ใครที่ไปร่วมงานแถลงข่าวการประกวดบรรเลงดนตรีไทย “ศรทอง” ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2550 ของมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) คงจะต้อง “อึ้ง” และ “ทึ่ง” กับฝีไม้ลายมือที่ไม่ธรรมดาของ “น้องปูน” ด.ช.นิติกาญจน์ นิลอ่อน จากโรงเรียนสาสน์วิเทศบางบอน ที่ร่วมบรรเลงเพลงไทยโดยมี “ระนาดรางคู่” เป็นอาวุธ
ที่บอกว่า ไม่ธรรมดามี 2 ปัจจัยด้วยกันคือ หนึ่ง-ตัวน้องปูนเองนั้นมีอายุเพียงแค่ 10 ขวบ และสอง-เป็นเด็กอายุ 10 ขวบที่สามารถเล่นระนาดรางคู่ได้ชนิดที่มีฝีมือเหนืออายุ ชนิด เรียกว่า ผู้ใหญ่ด้านดนตรีไทยที่เห็นฝีมือต้องเอ่ยปากชมกันทุกคนเลยทีเดียว
และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ น้องปูนไม่ได้เล่นแค่ระนาดเอกเท่านั้น หากยังสามารถเล่นเครื่องดนตรีไทยชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย
น้องปูนเล่าว่า เริ่มเล่นระนาดตั้งแต่ 6 ขวบ ซึ่งตอนนี้อายุ 10 ขวบแล้ว เหตุผลที่เล่นดนตรีไทยเพราะอยากอนุรักษ์ดนตรีไทย โดยเริ่มเรียนดนตรีไทยครั้งแรกที่อ้อมใหญ่ และระนาดเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่หัดเล่น
“ซ้อมดนตรีทุกวันครับ แต่ละวันจะหัดเพลงบุล่งก่อน เพลงนี้เป็นเพลงไล่มือคือทำให้ข้อร้อน ทำให้ข้อมือมีความคล่องตัวในการตีระนาด จากนั้นก็หัดเล่นเพลงเถา และสุดท้ายเป็นเพลงเดี่ยว ตอนนี้สามารถเล่นระนาดทุ้ม ฆ้องเล็ก และฆ้องใหญ่ได้ด้วย ซึ่งเครื่องดนตรีเหล่านี้หัดเล่นเอง”
น้องปูนเล่าถึงความประทับใจในการประกวดดนตรีให้ฟังว่า เคยประกวดดนตรีไทยที่มหาวิทยาลัยมหิดลและได้รับรางวัลเหรียญทองอันดับที่ 1 โดยใช้เครื่องดนตรีประเภทระนาดเดี่ยว แต่รอบชิงชนะเลิศเปลี่ยนการแสดงมาเป็นระนาดรางคู่ ในครั้งนั้นถือว่าเป็นการเล่นระนาดรางคู่ครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นมีอายุ 9 ขวบเท่านั้น
“ดนตรีทำให้คลายเครียดได้ มีสมาธิและเรียนดีขึ้น อยากให้มาเล่นดนตรีไทยกัน เพราะดนตรีไทยจะสูญหาย อยากให้รักษาไว้”น้องปูนเล่าถึงประโยชน์ของดนตรีไทย
ด้าน สุกาญจน์ นิลอ่อน พ่อของน้องปูน กล่าวเสริมว่า ก่อนการประกวดที่มหาวิทยาลัยมหิดลน้องปูนเคยร่วมวงประชัน ซึ่งเป็นตัวแทนของ จ.สมุทรสาครประชันกับจังหวัดอื่นๆ น้องปูนมีอายุน้อยที่สุดในวง โดยเล่นในตำเหน่งระนาดเอก นอกจากนั้นยังได้แสดงในงานต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายเพราะถือว่าเป็นการพัฒนาฝีมือ
....เอาเป็นว่า ใครสนใจชวนน้องปูนไปบรรเลงดนตรีไทยให้ฟัง ก็ลองติดต่อสอบถามกันได้ที่ โทร.08-9149-7979