xs
xsm
sm
md
lg

เรือบรรทุกน้ำตาลล่ม-โรงงานปล่อยน้ำเสียสาเหตุปลาเจ้าพระยาตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมชลฯ คาด ปลาในกระชังแม่น้ำเจ้าพระยาตายจำนวนมาก อาจมาจากทั้งเรือบรรทุกน้ำตาลล่มกลางแม่น้ำเจ้าพระยา และโรงงานปล่อยน้ำเสีย ระบุ ค่าออกซิเจนบริเวณปลาตายต่ำมาก แค่ 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่สัตว์น้ำอยู่ได้ค่าออกซิเจนต้องไม่ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร สั่งระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มช่วยเจือจางน้ำเสียให้มีคุณภาพดีขึ้น ด้านอธิบดีกรมอนามัย เผย ปลาตายจำนวนมากเพราะช็อกขาดออกซิเจน

นายบุญสนอง สุชาติพงศ์ วิศวกรชลประทาน 9 และโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์ปลาในกระชัง และปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาตายเป็นจำนวนมากในเขตอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง นั้น กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานอ่างทอง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสำรวจสภาพความเสียหายแล้ว ปรากฏว่า สาเหตุการตายของปลาเกิดจากน้ำเน่าเสีย ซึ่งจากการวัดค่าออกซิเจนในน้ำ หรือค่า DO (Dissolve oxygen) บริเวณที่มีปลาตายวัดค่าได้ 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งในภาวะปกติคุณภาพของน้ำในการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำจะมีค่า DO ไม่ต่ำกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ สาเหตุอาจจะมาจากเรือบรรทุกน้ำตาลหนัก 650 ตัน ล่มกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณวัดท้องคุ้ง ตำบลโพสะ อำเภอเมืองอ่างทอง เหนือบริเวณที่เกิดปลาตายประมาณ 9 กิโลเมตร ทำให้น้ำตาลละลายปนเปื้อนอยู่ในแม่น้ำเป็นจำนวนมาก และอีกสาเหตุหนึ่งอาจจะเกิดจากที่โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในบริเวณนั้นปล่อยน้ำเสียลงมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการหาสาเหตุการเน่าเสียที่แน่ชัดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอ่างทอง

นายบุญสนอง กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้น กรมชลประทานได้ทำการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากเดิม 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อช่วยเจือจางน้ำที่เน่าเสียให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ได้ประสานกับประมงจังหวัดอ่างทอง ให้แจ้งเตือนเกษตรกรให้ระมัดระวังในการเลี้ยงปลาในกระชัง เนื่องจากช่วงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านไม่มาก อาจจะส่งผลกระทบต่อปลาในกระชังได้ ได้ขอให้ประมงจังหวัดตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าบริเวณใดมีคุณภาพน้ำไม่ดีและอาจเกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำตามธรรมชาติ ขอให้แจ้งกรมชลประทานทราบด้วย เพื่อจะได้เร่งระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มเติมลงไปช่วยเจือจางน้ำเน่าเสียต่อไป

ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปริมาณออกซิเจนในน้ำเมื่อลดลงกะทันหัน ปลาจะเกิดภาวะช็อกจนตายจำนวนมาก หากกรณีนี้เกิดจากมีน้ำตาลลงสู่แม่น้ำจำนวนมาก จะไม่มีผลกระทบต่อคนในการนำน้ำไปอุปโภคบริโภค ควรกรองและต้มให้สุกก่อน การที่คนลงน้ำในบริเวณที่น้ำตาลละลายก็ไม่มีอันตราย เพราะไม่เกิดภาวะเป็นกรดเป็นด่าง อย่างไรก็ตาม ความเข้มข้นของน้ำตาลในน้ำจะค่อยๆ เจือจางใน 2-3 วัน หากประชาชนจะนำปลาตายมาบริโภคต้องปรุงให้สุก ไม่บริโภคเครื่องในปลาพวกกระเพาะ ไข่ปลา แต่หากหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ควรบริโภคปลาดังกล่าว ควรช้อนขึ้นมาฝังกลบทำลาย เพื่อไม่ให้น้ำเน่าเสีย สำหรับปลาตายจำนวนมากดังกล่าว กรมอนามัยเก็บตัวอย่างปลาส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น