xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง!! ใช้ “ดินสอพอง” ผิดประเภทอาจทำให้เป็นสิว แผลเน่าได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมวิทย์ แนะเลือกซื้อ “ดินสอพอง” ให้ถูกประเภท ซื้อผลิตภัณฑ์เฉพาะใช้เป็นเครื่องสำอางโดยตรงมีบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท และมีฉลากระบุ ชี้ส่วนใหญ่กรรมวิธีการผลิตไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค ไม่ระวังเชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกาย ปาก ตา บาดแผล สิว ทำให้แผลเน่า

วันนี้ (10 เม.ย.)นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนไทยรู้จักและใช้ดินสอพองผสมน้ำ น้ำอบ หรือน้ำปรุง เพื่อประพรมร่างกายให้เย็นสบายคลายร้อนกันมาแต่โบราณ แต่หลายคนคงไม่ทราบถึงวัตถุดิบ กรรมวิธี และวัตถุประสงค์ในการผลิตดินสอพอง กระบวนการผลิตเริ่มจากการใช้ดินที่มีอยู่ตามธรรมชาติกับน้ำที่สูบขึ้นมาจากคลองชลประทานผสมกันในบ่อดิน แล้วนำไปกรองผ่านตะแกรงเพื่อแยกเอาหิน กรวด และเศษหญ้าออก แล้วทิ้งไว้ข้ามคืนเพื่อให้ดินตกตะกอน และจะทำการกรองและตกตะกอนดินอีกหลายครั้ง จนกว่าจะได้แป้งดินขาวข้นเหมือนดินโคลน เรียกว่าโคลนดินสอพอง แล้วจึงนำไปหยอดลงแม่พิมพ์เพื่อตากแดดจนแห้งสนิท เป็นอันเสร็จสิ้นขบวนการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในกระบวนการผลิตดินสอพองนั้นไม่มีการฆ่าเชื้อโรคอย่างถูกสุขลักษณะ เนื่องจากผู้ผลิตผลิตดินสอพองเพื่อขายต่อให้โรงงานต่างๆ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป เช่น สีทาบ้าน หรือแป้งผงสำหรับยารอยต่อพื้นไม้ เป็นต้น โดยโรงงานจะนำไปผ่านกระบวนการทำให้สะอาดหรือฆ่าเชื้อให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของตนต่อไป อีกทั้งผู้ผลิตดินสอพองต้องเร่งการผลิตและขายดินสอพองเพื่อให้มีรายได้หมุนเวียน จึงไม่เห็นถึงความจำเป็นในขั้นตอนการฆ่าเชื้อ

“ขณะที่ผู้บริโภคมักจะนิยมนำดินสอพองมาใช้ประพรมใบหน้าและร่างกาย เพื่อประทินผิว คลายร้อน หรือใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาอาการต่างๆ อีกทั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากการสาดน้ำแล้ว ประชาชนยังนิยมนำดินสอพองมาเล่นประแป้งให้กัน จึงทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะได้รับเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในดินสอพองเข้าสู่ร่างกาย ทั้งทางตา ปาก บาดแผล หรือสิว เช่น จุลินทรีย์คลอสตริเดียมสปอร์โรจีเนส และคลอสตริเดียมเพอร์ฟริงเจนส์ หากเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลจะทำให้แผลเน่า หากเข้าสู่ร่างกายทางปากอาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องร่วง ภายใน 8-22 ชั่วโมง หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เป็นต้น นอกจากนี้ บางครั้งยังมีการผสมสีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น สีทาบ้าน เป็นต้น ลงไปในดินสอพองอีกด้วย” นพ.ไพจิตร์กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเริ่มดำเนินการโดยจัดการประชุมเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตดินสอพอง พร้อมตรวจแนะนำสถานที่ผลิตดินสอพองให้กับกลุ่มผู้ผลิตดินสอพองในจังหวัดลพบุรี เนื่องจากจังหวัดลพบุรีเป็นแหล่งการผลิตใหญ่ ผลจากการประชุมจึงได้แยกผลิตภัณฑ์ดินสอพองตามวัตถุประสงค์การใช้เป็น 2 ชนิด คือ 1.ดินสอพองสำหรับขายเป็นวัตถุดิบให้โรงงาน หรือใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีโอกาสเสี่ยงในการทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งผู้ผลิตสามารถผลิตดินสอพองชนิดนี้ได้ตามกรรมวิธีเดิม ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพใดๆ 2.ดินสอพองสำหรับนำไปใช้เป็นเครื่องสำอางโดยตรง เช่น ทาหน้า ทาตัว เป็นต้น ซึ่งการผลิตดินสอพองชนิดนี้ได้มีการปรับปรุงให้มีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้ใช้ โดยผ่านกระบวนการกรอง การใช้ความร้อน และการอบแห้ง พร้อมบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท และมีฉลากระบุ

นพ.ไพจิตร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ดังนั้น ประชาชนควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ดินสอพองที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งาน หากจะนำดินสอพองมาทาหน้าหรือทาตัว ควรเลือกซื้อดินสอพองที่มีฉลากกำกับว่าเหมาะสมกับการใช้ทาร่างกาย หรือเลือกดูจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ เช่น เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) นอกจากนี้ หากประชาชนไม่มั่นใจในความปลอดภัยของดินสอพองที่ซื้อมา ก็อาจนำมาผ่านความร้อนโดยวิธีการสะตุดินสอพอง คือ การใส่ดินสอพองลงในหม้อดินปิดฝาและนำไปตั้งไฟจนดินสอพองสุก หรือนำดินสอพองมาละลายน้ำสะอาด แล้วกรอง แล้วนำไปผ่านความร้อนโดยการต้มและอบแห้ง ก่อนนำไปใช้ทาหน้าหรือทาตัวจะทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น