xs
xsm
sm
md
lg

ชวนเช็กสารพัด"ต้อ"/รศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์สายตรงสุขภาพกับศิริราช
รศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล
จักษุแพทย์

“ตา” เป็นอวัยวะสำคัญที่ควรค่าแก่การทะนุถนอม แต่เมื่อคนเราเข้าสู่วัยสูงอายุ จะเกิดความเสื่อมขึ้นกับตาโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดหลีกเลี่ยงพ้น คุณหรือคนใกล้ชิดอาจเป็นผู้หนึ่งที่กำลังเข้าสู่ภาวะของโรคตาโดยที่ไม่รู้ตัว ลองสังเกตดูเพื่อเป็นแนวทางรักษาสุขภาพของตนสิคะ


ต้อเนื้อ คือเยื่อตาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหนาตัวขึ้น เห็นเป็นเนื้อสีแดงเรื่อๆ ยื่นเข้าไปบนกระจกตา ส่วนใหญ่พบทางด้านหัวตามากกว่าหางตา แต่อาจพบทั้งสองด้านพร้อมกันได้ สาเหตุของต้อเนื้อเกิดจากความเสื่อมของเยื่อตาเนื่องจากถูกแสงแดดหรือลมเป็นเวลานานๆ ดังนั้นผู้ที่ทำงานกลางแจ้งจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อเนื้อมากกว่าผู้ที่ทำงานในร่ม หากมีการอักเสบจะเห็นต้อเนื้อแดงจัดขึ้น ร่วมกับผู้ป่วยมีอาการปวดตาและแพ้แสง ในกรณีที่เนื้อเยื่อซึ่งเสื่อมสภาพยังไม่ลามเข้าไปบนกระจกตาแต่เห็นเป็นเนื้อนูนๆ ที่ขอบกระจกตาจะเรียกว่า ต้อลม

การวินิจฉัยต้อเนื้อ อาศัยการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ อย่างไรก็ตามลักษณะต้อเนื้ออาจคล้ายกับโรคตาบางอย่างที่ร้ายแรงได้ เช่น มะเร็งเยื่อตา ดังนั้นผู้ป่วยบางรายจึงอาจต้องได้รับการตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อแยกโรค

โดยทั่วไปต้อเนื้อที่เป็นไม่มากและเนื้อเยื่อไม่อักเสบ จะรักษาด้วยการใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อไม่ให้ตาแห้ง และแนะนำให้เลี่ยงแสงแดดหรือลมกระทบตาตรง ๆ ในรายที่ต้อเนื้ออักเสบอาจต้องให้ยาหยอดตากลุ่มสเตียรอยด์ร่วมด้วย แต่ควรให้เพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากยาหยอดตากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงซึ่งรุนแรง ได้แก่ ต้อหินและต้อกระจก หากใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ

สำหรับการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ จะทำเมื่อเนื้อเยื่อลามเข้าไปบนกระจกตามากจนบังสายตา หรือมีภาวะสายตาเอียงอย่างมากเป็นผลให้ตามัวลง นอกจากนี้ต้อเนื้อที่มีการอักเสบบ่อย ๆ ก็อาจทำการลอกออก ซึ่งหลังจากผ่าตัดลอกต้อเนื้อแล้ว ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลามมากขึ้นหรือเป็นซ้ำ โดยการเลี่ยงแสงแดดและลม รวมทั้งการหยอดน้ำตาเทียมบ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ

ต้อกระจก คือเลนส์ตาหรือแก้วตาซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากความเสื่อมตามธรรมชาติ ทำให้เลนส์ตาซึ่งเดิมใสแสงผ่านได้ดี กลายเป็นเลนส์ตาที่ขุ่นมัวแสงผ่านได้ยาก

ต้อกระจก อาจเกิดในเด็กซึ่งมีความผิดปกติแต่กำเนิดหรือเกิดจากการติดเชื้อในครรภ์ หรือเกิดภายหลังอุบัติเหตุที่ตา แต่ส่วนใหญ่ต้อกระจกเป็นโรคของผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุของภาวะสายตาพิการที่พบบ่อยที่สุด

ผู้ที่มีต้อกระจกจะมีระดับสายตาลดลงมากน้อยตามความรุนแรงของโรค ในระยะที่โรคไม่รุนแรงอาจใส่แว่นสายตาช่วยให้มองเห็นภาพชัดขึ้นได้ แต่หากต้อกระจกเป็นมากหรือที่เรียกว่า ต้อสุก ผู้ป่วยจะมองเห็นเพียงเงารางๆ หรือเห็นเพียงแสงเท่านั้น โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคต้อกระจกจะไม่มีอาการปวดตาหรือตาแดงผิดปกติ ยกเว้นในรายที่เกิดผลแทรกซ้อนจากต้อกระจก เช่น ต้อบวมจนทำให้ความดันตาสูง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาได้

การวินิจฉัยต้อกระจก อาศัยการตรวจตาแล้วพบเลนส์ตาขุ่น เมื่อผู้ป่วยมาพบจักษุแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจตาโดยกล้องพิเศษ และขยายรูม่านตาตรวจเลนส์ตาและจอตา

การรักษาต้อกระจก ประกอบด้วยการผ่าตัดร่วมกับการใส่เลนส์ตาเทียม ปัจจุบันนิยมใช้คลื่นเสียงในการสลายต้อกระจก เนื่องจากสามารถผ่าตัดได้โดยไม่ต้องฉีดยาชา เพียงใช้ยาชาหยอดตาก็พอ นอกจากนี้การผ่าตัดจะกระทำผ่านแผลที่ขอบกระจกตาขนาดเล็กเพียง 3 มิลลิเมตร ช่วยให้ไม่ต้องเย็บปิดแผล อีกทั้งระยะเวลาในการผ่าตัดก็สั้นและไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล สำหรับเลนส์ตาเทียมซึ่งใส่ไว้ในตาแทนเลนส์ตาที่สลายไปนั้นจะคงอยู่ในตาไปตลอดชีวิต

เนื่องจากต้อกระจกเป็นโรคของความเสื่อมตามธรรมชาติ จึงไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจตาเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การรักษาต้อกระจกเป็นไปในเวลาที่เหมาะสม คือเมื่อต้อกระจกทำให้สายตามัวลงจนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

ต้อหิน คือภาวะที่ความดันในตาสูงจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่เส้นประสาทตา ต้อหินอาจเป็นแต่กำเนิดหรือในเด็กเล็กเนื่องจากการเจริญผิดปกติของลูกตา แต่ส่วนใหญ่จะพบต้อหินในผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. ต้อหินชนิดมุมเปิด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรค เนื่องจากไม่มีอาการปวดตาหรือตาแดง ส่วนใหญ่จะได้รับการวินิจฉัยเมื่อผู้ป่วยมารับการตรวจตาประจำปีแล้วพบว่าความดันตาสูง และเมื่อตรวจลานสายตาจะพบว่าแคบลงกว่าปกติ

2. ต้อหินชนิดมุมปิด ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตา ตาแดง และมัวลงอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากความดันตาสูงขึ้นอย่างมากทันที หรืออาจมีอาการปวดศีรษะและปวดตาเรื้อรังในกรณีที่ความดันตาสูงไม่มากนัก

โรคต้อหินอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยมีประวัติญาติพี่น้องเป็นโรคนี้หรือเคยได้รับการรักษา ผู้ที่ความดันตาอยู่ในเกณฑ์ปกติก็อาจเป็นโรคต้อหินได้ ผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่แสดงอาการใดๆ ดังนั้นการวินิจฉัยจึงต้องอาศัยการตรวจตาโดยจักษุแพทย์

โรคต้อหินนับเป็นโรคที่อันตราย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมอาจ ทำให้ตาบอดได้ โดยทั่วไปการวินิจฉัยโรคต้อหินด้วยการตรวจตาและมุมตาด้วยกล้องพิเศษ วัดความดันตา และตรวจลานสายตา การรักษาต้อหินจะใช้ยาหยอดตาที่มีฤทธิ์ลดความดันตา ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่หลายชนิดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมแก่ผู้ป่วย สิ่งที่ต้องเน้นกับผู้ป่วยคือความสำคัญของการหยอดยาตามเวลาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับปกติตลอดเวลา แต่หากไม่สามารถควบคุมโรคด้วยยาหยอดตาแล้ว ผู้ป่วยจะต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อลดความดันตา

แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคต้อหินได้ แต่สามารถรักษาและควบคุมโรคเพื่อป้องกันภาวะตาบอดได้ หากวินิจฉัยโรคได้แต่เนิ่นๆ ดังนั้นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไปทุกราย จึงควรได้รับการตรวจตาและวัดความดันตาประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ควรได้รับการตรวจตาเร็วขึ้น

เพราะการเอาใจใส่สุขภาพแต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่าการปล่อยให้สุขภาพทรุดโทรมไปมากแล้วค่อยเริ่มหาวิธีรักษาในภายหลัง
-----------------------------------
กิจกรรมพิเศษศิริราช 119 ปี

เนื่องในโอกาสคล้ายวันพระราชทานกำเนิด รพ.ศิริราช ครบ 119 ปี ในวันที่ 26 เมษายน 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์ผู้พระราชทานกำเนิด รพ.ศิริราช และเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป จัดให้มีการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 65 ปี ขึ้นไป จำนวน 300 คน ในโครงการ “ฟังชัดเจนเห็นชัดแจ๋ว” ประกอบด้วย การตรวจตา ตรวจการได้ยิน ณ โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช แจกหนังสือสุขภาพแก่ผู้ร่วมงานเป็นที่ระลึก และสำหรับผู้ที่เกิดในวันที่ 26 เมษายน โดยนำบัตรประชาชนมาแสดงในงาน เปิดให้ชมพิพิธภัณฑ์ศิริราช ฟรี นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ทำความสะอาดรอบศิริราชร่วมกับชุมชน ในโครงการ “ชุมชนรอบศิริราช รวมพลังรักสะอาด รักษ์สิ่งแวดล้อม” ในวันที่ 23 เมษายน 2550 เวลา 08.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2419-7646-9
กำลังโหลดความคิดเห็น