเรียนดนตรีไทยของที่นี่ต่างจากที่อื่นๆ กล่าวคือ
ชมรมดนตรีไทยของมูลนิธิฯ มีแนวทางการเรียนดนตรีฉบับหลวงประดิษฐ์ไพเราะที่นำมาสั่งสอนศิษย์อยู่ 18 ข้อ หลักแรกมี 3 ดีคือ 1.มีเครื่องดนตรีดี 2.คนเล่นดี ซึ่งต้องหมั่นฝึกฝน 3.มีครูดี ทางเพลงดี หลักต่อมาคือ หลักมนต์เพลง 5 ประการ ที่ประกอบด้วย1.บุคลิกผู้เล่นดีขณะบรรเลง และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี อ่อนน้อม 2.แม่นยำในการจำทำนอง 3.เป็นนายจังหวะ สามารถเล่นได้ทั้งเร็วและช้า 4.เป็นนายของเสียง สามารถเล่นหนักหรือเบาก็ได้ 5.มีเม็ดพรายหรือเทคนิคการบรรเลงดนตรี
หลักการฟังเสียง 5 ชนิด 1.เสียงในใจที่บรรเลง คือเสียงที่กำหนดไว้มีเพียงผู้เล่นเท่านั้นที่ได้ยิน 2.เสียงที่บรรเลงจริงคือ เสียงดนตรีที่บรรเลงออกมา 3.ต้องฟังเสียงดนตรีของผู้อื่นที่บรรเลงร่วม 4.ต้องเท่าทันเสียงสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นเสียงที่เกี่ยวข้อง เช่น เสียงเคาะจังหวะ เสียงครูพูด 5.เสียงที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น เสียงคนพูด หรือเสียงเพลงอื่นๆ ต้องไม่หงุดหงิดกับเสียงรบกวนเหล่านั้น
สุดท้ายคือ หลักแม่นยำ 5 ประการ 1.แม่นตา เมื่อมองผู้อื่นบรรเลงแล้วสามารถนำมาเล่นได้ 2.แม่นหู เมื่อฟังแล้วสามารถนำเพลงนั้นๆมาบรรเลงได้ 3.แม่นมือคือ บรรเลงดนตรีได้ถูกต้อง 4.แม่นใจคือ รู้ว่าเพลงที่เล่นเป็นเพลงอะไร มีสมาธิ และ5.แม่นปาก หมายถึงการนำความรู้ไปบอกต่อผู้อื่นได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งคนที่มีข้อ 1-4สามารถเป็นนักดนตรีที่ดีได้ แต่ผู้ที่มีข้อ 5ด้วยจะเป็นครูดนตรีที่ดี
อ.มาลินี กล่าวเสริมว่า ที่นี่มีทั้งลูกศิษย์ที่เรียนเอง และเรียนเพื่อเป็นครู เพราะเราต้องการสร้างบุคลากรที่เป็นคนมี จริยธรรม และรู้ลึกเรื่องดนตรี ต้องการสร้างครูที่ดีและเป็นต้นแบบ ครูที่ดีไม่ได้สอนให้เด็กเลียนแบบ เด็กแต่ละคนจะแตกต่างกัน ครูจะคอยเติมเต็มส่วนที่ขาดของแต่ละคน ซึ่งวิธีนี้เป็นการสอนแบบหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ท่านจะนำจุดเด่นของศิษย์แต่ละคนมาเปล่งประกาย โดยที่แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน ใครเก่งอะไร ถนัดทางใดก็ให้อย่างนั้น
ด้าน อ.อัษฎาวุธ กล่าวว่า ที่มูลนิธิฯ จัดทำห้องสมุดเสียงไว้ เพื่อให้สมาชิกของชมรมหาความรู้เรื่องดนตรีที่ไม่จำกัดเฉพาะดนตรีไทยเท่านั้น เพราะดนตรีคือ ดนตรี แต่เน้นดนตรีไทยและเพลงของหลวงประดิษฐ์ไพเราะมากที่สุด
นอกจากนั้นยังมีสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย เช่น ซอฟต์แวร์สำหรับฝึกเรียนดนตรีไทยด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และเผยแพร่กิจกรรมดนตรีไทยผ่านสื่อต่างๆ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ และระบบอินเทอร์เน็ต เป็นการเรียนรู้ที่ใช้สื่อทันสมัย นำปัจจุบันมารับใช้อดีต
เปิดใจลูกศิษย์บรมครู
พงศธร ก๊ายสมบุญ ลูกศิษย์รุ่นใหญ่ของชมรมฯ เล่าว่า ระบบการเรียนที่สำคัญคือ มีการสอบวัดระดับให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งครูไม่ได้บังคับให้เด็กสอบ แต่การสอบนั้นจะทำให้รู้ว่าฝีมืออยู่ระดับไหน พัฒนาหรือไม่
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือครูไม่ได้สอนให้ไปอวดตัวข้างนอก เป็นทางเพลงที่พอเพียง เป็นดนตรีที่พอเหมาะไม่ได้อวดตัว เป็นเพลงเพื่อมวลชน แต่ถ้าคนเรียนไม่รู้จักควบคุมตัวเองก็จะตกอยู่ในกิเลส ดังนั้นครูเลยพร่ำสอนเรื่องหลักธรรมของการเป็นนักดนตรีที่ดี ตลอดจนหลักธรรมที่นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
ด้านปพิชญา เสียงประเสริฐ ลูกศิษย์ปัจจุบันของชมรมฯ เล่าว่า เริ่มเรียนที่นี่มาตั้งแต่ ม.5 ตอนนี้เรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งนอกจากจะมาเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้แล้วยังช่วยครูสอนน้องตัวเล็กๆ ช่วยน้องหัดใหม่ ตั้งสายพิณ เคาะจังหวะ
“ที่ครูสอนพวกเราเสมอคือ ครูจะสอนโดยเน้นข้อคิดเรื่องความเป็นครูดนตรี ไม่ให้เห็นแก่ตัว”
เช่นเดียวกับพันทิพา พงศ์กาสอ ผู้ปกครองที่นั่งฟังดนตรีไทยตลอดการเรียนของลูก เล่าถึงการเรียนการสอนของชมรมฯ ว่า ครูที่นี่ไม่ได้สอนแค่ดนตรีเพียงอย่างเดียว แต่ครูเป็นครู สอนทั้งจริยธรรม สอนมารยาท และสอนให้เป็นคนดี ครูไม่ได้สอนตลอด ซึ่งจะจัดเวลาให้พักด้วย สอนบ้างคุยบ้าง บางครั้งก็เล่นกลให้เด็กดู และที่นี่ไม่ได้เน้นการแข็งขัน การประกวด ครูจะเน้นให้เป็นคนดีและใช้ดนตรีในทางที่ถูก
...ถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปี ชมรมดนตรีไทยแห่งนี้นอกจากจะส่งเสริม และเผยแพร่กิจกรรมดนตรีไทยแล้ว ยังสร้างครู และศิลปินทางด้านดนตรีไทยไว้มากมาย เพราะหลักการสำคัญของชมรมดนตรีไทย มูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) คือ การบ่มเพาะคนดนตรีนั่นเอง