xs
xsm
sm
md
lg

พบ “นกพงปากยาว” หลังเชื่อสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 139 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักปักษีวิทยา พบนกพงปากยาว ที่โครงการแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี หลังเคยมีรายงานค้นพบครั้งแรกที่อินเดีย เมื่อ 139 ปีก่อน และเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว เตรียมศึกษาวงจรชีวิตเพิ่มเติมเริ่มจากอินเดีย พม่า ไทย

ผศ.ฟิลลิป ดี ราวด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนก จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงว่า ได้มีการค้นพบนกพงปากยาว (Large-billed Reed Warbler ; Acrocephalus orinus) ในประเทศไทย หลังจากก่อนหน้าเมื่อ 139 ปี ได้ถูกค้นพบนกดังกล่าวครั้งแรกที่ตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และยังมีเพียงตัวอย่างเดียวที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่อินเดีย ครั้งนี้ถือเป็นการพบนกโดยบังเอิญ เพียง 1 ตัวจากการติดห่วงใส่ขานกอพยพ และนกประจำถิ่นที่ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จากโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี

ผศ.ฟิลลิป กล่าวต่อว่า นกที่พบมีรูปร่างแปลกจากนกทั่วไป เป็นนกตัวเล็ก มีสีน้ำตาล แต่กลับมีปากยาว 20.6 มิลลิเมตร น้ำหนักเพียง 9.5 กรัม ปีกยาว 64 มิลลิเมตร และหางยาว 16-18 มิลลิเมตร โดยตั้งสมมติฐานว่า มีลักษณะคล้ายนกพงปากยาวที่เคยมีรายงานเมื่อ 139 ปีที่อินเดีย จึงเก็บขนหางจำนวน 2 เส้น นำไปสกัดดีเอ็นเอ ส่งตรวจเปรียบเทียบกับตัวอย่างนก และได้รับการยืนยันว่า เป็นนกพงปากยาวชนิดเดียวกับที่เคยพบในอินเดีย ถือว่าสร้างความตื่นเต้น และเป็นเรื่องที่แปลกมากในวงการนักปักษี เพราะก่อนหน้านั้น เคยเชื่อว่า สูญพันธุ์ไปแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญด้านนก กล่าวว่า การประเมินจากดีเอ็นเอ คาดว่า อาจมีนกชนิดนี้อยู่ไม่เกิน 40 ตัว ในเขตพื้นที่อินเดีย พม่า และไทย ดังนั้น ทางทีมวิจัยเตรียมศึกษาเพื่อตามรอยนกตัวนี้ เพื่อให้รู้ถึงพฤติกรรม นิเวศวิทยา ชีววิทยาการสืบพันธุ์ รวมทั้งขอบเขตการกระจายตัวของกลุ่มประชากร เนื่องจากปริศนาเรื่องพื้นที่ทำรังวางไข่และพื้นที่พักพิงในฤดูหนาวยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการมีตีพิมพ์ผลงานวิจัยเผยแพร่ในวารสารนานาชาติ Journal of Avian Biology 2007 โดย Philip D. Round, Bengt Hansson, David J. Pearson, Peter R. Kennerley and Staffan Bensch อีกทั้งยังมีการแถลงข่าวพร้อมกับประเทศไทย ในประเทศอังกฤษ และอินเดียด้วย เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น