xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายละเอียดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดคดี O-NET

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดรายละเอียดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดคดี O-NET

คดีนี้ นางสาวพิชญ์สินี ฆารพูล ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 25 คน ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองขอนแก่นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 564/2549 กล่าวอ้างว่า สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สทศ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาประจำปีการศึกษา 2550 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2549 ให้นำผลคะแนนสอบตามแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) ครั้งแรกครั้งเดียวมาใช้ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา(ADMISSION)

นอกจากนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติในการประชุมครั้งที่ 12/2549 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการสอบ O-NET ให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้เพียงคนละหนึ่งครั้งเท่านั้น ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบห้าคนซึ่งสอบได้ O-NET ไปแล้วก่อนหน้านี้แล้ว ไม่สามารถสอบ O-NET ใหม่ และหากได้สอบ O-NET ใหม่ก็ไม่สามารถนำผลสอบ O-NET ใหม่ไปใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2550 ได้ จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้

1) เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่กำหนดให้ดำเนินการจัดทดสอบวัดความรู้ทางการศึกษาแห่งชาติชั้นพื้นฐาน (O-NET) แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าได้เพียงคนละครั้งดังกล่าว
2) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รับสมัครผู้ฟ้องคดีเข้าทดสอบวัดความรู้ทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) ประจำปีการศึกษา 2549
3) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 รับพิจารณาคะแนนการทดสอบวัดความรู้ทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) ที่สอบในครั้งที่ 2 เพื่อนำไปคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยด้วย


ในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาศาลปกครองขอนแก่นเห็นว่า มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ให้นำผลการสอบ O-NET ครั้งแรกครั้งเดียวมาใช้ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายและยังไม่มีความชัดเจนว่า การดำเนินการดังกล่าวจะบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 หรือไม่ นอกจากนี้ การให้ความคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาแก่ผู้ฟ้องคดีโดยมิให้ใช้มติดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ก็ไม่น่าก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐและความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรอืเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศาลปกครองขอนแก่นจึงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิจารณาโดยห้ามสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มิได้นำมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ครั้งที่ 5/2549 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2549 กรณีให้นำผลคะแนน O-NET ครั้งแรกครั้งเดียวมาใช้ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในระบบ ADMISSION ทั้งนี้ ให้ผลการคุ้มครองมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่นว่า การที่ศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาห้ามมิให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มิให้นำมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ครั้งที่ 5/2549 มาใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาไม่มีหลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทำให้การคัดเลือกต้องล่าช้าออกไป ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ทำให้ปีการศึกษา 2550 นี้มหาวิทยาลัยไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่น

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีคำขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่นไว้เป็นการชั่วคราวก่อน

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคำฟ้องและคำขอของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบห้าคนมีความประสงค์อันแท้จริงที่จะให้ศาลปกครองพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบห้าคนมีสิทธินำผลการสอบ O-NET ครั้งที่สองไปใช้สมัครรับคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบห้าคนนั้น ศาลจำต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในการประชุมครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2549 ที่ให้ใช้ผลการสอบ O-NET ครั้งแรกครั้งเดียวในการพิจารณาคัดเลือกฯ และต้องเพิกถอนหลักเกณฑ์ของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่ได้นำเอามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ให้ทางสำนักงาน

คณะกรรมการการอุดมศึกษาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วย กรณีจึงถือได้ว่าคดีนี้เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในการประชุมครั้งที่ 5/2549 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2549 และเพิกถอนข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่เข้าร่วมรับนักศึกษาในระบบ ADMISSIONS โดยปริยาย แม้มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดังกล่าวจะไม่มีสภาพบังคับเป็นกฎหรือคำสั่งทางปกครอง แต่หลักเกณฑ์ของสถาบันอุดมศึกษาที่ใช้ในการคัดเลือกนักศึกษาในระบบ ADMISSIONS มีสภาพบังคับเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งในทางตำราเรียกว่า “คำสั่งทางปกครองทั่วไป” คำสั่งของศาลปกครองขอนแก่นที่ห้ามมิให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษานำมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ครั้งที่ 5/2549 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2549 มาใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในระบบ ADMISSIONS จึงมีผลเป็นการชะลอหรือระงับการบังคับตามหลักเกณฑ์ของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่ใช้บังคับในการรับนักศึกษาตามระบบ ADMISSIONS ด้วย

แม้ตามรูปแบบแล้วคำสั่งของศาลปกครองขอนแก่นดังกล่าวจะเป็นคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา แต่โดยเนื้หาแล้วเป็นคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครอง ตามนัยข้อ 69 วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงมีสิทธิที่จะขอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งระงับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่นไว้เป็นการชั่วคราวได้ ตามนัยข้อ 73 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบฉบับเดียวกัน และเมื่อพิจารณาผลอันเกิดจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่นแล้ว เห็นได้ว่า คำสั่งของศาลปกครองขอนแก่นดังกล่าว มีผลเป็นการชะลอหรือระงับการบังคับตามผลของข้อกำหนดของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่เข้าร่วมรับนิสิตนักศึกษาในระบบ ADMISSIONS ที่นำมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดังกล่าวไปกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาไว้เป็นการชั่วคราวโดยปริยาย โดยที่ในการออกคำสั่งดังกล่าว ศาลปกครองขอนแก่นมิได้ระบุว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งมีหน้าที่คัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในระบบ ADMISSIONS แทนสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ สมควรใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในระบบ ADMISSIONS สำหรับปีการศึกษา 2550 แทนหลักเกณฑ์ที่ได้สั่งให้ชะลอหรือระงับการบังคับไว้

ทั้งยังไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในระบบ ADMISSIONS อันเป็นการก้าวล่วงดุลพินิจของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ได้ คำสั่งของศาลปกครองขอนแก่นดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่อาจดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในระบบ ADMISSIONS และประกาศผลการคัดเลือกได้ตามวันที่กำหนดไว้ คือวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 เนื่องจากตราบใดที่คำสั่งของศาลปกครองขอนแก่นดังกล่าว ยังมีผลบังคับอยู่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ย่อมไม่มีหลักเกณฑ์ใดให้ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร และการที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไม่อาจดำเนินการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ไม่อาจจัดการเรียนการสอนสำหรับปีการศึกษา 2550 ตามแผนการจัดการศึกษาที่กำหนดไว้ได้

กรณีจึงเห็นได้ว่า คำสั่งของศาลปกครองขอนแก่นดังกล่าว น่าจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ จนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง สมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะสั่งระงับคำสั่งของศาลปกครองขอนแก่นดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวก่อน การวินิจฉัยอุทธรณ์ตามข้อ 115 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ระงับคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่น ที่ห้ามสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มิให้นำมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ครั้งที่ 5/2549 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2549 กรณีให้นำผลคะแนน O-NET ครั้งแรกครั้งเดียวมาใช้ในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในระบบ ADMISSIONS มาใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้ผลการคุ้มครองมีผลบังคับต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่น

26 เมษายน 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น