ปัญหาคนหายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ไม่เคยถูกหยิบยกมาพูดถึงและเห็นว่าเป็นกรณีเร่งด่วนที่ควรแก้ไข โดยเฉพาะกรณีกระแสข่าวแก๊งรถตู้ลักพาตัวเด็ก ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมควรร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหาและป้องกันภัยร้ายที่แฝงอยู่ใกล้ตัว
ตัวเลขคนหาย : ความจริงที่น่ากลัว
เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า จากสถิติที่ได้รับแจ้งคนหายจากทั่วประเทศ และรับดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2547 ถึง เมษายน 2550 พบว่ามีผู้สูญหายทั้งหมด 764 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 269 ราย หญิง 495 ราย พบแล้ว 426 รายและยังคงดำเนินการค้นหา 338 ราย
ทั้งนี้ การหายตัวมาจากสาเหตุ 10 ประเภทคือ โรคสมองเสื่อมจำนวน 112 ราย ลักพาตัว 19 ราย ล่อลวงเพื่อทางเพศ 159 ราย ล่อลวงเพื่อแรงงาน 40 ราย สมัครใจ 154 ราย ชู้สาว 41 ราย ติดเกม 8 ราย ติดแชททางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต 21 ราย ขาดการติดต่อ 144 ราย และสาเหตุอื่นๆ 29 ราย ไม่ได้ระบุประเภทการหาย 37 ราย โดยในจำนวนนี้สามารถแบ่งเป็นช่วงอายุ 0-10 ปี จำนวน 28 ราย11-15 ปี 228 ราย 16-18 ปี 144 ราย 19-30 ปี 182 ราย 31-50 ปี 96 ราย 51 ปีขึ้นไป 68 ราย และไม่ระบุปีเกิด จำนวน 7 ราย
ที่น่าสนใจก็คือ จากตัวเลขทั้งหมดพบว่า ช่วงอายุ 11-15 ปี หายมากที่สุด และเป็นเพศหญิงถึง 193 ราย เพราะวัยนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เข้าถึงและเสพสื่อมาก ดังนั้นสาเหตุส่วนใหญ่จึงมาจากภัยเทคโนโลยี เช่น ติดเกม ติดแชททางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งในกรณีหลังมักถูกล่อลวงไปกระทำทางเพศมากที่สุด
สำหรับการลักพาตัว 19 ราย มาจากกรณีรถตู้ 2 ราย ที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบตัว ส่วนจำนวนที่เหลือ คนร้ายใช้วิธีอื่นๆ เช่น ล่อลวงโดยพูดคุยตีสนิทกับเด็ก พาไปซื้อขนม และของเล่น หรือปลอมตัวเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เป็นต้น
ขณะที่ผู้สูงวัยหายจำนวน 120 ราย มีสาเหตุจากโรคสมองเสื่อมมากที่สุด ส่วนกรณีลักพาตัวพบว่า ไม่มี แต่เป็นรูปแบบของแก๊งที่เข้าไปในหมู่บ้านและชักชวนมาทำงาน โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นความสมัครใจของชาวบ้าน
ปิดเทอม : เทศกาลเด็กหาย
เอกลักษณ์เล่าให้ฟังต่อว่า ช่วงปิดเทอมเรียกได้ว่าเป็นเทศกาลเด็กหาย เพราะมีเด็กหายมากที่สุด กล่าวคือจากตัวเลขของปีที่แล้ว ในเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน พบว่าเด็กหาย 108 ราย สาเหตุเพราะผู้ปกครองไม่ได้อยู่ด้วย ไม่มีเวลาดูแล เด็กอยู่บ้านตามลำพัง ทำให้เข้าสู่สื่อได้ง่ายทั้งเล่นเกม เล่นแชททางโทรศัพท์/ อินเทอร์เน็ต และสามารถออกไปพบคนที่ติดต่อกันได้ง่ายขึ้น
สำหรับพื้นที่ที่เด็กหายมากที่สุดไม่ใช่ในแถบต่างจังหวัด แต่พบว่าภาคกลางมีผู้สูญหายมากที่สุด จำนวน 445 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะเด็กในภูมิภาคนี้สามารถเข้าถึงสื่อได้ง่ายกว่าเด็กต่างจังหวัด เด็กจึงหายจากภัยเทคโนโลยีมากที่สุด ส่วนกรณีลักพาตัวพบว่าในเขตหัวเมืองใหญ่หายมากที่สุด เพราะคนอพยพจากต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในเมือง คนในชุมชนจึงไม่รู้จักกัน เมื่อมีมิจฉาชีพเข้ามาจึงไม่เป็นที่สงสัย
ส่วนภาคเหนือมีจำนวน 98 ราย อีสาน 132 ราย ภาคใต้ 41 ราย และภาคตะวันออก 27 ราย ไม่ระบุจังหวัดตามภูมิลำเนา 21 ราย กรณีคนหายในต่างจังหวัดส่วนใหญ่มาจากการล่อลวงเพื่อแรงงาน
ทั้งนี้ จากสถิติมูลนิธิกระจกเงา พบว่า คนหายพบโดยการติดตามของครอบครัวจำนวน 135 ราย กลไกการติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 20 ราย การช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ 14 ราย การประชาสัมพันธ์ของสื่อมวลชน 2 ราย การติดต่อกลับทางบ้าน 42 ราย กลับบ้านด้วยตนเอง 107 รายอื่นๆ (ประชาชน, หน่วยงานเอกชน) 11 ราย ไม่ระบุประเภท 95 ราย
มิติด้านลึกปัญหาคนหาย
เอกลักษณ์เล่าให้ฟังว่า เด็กหายไม่ได้มีเพียงมิติเดียว แต่ในอนาคตอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาจนกลายเป็นวิกฤตได้ เช่น กรณีเด็กติดเกม เบื้องต้นเด็กจะอยู่ร้านเกมทั้งวันทั้งคืน หายออกจากบ้าน ขาดเรียน และเด็กจะมีเงินติดตัวออกไปไม่มากนัก เมื่อเงินหมดเด็กบางคนยอมขอทาน และกลายเป็นเด็กเร่ร่อน จากนั้นจะเริ่มหาเงินด้วยการลักขโมย จนเป็นอาชญากรเด็กในที่สุด หรือเด็กบางคนอาจติดยาเสพติด
ขณะที่กรณีล่อลวงทางเพศ หากมองว่าเป็นเรื่องชู้สาว เป็นความสมัครใจของเด็ก ไม่รีบดำเนินการตามหา แก้ไขและแนะนำเด็กอย่างถูกทางแล้ว อาจเกิดปัญหาตามมา ทั้งการขายบริการทางเพศ เด็กทำแท้ง คลอดแล้วทิ้งลูก หรือเด็กที่เกิดจากความผิดพลาดและไม่รับผิดชอบ อาจทำให้กลายเป็นอาชญากรเด็กได้ในอนาคต เนื่องจากไม่มีพ่อแม่ดูแล
นอกจากมิติด้านลึกหลังจากหายตัวแล้วยังพบว่าปัญหาเรื่องเด็กหายยังมีมิติก่อนการหายตัวอีกด้วย เช่น ปัญหาหรือภาวะกดดันจากครอบครัว การไม่ดูแลเอาใจใส่ของครอบครัว ทำให้เด็กเสพสื่อได้ง่าย เช่น การแชททางโทรศัพท์ทั้ง1900 หรือหมายเลขอื่นๆ เด็กติดเกม เป็นต้น ควรเริ่มแก้ปัญหาที่ครอบครัว ปิดสื่อที่ล่อลวงเหล่านี้ และปิดร้านเกมที่อนุญาตให้เด็กนักเรียนเข้าก่อนเวลาเรียน ซึ่งถ้าแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ จะเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
“ภาครัฐควรแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และจริงใจ อันดับแรกต้องมีกฎหมายคนหายและระบุอย่างชัดเจนว่าใครมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ใครทำหน้าที่อะไรบ้าง และหยิบยกกรณีเด็กหายเป็นประเด็นสำคัญ ให้ความเป็นธรรมแก่เด็กทุกชนชั้น ต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงก่อนสรุป ต้องมองและเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง รับแจ้งและดำเนินการด้วยความจริงใจ นอกจากนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต้องทำงานคู่ขนานกันไป ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา” เอกลักษณ์ให้คำแนะนำถึงวิธีการแก้ปัญหา
“คนหาย” ใครช่วยได้
1.ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา โทร. 0-2642-7991 ต่อ 11 โทรสาร 0-2642-7991 ต่อ 18 E-mail:info@backtohome.org ตลอด 24 ชั่วโมง
2.ร่วมด้วยช่วยกัน หมายเลขโทรศัพท์ 1677 หรือ142 เรียกร่วมด้วยช่วยกัน และทาง www.rd1677.com
3. จส.100 ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1137 หรือ 142 เรียก จส.100 และทางwww.js100.com
4. สวพ.91 ติดต่อที่ www.trafficbkk.com
5. กองบังคับการปรามปราบการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชน และสตรี (ปดส.) สามารถติดต่อได้ทาง www.cwd.go.th หรือโทร.0-2513-32180, 0-2511-4874
6.ศูนย์สวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และสตรี กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศดส.)
โทร.0-2282-1815 หรือทาง www.korkorsordor.com
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือคนหายนอกจากช่วยประสานงานติดตามว่าพบเห็นบุคคลที่หายแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือได้อีกทางคือ บริจาคผ่าน “กองทุนตามน้องกลับบ้าน” มูลนิธิกระจกเงา เพื่อเป็นเงินทุนดำเนินงานตามหาคนหายกลับบ้าน บำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจ และช่วยเหลือผู้เสียหายในการดำเนินคดีอาญา สามารถโอนเงินได้ที่ชื่อบัญชี “กองทุนตามน้องกลับบ้าน” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นจูรี่ประเภทบัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 208-202378-3 หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2642-7991-2