xs
xsm
sm
md
lg

เคล็ดลับก่อนส่งลูกเข้า “ร.ร.อินเตอร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่ยอมรับกันในระดับสากลว่า ภาษาอังกฤษได้กลายเป็นภาษาสากลที่ทั่วโลกใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาให้เกิดความถ่องแท้ในภาษาดังกล่าวในยุคปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องจำเป็น และวิธีการศึกษาภาษาอังกฤษที่ดีวิธีหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองที่พอจะมีกำลังความสามารถทำกันนั้นคือการส่งลูกไปเรียนในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก

แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่อยากให้ลูกได้ปูพื้นฐานภาษาอังกฤษแต่เล็ก และบางส่วนไม่อยากให้ลูกไปไกลหูไกลตา โรงเรียนนานาชาติหรือที่รู้จักกันในนามของ "โรงเรียนอินเตอร์" จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

รู้จักร.ร.นานาชาติเมืองไทย

วิรัตน์ แสงทองคำ ได้เคยเขียนและให้ข้อมูลไว้ในนิตยสารผู้จัดการเกี่ยวกับสภาพโดยทั่วไปของโรงเรียนนานาชาติว่า โรงเรียนนานาชาติในไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน

กลุ่มที่หนึ่ง-กลุ่มนี้ถือเป็นโรงเรียนนานาชาติที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มแรกในประเทศไทย ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เรียนหนังสือ โดยในระยะแรกจะสอนตามหลักสูตรอังกฤษ แต่มาระยะหลังมีการเปลี่ยนแนวทางโดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ระบบการศึกษาแบบอเมริกัน เมื่อสังคมไทยมีความผูกพันกับสหรัฐฯมากขึ้น

ปัจจุบันโรงเรียนเหล่านี้ ให้ความสนใจเปิดรับบุคคลภายนอกอย่างเต็มที่ และถือเป็นกลุ่มโรงเรียนที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญอันดับต้นๆ ถือเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนเกิน 1,000 คน

กลุ่มที่สองคือ โรงเรียนเครือข่ายของโรงเรียนชั้นนำของอังกฤษ เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งปัจจุบันมี 4 แห่งด้วยกัน และต้องถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่งเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาที่โรงเรียนเก่าแก่ของอังกฤษเลือกที่จะเปิดตลาดโดยตรงนอกสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกที่เมืองไทย

กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มโรงเรียนใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญในการจัดการระบบการเรียนการสอน สถานที่และครูอาจารย์ ในมาตรฐานที่ใกล้ เคียงโรงเรียนต่างชาติ ซึ่งเกิดขึ้นจากกระแสของสังคมไทยที่นิยมส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น

ทั้งนี้ จากตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่า ในปีพ.ศ.2548 มีโรงเรียนนานาชาติได้รับอนุญาตให้จัดตั้งจากกระทรวงศึกษาธิการทั้งสิ้น 93 โรงเรียน อยู่ในกรุงเทพมหานคร 67 โรงเรียน และส่วนภูมิภาค 26 โรงเรียน

ในจำนวนนี้เป็นทั้งโรงเรียนนานาชาติที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลแต่เดิมจำนวน 5 โรง และโรงเรียนเอกชนที่เพิ่งเปิดใหม่อีกจำนวน 88 โรง มีครูประมาณ 2,500 คน และนักเรียนประมาณ26,000 คน

สำหรับค่าธรรมเนียมการเรียนเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 102,000-500,000 บาทต่อปีโดยมีหลักสูตรการเรียนการสอน 11 ประเภท อาทิ หลักสูตรจากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ แคนาดา เยอรมนี ออสเตรเลีย ฯลฯ

เผยเคล็ดลับเลือกโรงเรียนอินเตอร์

เมื่อทราบถึงข้อมูลพื้นฐานแล้ว คราวนี้ก็คงต้องมาตรวจสอบกันว่า จะเลือกโรงเรียนนานาชาติอย่างไรถึงจะเหมาะสม เนื่องจากในยุคนี้มีโรงเรียนนานาชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นที่เปิดมาเก่าแก่หรือที่เปิดใหม่พร้อมคำโฆษณาต่างๆ มากมาย กระทั่งทำให้ผู้ปกครองเกิดความสับสนว่าควรจะเริ่มต้นที่ตรงไหนในการหาข้อมูลโรงเรียนนานาชาติให้แก่บุตรหลาน ทั้งยังมีคำถามผุดขึ้นในใจอีกไม่น้อยในทำนองที่ว่า ...จำเป็นต้องส่งบุตรหลานของตนเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือไม่ ... เมื่อส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติแล้วจะเกิดปัญหาหรือเปล่า รวมถึงเมื่อมีโรงเรียนนานาชาติเกิดขึ้นมาอย่างมากมายนั้นในฐานะผู้ปกครอง จะมีวิธีเลือกโรงเรียนเหล่านี้อย่างไร

พญ.สุวิมล ชีวมงคล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ระบุว่าสาเหตุหนึ่งที่พ่อแม่ เลือกให้ลูกเรียนในโรงเรียนนานาชาตินั้น ก็เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสฝึกทักษะภาษาอังกฤษมากกว่าโรงเรียนทั่วไป เนื่องจากการเรียนการสอนส่วนใหญ่ในโรงเรียนนานาชาติจะใช้ภาษาอังกฤษ ทำให้เด็กนักเรียนจะมีโอกาสพัฒนาทักษะทางภาษามากกว่า

แต่ในความเป็นจริงคือ พ่อแม่น้อยคนนักที่จะรู้ข้อมูลเรื่องระบบหลักสูตรที่ทางโรงเรียนนำมาใช้ อย่างหลักสูตรล่าสุดที่ทางโรงเรียนนานาชาตินำมาใช้ก็คือ IB Programmes (The international Baccalaureate Programmes) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่นำมาจากยุโรป หลักสูตรนี้จะเน้นกระบวนการที่ให้เด็กได้เรียนรู้ตามช่วงพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ช่วงคือ ช่วงอายุ 3-12ปี 11-16ปี และ16-19ปี

ส่วนหลักสูตรของสหรัฐอเมริกาจะเด่นทางด้านการสร้างความรู้โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ สู่การเรียนรู้ของเด็ก เป็นต้น ซึ่งหากพ่อแม่มีความสนใจจะให้ลูกเข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติแล้ว ข้อมูลในส่วนนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องหามาศึกษาเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ

สำหรับข้อดีที่เห็นชัดที่สุดของการเรียนโรงเรียนนานาชาติข้อหนึ่งคือ นอกจากโรงเรียนจะเป็นที่ที่มีคนจำนวนมากทั้งครูและนักเรียนอยู่จนกลายเป็นสังคมเล็กๆ ที่นักเรียนจะเข้ามาเรียนรู้แล้ว โรงเรียนนานาชาติจะมีความหลากหลายกว่าโรงเรียนธรรมดาทั้งในประเด็นของภาษาที่ใช้ภาษาที่สองในการเรียนการสอน,ในประเด็นของความหลากหลายทางเชื้อชาติของนักเรียนที่อาจจะเป็นเด็กต่างชาติ ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้เกิดความหลากหลายในสังคมมากขึ้นทำให้เด็กรู้จักการยืดหยุ่นและการปรับตัว

อย่างไรก็ตาม ยังมีพ่อแม่บางส่วนที่มีความกังวลว่าหากส่งลูกไปศึกษาในโรงเรียนนานาชาติแล้ว จะไม่สามารถพูดกับพ่อแม่ได้รู้เรื่อง กลัวว่าลูกจะรับวัฒนธรรมต่างชาติจากที่โรงเรียนมาจนสูญเสียวัฒนธรรมไทย กลัวลูกติดภาษาอังกฤษจนไม่พูดภาษาไทยเลย

“จุดนี้ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเพราะหากคุณพ่อคุณแม่ได้ปลูกฝังทั้งทางด้านภาษาแม่และการเรียนรู้ของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งอายุ 4ขวบซึ่งในช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของเด็กในการรับรู้และเรียนรู้ หากคุณพ่อคุณแม่เตรียมเด็กได้แล้วในช่วงนี้ ตัวเด็กเองก็จะสามารถที่จะจดจำและรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีจากกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กได้รับ” พญ.สุวิมลอธิบาย

ขณะเดียวกันก็ย้ำถึงสิ่งสำคัญของข้อควรคำนึงก่อนส่งลูกไปเรียนโรงเรียนนานาชาติว่า ผู้ปกครองต้องดูถึงพัฒนาการของเด็กด้วยว่าเด็กมีความพร้อมหรือไม่ ที่จะเรียนรู้ภาษาหลายภาษาพร้อมๆ กัน รวมทั้งการที่ต้องอยู่ร่วมกับเพื่อนๆชาวต่างชาติ

"โดยปกติแล้วเด็กสามารถที่จะแยกแยะความแตกต่างเหล่านี้ได้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว หากเมื่อคุณพ่อคุณแม่ส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติแล้ว พบว่าเด็กมีการตอบสนองระหว่างการสนทนาช้า ก็ไม่ต้องเป็นกังวลนักเพราะเด็กยังอยู่ในช่วงของการแยกแยะว่าควรที่จะตอบสนองอย่างไรเมื่ออยู่กับพ่อแม่ และอย่างไรเมื่ออยู่ที่โรงเรียน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยเด็กด้วยอย่างเรื่องภาษาเพื่อต้องการให้เด็กมีพื้นฐานภาษาแม่ที่เป็นภาษาไทยตามที่พ่อแม่ใช้ เมื่อลูกกลับมาจากที่โรงเรียนแล้วก็ต้องพูดภาษาไทยกับลูก หรือสอนให้ลูกเขียนภาษาไทย"

กุมารแพทย์รพ.สมิติเวช ให้ข้อคิดต่ออีกว่า การเลือกโรงเรียนนานาชาติก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะนอกจากหลักสูตรที่มีอยู่หลายหลักสูตร ที่ทางโรงเรียนนั้นๆ เลือกใช้ การดูว่าโรงเรียนนั้นได้รับการรับรองมาตรฐานตามมาตรฐานโรงเรียนนานาชาติสากลหรือไม่ ก็เป็นสิ่งสำคัญ หรือดูว่าทางกระทรวงศึกษาให้การรับรองแล้วหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบดูว่าโรงเรียนนั้นสามารถสอบเทียบเพื่อไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้หรือไม่ อย่างโรงเรียนนานาชาติบางแห่งนั้นยังไม่ได้รับการรับรองหลักสูตรที่สามารถให้เด็กที่จบออกมาสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยได้




คัมภีร์เล็กๆ ก่อนพาลูกเข้าอินเตอร์

1. คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมลูกให้มีความพร้อมในช่วงวัยแรกเกิดถึงสี่ขวบ เพราะเป็นช่วงที่สำคัญในการกำหนดตัวตนของเด็กว่าเป็นใคร เพราะหากขาดจุดนี้เด็กอาจเกิดความสับสนในตัวตนของเด็กว่าเขาเป็นใคร เช่น ทำไมเมื่ออยู่ที่บ้านพ่อแม่หรือคนรอบข้างพูดภาษาไทย แต่เมื่ออยู่ที่โรงเรียนกลับใช้ภาษาอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เด็กอาจเกิดความสับสนในความแตกต่างนี้

2. ต้องดูถึงความจำเป็นว่าจำเป็นต้องให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือไม่

3.ดูถึงความพร้อมทางด้านการเงิน

4.ดูข้อมูลต่างๆของทางโรงเรียนว่าเป็นอย่างไร ใช้หลักสูตรของประเทศใด โรงเรียนนั้นได้รับมาตรฐานหรือไม่ เป็นต้น

5. คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะไปดูสภาพของโรงเรียนนั้นด้วยตัวเองหลายๆครั้งก่อนเพื่อดูว่าหากลูกต้องมาเรียนที่โรงเรียนนี้คุณพ่อคุณแม่รับได้หรือไม่

6. หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกยังคง “ความเป็นไทย” เมื่อเด็กอยู่ที่บ้านควรที่จะพุดภาษาไทยเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับลูกของตน

กำลังโหลดความคิดเห็น