xs
xsm
sm
md
lg

รอ...รอ...รอ....และรอ กว่าจะได้ “ชีวิตใหม่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจุบัน ผู้ป่วยที่รอรับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาผู้ป่วยที่อวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ปอด ตับ ไต เสื่อมสภาพไป และทำให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

แต่ปัญหาสำคัญในการรักษาด้วยวิธีนี้คือ การขาดแคลนอวัยวะที่จะนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วย

**ความจริงของการปลูกถ่ายอวัยวะ

นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า ในช่วงระยะ 13 ปีนับตั้งแต่ศูนย์เปิดบริการเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2537 จนถึงขณะนี้ ศูนย์ได้ให้บริการผู้รอรับอวัยวะไปแล้ว 2,619 คน ( ณ 28 กุมภาพันธ์ 2550) ส่วนมากเป็นการปลูกถ่ายไตจำนวน1,308 ราย รองลงมาคือ ดวงตาจำนวน 590 ราย ลิ้นหัวใจจำนวน 329 ราย และตับจำนวน 225 ราย

สำหรับในปัจจุบัน ศูนย์บริจาคอวัยวะมีผู้ป่วยมาลงทะเบียนรอรับอวัยวะจำนวน 2,167 ราย ซึ่งอวัยวะที่รอรับบริจาคมากที่สุดคือ ไตจำนวน 1,878 รายหรือประมาณ ร้อยละ 80 ของทั้งหมด รองลงมาคือตับ จำนวน 232 ราย และหัวใจ-ปอด จำนวน 25 ราย

จากสถิติดังกล่าวจึงเห็นว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับไตเป็นปัญหาใหญ่ และมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องทรมานสุขภาพเป็นเวลานานในขณะรอรับอวัยวะ

“ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของเราคือ ญาติผู้เสียชีวิตปฎิเสธการบริจาคอวัยวะ บุคลากรทางการแพทย์มิได้เสนอทางเลือกในการบริจาคอวัยวะแก่ญาติ และปัญหาทางด้านการบริหารจัดการ ดังนั้น ทางศูนย์ฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ด้วยการทำความเข้าใจกับสาธารณชนและบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการจัดฝึกอบรมและปฏิบัติการ ทั้งนี้โครงการที่หวังผลในระยะยาวอาจจะต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ถ้ากระทรวงศึกษาธิการจะจัดโครงการนำร่องให้ความรู้เรื่องการบริจาคอวัยวะ การปลูกถ่ายอวัยวะ ให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา อีกทั้งขณะนี้มีองค์กรระหว่างประเทศกำลังดำริที่จะให้คำแนะนำในการสร้างแนวปฏิบัติให้มีกฎหมายรองรับการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สาธารณชน”

“ทั้งนี้ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทางศูนย์ฯและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีโครงการพัฒนาระบบการรับบริจาคอวัยวะในภูมิภาคขึ้นโดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพัฒนาศักยภาพศูนย์รับบริจาคอวัยวะในภูมิภาคในสถาบันการแพทย์ชั้นสูงหรือโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 25 แห่ง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการรับบริจาคอวัยวะในพื้นที่รับผิดชอบ กำหนดเป้าหมายให้การรับบริจาคอวัยวะจากผู้เสียชีวิตสมองตายจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ 200 คน เพื่อนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้รอรับอวัยวะ 500 คน ตลอดโครงการคือตั้งแต่ 1 พ.ย.49-31 ธ.ค.50”นพ.วิศิษฏ์อธิบาย

**ชีวิตที่ยังมีหวัง

พิทยา เขจรฤทธิ์ หรือ ลูกแก้ว ปัจจุบันอายุ 26 ปี เธอเป็นลูกสาวชาวนาในกิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์
ด้วยความที่เป็นลูกสาวคนเดียวในบ้านจึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างทะนุถนอม โดยที่ผู้เป็นแม่ไม่รู้เลยว่า ลูกแก้วถือกำเนิดมาด้วยร่างกายภายในไม่สมบูรณ์คือมีหัวใจเพียง 2 ห้องเท่ากับครึ่งหนึ่งของหัวใจคนทั่วไป เป็นผลให้ปอดไม่แข็งแรงร่วมด้วย ทำให้เจ็บออดแอดเกือบทั้งปี เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาอากาศเปลี่ยนเธอก็ป่วยเป็นภูมิแพ้ เป็นหวัดและหายใจหอบ เหนื่อยง่าย

“ตอนเด็กไม่สามารถวิ่งเล่น หรือเล่นกีฬาในโรงเรียนได้ เพราะเหนื่อยง่าย เล่นแต่เพียงหมากเก็บ ขายของตามประสาเด็กบ้านนอก แล้วก็ต้องขาดเรียนบ่อย เพราะไม่สบายเสมอ”

ในปี 2530 คราที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงงานภาคอีสานและได้ทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดกาฬสินธุ์ ครอบครัวเธอได้รับโอกาสเข้าเฝ้าฯถวายรายงาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับเธอไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ อาการเจ็บป่วยที่หนักที่สุดและต้องส่งรักษาตัวในโรงพยาบาลคือ น้ำท่วมปอด

เมื่อมารักษาตัวในโรงพยาบาลบ่อยและนาน คณะแพทย์ที่รักษาจึงประสานงานให้เธอเป็นคนไข้คนหนึ่งที่คอยรับการรักษาผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจและปอด

ในเดือนเมษายน 2548 เธอสำเร็จการศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ภาคธุรกิจแล้ว ได้รับความกรุณาจากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สำนักงานตั้งอยู่ในสนามบินดอนเมือง กรุงเทพฯ ตามโครงการรับคนพิการเข้าทำงาน เธอได้รับบรรจุเป็นพนักงานธุรการในเดือนพฤษภาคม 2548 ทำงานในห้องสมุด ทำหน้าที่คล้ายบรรณารักษ์

“เป็นงานที่ไม่หนักค่ะ จัดระบบหนังสือในห้องสมุด จัดบริการให้ยืมและรับส่งหนังสือของสมาชิก และรับตอบโทรศัพท์เมื่อสมาชิกถามข้อมูลในห้องสมุด” เธออธิบายรายละเอียดของงานประจำวันที่บริษัทฯ

“กำลังใจที่หนูอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะหนูโชคดี ทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นคนไข้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ฯ ได้รับเมตตาจากคณะแพทย์ฯ จากโรงเรียนพระมหาไถ่ และจากบริษัทวิทยุการบินฯ หนูได้มีโอกาสตอบแทนพระคุณแม่ เงินเดือนที่หนูทำงานได้ให้แม่ทุกเดือน แม่จะได้ใช้ส่วนตัวและทำบุญบ้าง เพราะทุกวันนี้ แม่ต้องทิ้งที่นา (ให้คนอื่นเช่า) มาคอยดูแลหนู”

แน่นอนว่า ลูกแก้วยังคงคาดหวังว่า สักวันหนึ่ง เธอคงจะมีหัวใจและปอดที่แข็งแรง เพื่อให้ชีวิตเธอได้มีความสดชื่น สดใสเหมือนคนอื่น ๆ บ้าง

**จากใจผู้ได้รับ(ตับ)

ด.ญ.ฐานรัตน์ นรินทร์สุขสันติ ปัจจุบันอายุ 9 ปี เป็นลูกคนสุดท้องคนที่สามของครอบครัวมีความผิดปกติมาตั้งแต่เด็ก โดยแพทย์ได้วินิจฉัยว่า ท่อน้ำดีตีบตัน และมีอาการเป็นตับแข็ง โรงพยาบาลไทยรักษาไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องมือ ต้องไปรักษาที่ต่างประเทศ ....และหมอก็ไม่รับรองว่า จะหายได้ เพราะ เด็กยังเล็ก....

อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณแม่ของเธอทราบข่าว หากสามารถเปลี่ยนตับได้ก็มีโอกาสที่จะหายได้ ดังนั้น จึงพาด.ญ.ฐานรัตน์ไปขึ้นทะเบียนไว้คอยรับการผ่าตัด

“นับเป็นบุญของลูกที่ คอยด้วยความหวังอยู่เกือบปี เดือนสิงหาคม 2541 คณะแพทย์แจ้งว่า ลูกจะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับ จากผู้บริจาคเป็นสุภาพสตรี อายุ 23 ปี....”

“ลูกต้องอยู่ในโรงพยาบาล ในห้องICU นาน 1 สัปดาห์ และห้องปลอดเชื้อ 2สัปดาห์ เมื่อมาพักอยู่ที่บ้านประมาณ 3 เดือน ลูกก็แข็งแรง และเติบโตได้เหมือนเด็ก ๆ ทั่วไป .....นับเป็นความปลื้มใจของครอบครัวเรามากที่สุดค่ะ สำหรับการรักษาตัวของลูกน้อยหลังการผ่าตัด ต้องกินยารักษาภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับคนไข้ผู้ใหญ่”จินตนา นรินทร์สุขสันติ แม่ของด.ญ.ฐานรัตน์เล่าถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย โทร.1666,0-2256-4045-6,www.redcross.or.th,www.organdonate.in.th
กำลังโหลดความคิดเห็น