xs
xsm
sm
md
lg

“หลักสูตรดูผีเสื้อ” เรียนรู้ธรรมชาติในเมืองกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เด็ดดอกไม้ดอกเดียวสะเทือนถึงดวงดาว”

นี่คือคำกล่าวที่มีนัยสำคัญยิ่ง เพราะเป็นคำกล่าวที่ชี้ให้เห็นว่าทุกสิ่งบนโลกล้วนสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน เพราะแม้แต่สิ่งเล็กๆอย่างผีเสื้อ เมื่อมันเหลือน้อยลง หรือใกล้จะสูญพันธุ์ ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยสภาพสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี

และถ้าหากอยากรู้ว่า ผีเสื้อตัวเดียวสะเทือนถึงดวงดาวได้อย่างไรก็ต้องไปทำความเข้าใจกับเรื่องราวของผีเสื้อกับ “หลักสูตรดูผีเสื้อ” ที่ทางอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) จัดขึ้น

** ทำความรู้จักผีเสื้อ

ไพรัตน์ ไพธรรมโชติวัฒน์ นักวิชาการเกษตร กลุ่มงานวิชาการสวนและต้นไม้ สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม อธิบายว่า ผีเสื้อเป็นแมลงที่บริโภคใบไม้ใบหญ้าจำนวนมหาศาลในแต่ละปี และผีเสื้อก็เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและพลังงานที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์และพืชต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ผีเสื้อแต่ละชนิดต้องการพืชอาหารที่แตกต่างกัน เช่น ผีเสื้อถุงทองกินใบกระเช้าสีดา ผีเสื้อหนอนมะนาวกินพืชตระกูลส้ม เช่น มะกรูด มะนาว ส้มโอ ผีเสื้อกะทกรกธรรมดากินใบกะทกรก เสาวรส สร้อยฟ้า ขณะเดียวกัน ผีเสื้อก็ต้องคอยระวังศัตรู เช่น แตน ต่อ พยาธิ มด นก กิ้งก่า แมงมุม และจิ้งเหลน เป็นต้น

สำหรับวงจรชีวิตของผีเสื้อ (Life Cycle) นั้น แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกันคือ

1.ระยะวางไข่ (Egg) 4-5 วัน ผีเสื้อส่วนใหญ่จะวางไข่ไว้ใต้ใบอ่อนของพืชอาหาร แต่บางชนิดจะวางไข่ไว้บนใบพืชอาหาร

2.ระยะหนอน (caterpillar) 15-20 วัน เมื่อหนอนออกจากไข่ อาหารมื้อแรกของหนอนคือ เปลือกไข่และเริ่มกินใบพืชเป็นอาหารต่อไป

3.ระยะดักแด้ (pupa) ระยะดักแด้ผีเสื้อจะไม่ได้กินอาหาร ส่วนใหญ่อยู่ในดักแด้ประมาณ 10-15 วัน เมื่อครบกำหนด ผีเสื้อจะใช้ขาดันให้เปลือกดักแด้แตกและขยับตัวออกมา ขณะที่ผีเสื้อออกจากดักแด้ใหม่ๆยังบินไม่ได้ทันที ผีเสื้อจะเกาะต้นไม้ห้อยปีกลงด้านล่างเพื่อให้ปีกแห้งและกางออกเต็มที่ จากนั้น ผีเสื้อจะกระพือปีกให้แข็งตัวประมาณ 3-5 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชื้นและแสงแดด จากนั้นจึงเริ่มบินออกหากิน ในช่วงที่เป็นหนอนผีเสื้อหากขาดแคลนอาหารและได้รับการกระทบกระเทือน เมื่อตัวเต็มวัยอาจมีปีกพิการ หรือปีกกางออกไม่สมบูรณ์ได้

4.ตัวเต็มวัย (adult) อายุเฉลี่ยของผีเสื้ออยู่ได้ประมาณ 2-3 เดือน แต่บางชนิดอาจอยู่ได้เป็นปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และระบบนิเวศ เมื่อผีเสื้อมีลักษณะปีกแหว่ง สีจาง บินช้าลง แสดงว่ามันเริ่มแก่แล้ว

“ผีเสื้อมีความจำเป็น และเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้ นักวิทยาศาสตร์ใช้ปริมาณ และความหลากหลายที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงของผีเสื้อเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งในการประเมินคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ความสมบูรณ์ และความหลากหลายของระบบนิเวศในบริเวณนั้นๆ เพราะผีเสื้อไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่”

“ถ้ามีผีเสื้อน้อยแสดงว่าบริเวณนั้นมีสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ มีพืชอาหารน้อย หรือใช้สารเคมีในการเกษตร แต่ถ้าผลิตพืชอาหารได้มาก รักษาความชื้นสัมพัทธ์ และไม่ใช้สารเคมี หรือทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ก็จะมีผีเสื้อเป็นจำนวนมาก”ไพรัตน์ให้ข้อมูล

สำหรับในป่าจะเห็นผีเสื้อได้มากในช่วงหน้าฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน เพราะหน้าฝนจะมีระบบนิเวศสมบูรณ์ที่สุด แต่ในอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ สามารถดูได้ตลอดทั้งปี เป็นผีเสื้อป่าแถบร้อนหรือป่าละเมาะ มีประมาณ 20 ชนิด ซึ่งช่วงนี้ภายในกรงของอุทยานมีผีเสื้อกะทกรก และหนอนคูนมากที่สุด ไพรัตน์ กล่าว

**“หลักสูตรดูผีเสื้อ” คอร์สดูผีเสื้อในเมือง
เมื่อทำความรู้จักผีเสื้อในเบื้องต้นแล้ว สิ่งที่ควรทำความรู้จักต่อไปคือ “หลักสูตรดูผีเสื้อ” ที่อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ จัดขึ้น

ไพรัตน์อธิบายว่า “หลักสูตรดูผีเสื้อ”อยู่ในแผนการอบรมความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผีเสื้อให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีจุดประสงค์เพื่อปลุกฝังจิตสำนึก ให้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยกันอนุรักษ์และปกป้องไม่ให้ถูกทำลาย โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ทั้งนี้ หลักสูตรดูผีเสื้อเริ่มจัดอบรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จะจัดในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม ในแต่ละปีจะจัดขึ้นปีละ 5 รุ่น รุ่นละ 1 วัน

สำหรับในปีนี้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมดูผีเสื้อยังมีโอกาสเข้าอบรมได้ในวันที่13 พฤษภาคม 4 มิถุนายน และ15 กรกฎาคม โดยมีวิทยากร 2 ท่านมาให้ความรู้ ได้แก่ นายสุธี ศุภรัฐวิกร และนายเกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสนใจและความรู้เกี่ยวกับผีเสื้อ

ส่วนรายละเอียดของการอบรมจะแบ่งเป็นช่วงเช้าและบ่าย ในช่วงเช้าจะบรรยายภาคทฤษฎี เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับผีเสื้อก่อนในหัวข้อ เปิดโลกผีเสื้อ โครงสร้างหรือส่วนประกอบของผีเสื้อ เรื่องวงจรชีวิต การจำแนกวงศ์ของผีเสื้อ การจำแนกชนิดและกิจกรรมดูผีเสื้อ

ขณะที่ช่วงบ่ายเป็นภาคปฏิบัติ ซึ่งจะเปิดให้เดินชมและสัมผัสชีวิตผีเสื้ออย่างใกล้ชิด ภายในกรงผีเสื้อขนาด 1,168 ตารางเมตรที่มีภูมิทัศน์แบบธรรมชาติที่สวยงาม มีทางเดินชมผีเสื้อและพืชพันธุ์ไม้โดยรอบ ณ บริเวณอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) รวมทั้งสวนจตุจักรและสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จากนั้นรวบรวมรายชื่อผีเสื้อที่พบในสวนทั้ง 3 แห่ง และแนะนำแหล่งดูผีเสื้อ

“ในขณะดูผีเสื้อไม่ควรส่งเสียงดัง และไม่ควรถ่ายรูปโดยใช้แฟลช เพราะจะทำลายความเป็นอยู่ของผีเสื้อ”ไพรัตน์ให้คำแนะนำทิ้งท้าย

สำหรับผู้สนใจเข้ารับการอบรมหลักสูตรดูผีเสื้อสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ งานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาคารอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพ ฯ สวนวชิรเบญจทัศ โทรศัพท์ 0-2272-4359-60, 0-2272-4680 ในวันอังคาร - อาทิตย์ (เว้นวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น.






กำลังโหลดความคิดเห็น