ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการรณรงค์ให้คนทุกเพศทุกวัยหันมาสวมใส่ “ผ้าไทย” ที่สื่อถึงความเป็นชนชาติไทยนั้น ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ซึ่งพวกเขาและเธอเหล่านี้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีไซน์สุดเชยไม่โดนใจ รวมกระทั่งถึงปัญหาขั้นตอนวิธีการดูแลรักษาดูแลผ้าไทยที่ค่อนข้างยุ่งยากและมีราคาสูง
ดังนั้น ที่ผ่านมา เราจึงเห็นเพียงข้าราชการระดับผู้บริหารที่สวมชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยไปงานพิธีต่างๆ เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงยุค “คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ” นั่งคุมบังเหียนกระทรวงวัฒนธรรมและเห็นว่าผ้าไหม ผ้าไทย หายไปจากสังคมไทย ยิ่งเห็นวัยรุ่นนุ่งน้อยห่มน้อย แต่งกายตามก้นฝรั่ง ญี่ปุ่น ฯลฯ จึงลุกขึ้นมารณรงค์ให้คนไทยสวมผ้าไทย เนื่องเพราะเห็นว่า เพราะผ้าไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า เป็นเอกลักษณ์ที่แสดงภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน
เริ่มจากมีหนังสือเวียนไปยังสถานที่ราชการทั่งประเทศโดยขอความร่วมมือข้าราชการสวมผ้าไทยมาทำงานอย่างน้อยสัปดาห์ละวัน รวมถึงให้ออกแบบตัดเย็บผ้าไทยให้สอดรับกับยุคสมัยปัจจุบันเพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการเดินตาม
แน่นอนว่า...วันนี้ ความตั้งใจของคุณหญิงไขศรียังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควรจะทุกภาคส่วนของสังคม แต่นั่นก็คือเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง
**ทำไมวัยรุ่นเมินผ้าไทย
อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่บรรดาวัยทีน วัยรุ่นและวัยทำงานเมินผ้าไทยว่า เนื่องจากพวกเขาได้รับอิทธิพลจากตะวันตกที่ไหล่บ่าเข้ามาอย่างรวดเร็วจนกระทั่งลืมรากเหง้าลืมวัฒนธรรมของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมว่า การที่จะบังคับคนไทยซึ่งมีนิสัยอิสระไปใส่ชุดไทยอัมรินทร์ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ฯลฯ ก็คงไม่เหมาะสมและไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคุณผู้หญิงที่ต้องออกมาทำงานนอกบ้าน ขึ้น-ลง รถเมล์ รถไฟฟ้า นั่งเรือ ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ดังนั้น ถ้าหากผู้ประกอบการได้มีการออกแบบผ้าไทยให้เหมาะกับยุคสมัย นำภูมิปัญญามาพัฒนาคิดค้นให้ผ้าไทย ดูแลง่าย ไม่ยับ สีไม่ตก รวมทั้งศึกษาว่าแฟชั่นวันนี้ และอนาคตแนวโน้มจะนิยมสีโทนไหน ก็ผลิตโทนนั้นออกมาจำหน่าย ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนไทยหันมาใช้ผ้าไทยกันเพิ่มขึ้น
“บ้านเรา อยากให้เหลือบซ้ายแลขวาว่ามีกี่คนที่สวมผ้าไทยขึ้นรถไฟลอยฟ้า รถไฟใต้ดิน เกือบ 100 % จะเห็นใส่ชุดสไตล์สากล สวมเชิ้ตผูกไทกางเกงสแล็ก นุ่งกระโปรงใส่เสื้อสูท ใส่สบายๆ ก็เสื้อยืดกางเกงยีนส์ ทั้งที่ไทยเราควรมียูนิฟอร์มผ้าไทย ซึ่งออกแบบสไตล์สมัยนิยมไม่ให้ล้าสมัยมานั่งทำงานบ้าง
“ปัจจุบันหลายคนไม่นิยมใช้ผ้าไทยก็เพราะดูแลยาก ยับง่าย จะต้องส่งไปร้านซักรีด ถ้าหากผู้ประกอบการ ไปคิดค้นว่าจะทำอย่างไรให้ผ้าไทยโยนใส่เครื่องซักผ้า ปั่นออกมาแล้วไม่ยับ ไม่ยืด ไม่หด สีไม่ตก เชื่อว่าจะมีคนนิยมนำไปตัดเย็บเพื่อสวมใส่กันมากขึ้น”
อาจารย์เผ่าทองให้คำแนะนำถึงการสร้างแรงดึงดูดใยให้คนไทยหันกลับมาใช้ผ้า ก่อนอื่นจะต้องศึกษาแฟชั่นยุคใหม่ว่ากระแสไปทางไหน จากนั้นก็ดีไซน์ตัดเย็บตามสมัยนิยม เพียงแต่ตัดแปลงด้วยการนำเอาผ้าไทย ผ้าไหม ตีนจก และอื่นๆ มาตกแต่งให้ดูโดดเด่น เช่นดีไซน์เสื้อที่ใช้ผ้าไทยมาออกแบบซึ่งสามารถใส่กับกระโปรงยีนส์ กางเกงยีนส์ เพื่อเป็นเอกลักษณ์สไตล์ไทยๆ แค่นี้ก็เป็นเสน่ห์ที่ให้ต่างชาติอิจฉาได้แล้ว
“อยากให้คนไทยอนุรักษ์ผ้าไทย เหมือนกับเพื่อนบ้านของเรา อย่างพม่าเขายังนุ่งสโร่งขึ้นรถเมล์ แม่หญิงลาวนุ่งซิ่น ซึ่งผู้หญิงเขารู้ว่านิ่งซิ่นทำงานจะม้วนผ้าช่วงเอวขึ้นไป ให้สั้นกลางหน้าแข้ง หากจะเข้าวัดจะม้วนผ้าที่เอวนิดหน่อยกะให้ชายผ้ายาวลงมาถึงสะตุ่ม หรืออินเดีย นุ่งชุดประจำชาติ สำหรับบ้านเราสิ่งที่ทำได้ทันทีเลยคือบุคคลที่เป็นสัญลักษณ์ของสังคม อย่างกลุ่มศิลปิน นักร้อง นักแสดง นางแบบนายแบบ ผู้ประกาศข่าว พิธีกรรายการต่างๆ น่าจะเป็นตัวอย่างหันมาใส่ผ้าไทย เพราะวันนี้เยาวชนส่วนใหญ่มักจะแต่งตัวเลียนแบบกลุ่มนี้อยู่
“แต่หากถามว่า ผมอยากเห็นอะไร จริงๆ แล้ว ผมอยากให้รัฐบาลออกระเบียบบังคับอย่างชัดเจนว่าให้ข้าราชการ คนที่ไปติดต่อราชการสวมผ้าไทย ซึ่งมั่นใจว่าคงจะมีคนออกมาต่อต้านเรื่องนี้ หากไม่ทำเช่นนี้อีกหน่อยผ้าไทยคงสูญหายไปจากบ้านเรา ”อาจารย์เผ่าทองแสดงความเห็น
**เร่งพัฒนาผ้าไทย
โกมล พานิชพันธ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ แนะนำว่า ควรมีการปรับปรุงการผลิตผ้าไทยให้โมเดิร์นตลอดเวลา เพียงแต่ยังอนุรักษ์ความเป็นไทยเอาไว้ อย่างผ้าตีนจก เมืองไทยมีแหล่งผลิตตีนจกหลากหลายรูปแบบซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น เก็มาบูรณาการด้วยการปรับลายให้มีขนาดเล็กขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้งาน ขณะเดียวกันควรมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสีผ้าไทย ไม่ใช่จะมีแต่สีทึมๆ เพียงอย่างเดียว จะต้องพัฒนาให้มีสีสันตามสมัยนิยมด้วย
“อย่างผ้าซิ่น 3 ตะเข็บ ผมจะว่าเป็นเอกลักษณ์ของโกมลโดยเฉพาะ คือซิ่นถุงเดียว สามารถนุ่งได้ 3 ด้าน ซึ่งจะมีลวดลายต่างกันออกไปเหมือนกับว่ามีซิ่น 3 ผืน และตรงนี้เป็นจุดที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจของผม”
“บ้านเรามีแหล่งผลิตผ้าไทยกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงอยากให้ช่วยกันคิดสร้างความเพื่อเป็นจุดขาย และอาจจะนำไปจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยว หรือส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้” โกมล บอกว่า ผ้าไทย ณ ขณะนี้ขอแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ชาวบ้านทอด้วยมือ กับเจ้าของธุรกิจ ทอผ้าผ่านอุตสาหกรรม หากทอด้วยมือต้นทุนจะแพงกว่าทอจากโรงงาน ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ
ขณะที่ สมหญิง ชูประยูร หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติ) บอกว่า รัฐบาลควรส่งเสริมผ้าไหม ผ้าไทย อย่างครบวงจร เริ่มจากขั้นตอนการผลิตเรื่อยไปจนถึงการจำหน่าย ไม่ใช่นึกจะรณรงค์ให้คนไทยลุกขึ้นมาสวมผ้าไทย ก็มาเร่งให้ชาวบ้านทอผ้า พอหมดยุคก็เลิกสนับสนุน ดังนั้น ชาวบ้านก็ต้องทอผ้าเก็บไว้ใช้เอง เพราะไม่รู้จะนำไปขายที่ไหน คือเขามีความรู้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิต การทอเท่านั้น
“ทุกครั้งที่บอกชาวบ้านว่าให้ทอผ้า เขาจะถามกลับมาว่าจะขายใคร ดังนั้น รัฐบาลจะต้องสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ซะก่อนว่าทำแล้วขายได้ ขณะเดียวกันจะต้องมาร่วมมือกันหลายฝ่ายช่วยกันพัฒนาคุณภาพผ้าไหม ผ้าไทย ให้ได้คุณภาพ รวมถึงออกแบบการตัดเย็บเสื้อผ้าโดยนำเอาผ้าไทยมาตกแต่งให้ดูสวยงาม คือคนไทย ต่างชาติเห็นปุ๊บบอกได้ทันทีว่า ของไทย”
“การอนุรักษ์ผ้าไทยคงต้องควบคู่กับการเกาะกระแสแฟชั่นที่ทันสมัย พร้อมกันนี้ควรให้ความรู้วิธีการรักษาผ้าไทย ผ้าไหม ให้ดูดีอยู่เสมอ ซึ่งวันนี้คนไทยจำนวนมากรู้มาผิดว่าผ้าไทย ผ้าไหม ดูแลยาก จริงๆ แล้วไม่ได้ยากอย่างที่คิด ผ้าไหมไม่จำเป็นจะต้องส่งร้านซักแห้ง เราซักมือเหมือนปกติแล้วนำมาผึ่งลม แค่นี้ก็ชี้ชัดว่าขาดความรู้”
ส่วน ยุวนิตย์ ปิสัญธนะกูล กรรมการผู้จัดการบริษัทนารายภัณฑ์ จำกัด สรุปว่า ประสบการณ์เกี่ยวกับจำหน่ายสินค้าหลายรูปแบบ ทำให้รู้ว่าหากจะอนุรักษ์ผ้าไทย ผ้าไหม ให้ยั่งยืน คงต้องทำเชิงรุกโดยการพัฒนาคุณภาพของผ้า สีสัน แต่ให้คงลวดลายซึ่งเป็นเอกลักษณ์เอาไว้
“เรื่องนี้ทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน ฝ่ายที่มีความรู้ด้านการผลิตก็คิดค้นสิ่งใหม่เพื่อให้ได้ผ้าสนองตอบความต้องการของตลาด ขณะที่ฝ่ายดีไซน์ก็ควรนำมาออกแบบตัดเย็บให้ทันสมัยไม่ใช่ตัดเย็บแบบเฉยๆ และการออกแบบควรโชว์ลายไทยเพื่อให้คนไทย ต่างชาติเห็นถึงความสวยวาม อย่างไรก็ตาม ดีไซน์เก๋แค่ไหนและแขวนไว้ในร้านก็ไม่มีใครเห็น ควรมีการประชาสัมพันธ์ อาจให้นักแสดง นักร้อง นายแบบนางแบบใส่โชว์ตามงานต่างๆ แทนการใส่ชุดฝรั่งนิยม หากทำอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าวันหนึ่งคงไม่ต้องบังคับให้คนไทยใส่ผ้าไทย เขาจะสวมผ้าไทยอย่างภาคภูมิใจ”ยุวนิตย์สรุป