xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อนรักเรียนรู้” สื่อชิ้นแรกเพื่อเด็กออทิสติก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีความเข้าใจผิดๆว่าเด็กออทิสติกเป็นปัญหาต่อสังคม และพัฒนาไม่ได้ แต่จากตัวอย่างที่ผ่านมาทำให้เราเห็นแล้วว่า เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมและกำลังใจที่ดี ดังนั้น บริษัทแปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัดและบ้านอุ่นรักจึงจับมือกันเพื่อสร้างสรรค์ พัฒนาหนังสือและสื่อการเรียนการสอนเพื่อเด็กพิเศษชิ้นแรกของเมืองไทย โดยใช้ชื่อว่า “เพื่อนรักเรียนรู้”

**เร่งแก้ไขความเข้าใจผิดๆ
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับสื่อการเรียนการสอนเพื่อเด็กพิเศษ สิ่งแรกที่ควรปรับเปลี่ยนคือ ทัศนคติเกี่ยวกับเด็กกลุ่มนี้

พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล อธิบายว่า เมื่อก่อนหากพูดถึงเด็กออทิสติกคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นกลุ่มเดียวกับเด็กพิเศษ อีกทั้งยังรวมเด็กที่เรียนรู้ช้า เด็กบกพร่องทางสติปัญญา และเด็กสมาธิสั้นไว้ในกลุ่มเดียวกันอีกด้วย แต่ในความเป็นจริง ทางการแพทย์ได้แบ่งเด็กเหล่านี้ออกเป็นกลุ่มอย่างชัดเจน มีทั้งเด็กที่มีพัฒนาการช้า ซึ่งอาจช้าเฉพาะด้าน หรือที่เรียกว่า LD เด็กที่ต้องดูแลพิเศษ คือเด็กพิการทางหูหรือตา เด็กสมาธิสั้น เด็กที่มีปัญหาเรื่องอารมณ์หรือพฤติกรรม เป็นต้น

กล่าวเฉพาะเด็กออทิสติกนั้น ต้องบอกว่า คือเด็กกลุ่มที่มีความต้องการในกระบวนการเรียนรู้ที่มีความเฉพาะไม่ได้แปลว่าเขาเรียนรู้ไม่ได้

สำหรับสถานการณ์ของเด็กออทิสติกไทยนั้น แม้ปัจจุบันจะดีขึ้นกว่าเดิมมากกว่า 70% แต่ก็ต้องบอกว่า ยังไม่ดีพอเพราะยังมีปัญหามากมายให้ต้องตามแก้ และที่น่าเป็นห่วงคือปัญหาเด็กออทิสติกขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสาเหตุ 2 ประการคือ

หนึ่ง-เมื่อก่อนไม่ได้บอกหรือไม่ได้เรียกเด็กกลุ่มนี้ว่าเป็น ออทิสติก แต่เมื่อคนทำความเข้าใจ มีความชัดเจนมากขึ้น จึงทำให้พบเด็กกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย

สอง-มีเด็กที่เป็นออทิสติกเพิ่มมากขึ้นจากการสำรวจ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ไทยเท่านั้น หากแต่ในหลายๆประเทศก็พบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

...และจากความเข้าใจผิดๆในศักยภาพของเด็ก และการเลี้ยงดู เป็นเหตุให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ซึ่งต้องบอกว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือความเข้าใจของครอบครัว

“พ่อแม่ส่วนใหญ่เจ็บปวดและยากที่จะยอมรับว่าลูกเป็นออทิสติกและคิดว่าเป็น จุดด้อย เช่นผมเคยพบกรณีหนึ่งคือมีเด็กออทิสติกถูกล่ามโซ่ไว้ พ่อเสียชีวิต แม่เป็นโรคเอดส์ โดยที่เด็กมีอายุ 15 ปีแล้ว แต่ยังไม่พูดเลย แต่ที่น่าดีใจคือมูลนิธิคุณพุ่มทำให้พ่อแม่กล้าเปิดเผยว่าลูกเป็นออทิสติกมากขึ้น”ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานศูนย์ประสานงานมูลนิธิคุณพุ่ม และประธานมูลนิธิออทิสติกไทยเล่าให้ฟัง

**สื่อเพื่อเด็กออทิสติกไทย
ทีนี้ ก็มาถึงรายละเอียดและที่มาที่ไปของ “เพื่อนรักเรียนรู้”สื่อการเรียนการสอนเพื่อเด็กพิเศษชิ้นแรกของเมืองไทย

นิสิตา ปีติเจริญธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการของเด็กออทิสติกบ้านอุ่นรัก บอกว่า สื่อชุดนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1.เพื่อสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษและใช้เป็นคู่มือในการฝึก 2.เพื่อผลิตหนังสือและสื่อที่มีราคาไม่แพงเพื่อเด็กกลุ่มนี้ 3.เพื่อช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้คนในสังคมไทยให้ความสำคัญและมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการช่วยเหลือ

ทั้งนี้ สื่อดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทหนังสือแบบฝึก และสื่อเสริมทักษะและพัฒนาการ

สำหรับแนวคิดการสอนที่นำมาออกแบบมี 4 แนวคิดคือ 1.ใช้หลักการวิเคราะห์งานคือ การวิเคราะห์และย่อยเนื้อหาการสอนออกเป็นขั้นตอน เริ่มจากง่ายที่สุดและเพิ่มความซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับ ให้เด็กประสบความสำเร็จไปทีละขั้น 2.การเรียนรู้ผ่านสายตาคือ การใช้ภาพและคำศัพท์เพื่อสื่อภาษา โดยเฉพาะเด็กที่มีปัญหาด้านการฟังและจูงใจเด็กที่ขาดสมาธิ 3.การชี้แนะคือกระตุ้นด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้เด็กตอบสนอง เช่น ใช้ภาพ คำศัพท์ สี และเส้นเป็นตัวชี้นำ และเมื่อเด็กเรียนรู้แต่ละขั้นแล้วจะลดการชี้นำลง 4.การแผ่ขยายคือ การเชื่อมโยงและต่อยอดจากสภาพการณ์ที่คล้ายคลึงกับสิ่งที่เคยเรียนรู้ไปจนเด็กสามารถทำเองได้

จากเหตุผลทั้งหมดจึงทำให้ “เพื่อนรักเรียนรู้” เหมาะสำหรับเด็กกลุ่มพิเศษที่ไม่สามารถเริ่มต้นเรียนรู้จากแบบฝึกที่มีอยู่ทั่วไป นอกจากนั้นเด็กจะได้ลงมือทำไปพร้อมกับเพื่อนๆ ในห้องเรียน และได้เรียนรู้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง โดยสื่อชุดนี้ยังจะช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดระหว่างเด็ก กับพ่อแม่ หรือครูอีกด้วย

ที่สำคัญคือสื่อชุด “เพื่อนรักเรียนรู้” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้กับเด็กออทิสติกเท่านั้น แต่ยังเหมาะสำหรับเด็กเล็กที่เริ่มเรียนรู้ เด็กที่บกพร่องทางการได้ยิน เด็กสมาธิสั้น เด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา เด็กที่มีพัฒนาการพูดช้า และเด็กเรียนรู้ช้า

“แบบฝึกหัดที่ให้จับคู่ภาพนั้นขายแนวคิด ครูสามารถนำไปต่อยอดได้ ส่วนสมุดภาพกระตุ้นการพูดมีจุดเด่นสามข้อคือ มีอุปกรณ์จูงใจฝึกกระตุ้นให้พูด จากที่พูดเป็นคำๆเด็กจะสามารถคิดเป็นประโยค และพูดต่อเป็นประโยคได้” อ.นิสิตาสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น