เรื่องราวของ “อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์” หรือ “สมิทธ” หนุ่มน้อยวัย 19 ปีผู้นี้มีความน่าสนใจไม่น้อย ทั้งเรื่องราวในตำแหน่งประธานสภาเยาวชน กทม.คนล่าสุดที่เขาชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น รวมทั้งแนวความคิดและความฝันที่ต้องบอกว่า “สุดยอด” ชนิดที่ผู้ใหญ่หลายคนอ่านแล้วอดที่จะทึ่งไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นความฝันที่เขาอยากจะได้รับรางวัลโนเบล หรือแนวความคิดต่อบ้านเมืองในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง
และต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
- เหตุที่ตัดสินใจลงเลือกตั้งเป็นประธานสภาเยาวชนกทม.?
ที่ผ่านมาผมเคยทำงานมาในตำแหน่งรองประธานสภาเยาวชนกทม.ก็คิดว่าตัวเองมีความพร้อมเต็มที่ที่จะทำงานตรงนี้ สำหรับแผนงานตลอดการทำงานในวาระ 3 ปี ผมจะมุ่งเน้นการลงชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ผมจะสร้างทีมงานขึ้นมา 3 ทีมคือ 1.ทีมเฝ้าระวัง ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายนักเรียนเด็กม.ปลายฐานะปานกลาง ในเขตกทม. โดยเด็กที่เป็นเครือข่ายก็จะต้องหาข้อมูลในโรงเรียนของตนเองจากนั้นก็จะนำข้อมูลที่ได้มาแบ่งปันข้อมูลกันระหว่างโรงเรียนต่างๆ หลักๆ เช่นเรื่องวันวาเลนไทน์ การติดเหล้า บุหรี่ และการพนัน และเมื่อมีการเสวนาในเรื่องนั้นๆ ผมก็จะให้เด็กที่ทำเรื่องนี้เข้าไปแสดงความคิดเห็นให้สังคมได้รับรู้ 2.ทีมวิจัย ขณะนี้มีโครงการร่วมกับเอแบคโพลล์ในการลงชุมชนต่างๆเพื่อเรียนรู้ปัญหาและความต้องการของเด็กและเยาวชนในกทม.ซึ่งเป็นกลุ่มระดับล่าง และ 3.ทีมผู้สื่อข่าวที่จะไปเก็บข้อมูลสัมภาษณ์เชิงลึก โดยผมจะสร้างทั้ง 3 ทีมนี้ขึ้นมาให้ได้ภายในเดือนมีนาคม
ส่วนอีกแผนคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงที่ในการทำโครงการทุกๆ โครงการจะต้องยึดตามแนวทางนี้ เพราะผมเห็นว่าถ้าเรานำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ให้ถูก ให้เป็นก็จะดีมากๆ มันเปรียบเทียบได้กับทฤษฎีฝรั่ง Risk Management หรือการบริหารความเสี่ยง แต่มันเหนือไปอีกขั้นคือการจะทำยังไงให้คนบริหารความเสี่ยงอย่างยั่งยืนคือต้องใช้คุณธรรมนำซึ่งหมายถึงการทำงานทุกอย่างต้องประมาณตน ประมาณงานให้ได้ว่าเรามีกำลังเท่าไหร่ เราจะให้น้ำหนักกับมันได้เท่าไหร่ การดูรอบๆ เมื่อตัวงานเสร็จสิ้นมีผลกระทบอะไรกลับมาบ้าง คิดอย่างมีเหตุมีผล มองทั้งด้านดีและไม่ดี และหากเกิดผลที่คาดไม่ถึงเราจะบริหารผลกระทบที่ได้รับนั้นอย่างไร
ตอนนี้เราได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่จะมาให้ความรู้ในเรื่องนี้
ผมคิดว่า สภาเยาวชนจะต้องเป็นหน่วยงานที่สามารถคุยกับผู้ใหญ่ได้แล้วผู้ใหญ่ฟัง และต้องเป็นส่วนหนึ่งกับเด็ก ซึ่งผมตั้งเป้าจะสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กให้มากที่สุดโดยปีนี้จะตั้งเป้า 10,000 คน ในการทำงานใน 1 ปี ปีที่ 2 อาจเพิ่มเป็นแสนคน
- ทราบว่าสนใจเรื่องพุทธเศรษฐศาสตร์ด้วย?
พูดง่ายๆก็คือ เศรษฐศาสตร์ที่เป็นอุดมคติที่สุดเพราะมีเงื่อนไขที่เป็นไปไม่ได้ 1 ข้อคือ ทุกคนต้องมีข้อมูลเท่ากันมีความรู้เท่ากัน มีการแข่งขันที่สมบูรณ์ในตลาดที่สมบูรณ์ซึ่งในความเป็นจริงของโลกใบนี้เป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีการวัดผลออกมาเป็นตัวเลข แต่เศรษฐศาสตร์จะวัดออกมาเป็นตัวเลขจีดีพี อันนี้จะไม่มี อีกทั้งเครื่องมือในการวัดยังพัฒนาไม่เต็มที่ที่จะสามารถวัด และแปรผลออกมาเป็นตัวเลขซึ่งผมคิดว่าบางทีก็ไม่จำเป็นต้องแปรเพียงแค่ใช้ความเข้าใจ สามัญสำนึกเอาก็จะรู้เพราะส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่อยู่กับตัวคนเป็นเศรษฐศาสตร์ที่วัดจากตัวบุคคล วัดจากสังคม วัดจากความเป็นจริงว่า เช่น เมื่อคุณใช้เงินเยอะๆ อยู่คนเดียวในหมู่บ้าน แต่คนในหมู่บ้านก็ไม่มีความสุขไปกับคุณด้วย แล้วคุณเองก็จะโดดเดี่ยวในหมู่บ้านนั้นแต่ถ้าคนในหมู่บ้านคุณฐานะใกล้เคียงกันมันก็จะมีการสมาคมในหมู่บ้านเกิดการแลกเปลี่ยน เกิดการช่วยเหลือกัน หมู่บ้านคุณก็จะไปได้
ตอนนี้กำลังคุยกับเพื่อนๆสถาบันอื่นๆอยู่เพื่อจะลองดูว่าพุทธเศรษฐศาสตร์ (Sufficient Economy Real Life Economic) ซึ่งยังไม่มีสอนในเมืองไทยถือเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสรองซึงพวกผมกำลังหาวิธีการที่จะทำยังไงให้มีการเรียนเรื่องนี้ด้วยในหลักสูตรเศรษฐศาสตร์ทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้นก็จะเริ่มจากเครือข่ายของผมที่ตั้งเป็น Econ Club โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาคมนักเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย หากเป็นไปได้ผมก็จะผลักดันให้เป็นหลักสูตรแต่ต้องดูระหว่างทางด้วยเพราะสังคมเราตอนนี้มีทุนนิยมเป็นเศรษฐศาสตร์เป็นกระแสหลัก
- อยากทราบแนวคิดที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้?
ผมว่าการเมืองอยู่ในจุดที่ทุกคนต้องใจเย็น รอ...รอให้ส.ส.ร.สนช.ได้ทำงานอย่างมีเสถียรภาพ เพราะถ้าเราไปกดดันมากขึ้นเท่าไหร่ การทำงานก็จะช้าลงเท่านั้น เมื่อมีประเด็นที่ไม่ดีเกิดขึ้น ให้หาข้อมูลก่อนออกไปพูด เพราะถ้าเราออกไปพูดเยอะๆ ช่วงนี้ก่อน ก็จะก่อให้เกิดความแตกแยกมากกว่าจะสร้างผลดี รวมถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติก็จะหายไป
- ถ้าจะเสนอกฎหมายต่อ สสร.จะเสนอประเด็นใด?
อยากเสนอให้มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับกิจกรรมของเยาวชนโดยตรงแล้วมีการทำงานเป็นองค์กรอิสระภายใต้ความดูแลของรัฐไม่ใช่องค์กรราชการเพื่อรองรับกิจกรรมพิเศษต่างๆ รวมทั้งสร้างรายได้ให้แก่เยาวชน รวมถึงการให้ความสำคัญจริงๆ ต่อการศึกษาเสียทีเพราะที่ผ่านมามันล้มเหลว ผมเห็นด้วยกับการปฏิรูปการศึกษาแต่ผมไม่เห็นด้วยกับผลที่มันเกิดขึ้น เพราะปฏิรูปกันมาเป็น 20 ปีก็ยังเหมือนเดิมก็แสดงว่าไม่ได้ปฏิรูป
- ถ้ามีโอกาสเข้าไปบริหารงานในตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการจะทำอย่างไร?
ผมจะบอกว่าภาคปฏิบัติให้มีการประเมินผลโดยที่ไม่มีผักชีโรยหน้า รวมถึงการลงทุนให้ถึงเด็กไม่ใช่ลงทุนให้ถึงโรงเรียน ทำยังไงให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากจะเรียน ไม่ใช่ต้องเรียนทุกอย่างที่ผู้ใหญ่อยากจะสอนเมื่อเด็กมีความต้องการจะเรียนอีกสาขาที่ที่โรงเรียนไม่มีสอนโรงเรียนจะทำยังไงเพื่อสนับสนุนสิ่งที่เด็กต้องการเพราะคนทุกคนไม่สามารถเก่งทุกเรื่องได้แต่การที่จะสร้างเด็กให้มีคุณภาพได้ไม่ใช่เราอัดวิชาการในทุกเรื่องไปแต่เราควรจะอัดในเรื่องที่เขาอยากจะได้ รวมถึงเรื่องที่เขาควรจะรู้มากกว่า
- รู้สึกอย่างไรกับคำพูด ENOUGH IS ENOUGH ของอดีตนายกฯ ทักษิณ?
ถ้าจะพูดในนามของธุรกิจ มองว่า ENOUGH IS ENOUGH ในความหมายของคุณทักษิณคงมองแค่มุมเดียวว่า ถ้าเราหยุดมันก็ไม่เดินทุกอย่างจบ ผมว่าท่านคงเรียนไม่พอว่าความพอประมาณมันคืออะไร เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร เพราะพอเพียงไม่ใช่การอยากได้อยากมีเพิ่ม เพราะการอยากได้อยากมีเพิ่มเป็นการอยากได้อยากมีเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างถล่มทลายเพื่อจะสร้างผลิตภัณฑ์วัตถุดิบต่างๆขึ้นมา รู้ไหมว่าจะทำลายโลกในระยะยาว ลูกหลานไม่มีที่อยู่ ทุกคนก็จะเครียด แล้วในที่สุดปรากฏว่าทุกคนเกิดมาเพื่ออยู่หาเงินแล้วตายก็แค่นั้น
แต่ความพอประมาณคือคุณทำเท่าที่คุณไหว แล้วคุณก็ใช้ชีวิตของคุณให้มีสุข ใช้ความสุขเป็นตัวนำ มีความขยัน มีความอดทนสู้งานคุณก็รวยได้เช่นกัน แต่อย่ารวยอย่างทะเยอทะยานมากเกินไป พอประมาณกับตัวเองซะบ้างชีวิตก็จะมีความสุข สำหรับความสุขของผมคือการได้ทำงานทุกวันแค่นี้ครับ
- ความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตคืออะไรภาคภูมิใจ?
ผมจำได้ไม่มีวันลืมเลยคือวันที่มีโอกาสได้ถวายรายงานส่วนนิทรรศการเศรษฐกิจพอเพียงแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการเด็กไทย...รักในหลวง ในการจัดพระราชพิธีครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวง ระหว่างที่ถวายรายงาน พระองค์ท่านตรัสถามว่าผมเรียนที่ไหน คณะอะไร ผมตอบว่าคณะเศรษฐศาสตร์ ม.กรุงเทพ จากนั้นพระองค์ท่านได้ตรัสถามว่าคิดยังไงกับจีดีพี
ผมก็บอกว่ามันวัดการกระจายรายได้ไม่ได้ วัดของความเจริญก็ยังไม่ได้ เพราะจีดีพีฝรั่งถ้ารวยในเมืองไทยก็นับ ต่อมาพระองค์ทรงหันกลับไปหาตัวแทนรัฐบาลที่ตามเสด็จวันนั้นแล้วตรัสโดยมีใจความว่าเด็กยังรู้เลยว่าจีดีพีวัดไม่ได้ ท่านน่าจะหาวิธีอื่นวัดได้นะ ตรงนั้นผมก็ดีใจ พระองค์ท่านทรงรู้อยู่แล้ว แต่พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้เด็กพูดให้ผู้ใหญ่ได้ฟังว่าทุกคนน่าจะรู้ว่าการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจมันไม่ได้วัดว่าคนไทยมีความสุข เราจะเกิดมาเพื่อเป็นเครื่องจักรในการหาเงินเหรอ ก็ไม่ใช่จริงไหมครับ
- สุดท้ายมองอนาคต ของตัวเองไว้อย่างไร?
ผมอยากได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ หัวใจของเศรษฐศาสตร์คือจะทำยังไงให้คนรู้ว่าเศรษฐศาสตร์มันไม่ยาก ตรงจุดนั้นถ้าผมมีไอเดียที่จะทำได้ผมก็เหมาะสมที่จะได้รางวัลโนเบล ซึ่งตอนนี้ก็มีแล้วคือการจะทำยังไงให้คนส่วนใหญ่เรียนพุทธเศรษฐศาสตร์และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องเรียนจากตำรา สามารถเรียนรู้ได้เองจากกระดาษ 2-3 แผ่น แต่เขาใช้ได้ ไม่ต้องเป็นทฤษฎีหนาเป็นปึก แต่ทั้งนี้คงต้องกลั่นกรองไปอีกเยอะแต่ผมก็จะทำเต็มที่ส่วนได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง