“วันนี้เราดีใจมากๆ ที่พวกเรามีบ้านเป็นของตัวเองสักที ตอนแรกที่ไฟไหม้คิดว่าคงหมดตัวแล้ว ทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ก็ไม่เหลือ ที่ดินก็ไม่ใช่ของเรา มาวันนี้ทุกอย่างเหมือนฝัน เรามีบ้านมีชุมชนที่มั่นคง ต่อไปนี้เราสามารถบอกคนภายนอกได้อย่างเต็มปากว่าพวกเรามีบ้านมีชุมชนไม่ได้อยู่สลัมหรือชุมชนแออัดเหมือนแต่ก่อน”
นี่คือความรู้สึกของชาวชุมชนสวนพลูที่วันนี้พวกเขาต่อสู้จนสามารถสร้างบ้าน สร้างชุมชนให้เป็นของตัวเองได้ หลังจากผ่านเหตุการณ์ฝันร้ายไฟไหม้ชุมชนครั้งใหญ่เมื่อเดือนเมษายน ปี 2547 แต่กว่าจะมีวันนี้ได้พวกเขาต้องร่วมแรงร่วมใจสร้างบ้านสร้างชุมชนเป็นเวลากว่า 3 ปี
ชุมชนสวนพลู ตั้งอยู่ในเขตสาทร เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่บนที่ดินของกรมธนารักษ์ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 19 ไร่ 87 ตารางวา มีจำนวนประชากรประมาณ 5,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย(แผงลอย) ขับแท็กซี่ เก็บของเก่าขาย และรับจ้างทั่วไป ลักษณะชุมชนเป็นชุมชนแออัด ขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคที่ดี
ที่ดินทั้งหมดบริเวณชุมชนนี้เป็นของกรมธนารักษ์ และมีผู้บุกรุกและทยอยเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากขยายตัวของแรงงานในเมืองหลวง และมาจากชุมชนรอบข้างที่ประสบปัญหาถูกไล่ที่มาอาศัยอยู่ในชุมชนนี้ ส่งผลให้ในปี 2547 ภายในชุมชนมีจำนวนถึง 1,700 ครอบครัว 8,000 กว่าคน เกิดความแออัดภายในชุมชนเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2547 เกิดเหตุการณ์อัคคีภัยครั้งใหญ่ เปลวเพลิงได้ทำลายชุมชนสวนพลูวอดวายทั้งชุมชน ส่งผลให้ชาวชุมชนทั้งหมดได้รับความเดือดร้อนกลายเป็นคนไร้ซึ่งที่อยู่อาศัยแบบไม่ทันได้ตั้งตัว เหลือเพียง 101 ครอบครัวเท่านั้นที่ยังคงสภาพเดิมอยู่
หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ได้มีหน่วยงานต่างๆ จากกรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น โดยการจัดหาที่พักชั่วคราว และดำเนินการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านครอบครัวละ 1,500 บาท จำนวน 1,700 ครอบครัว เป็นเวลา 1 ปี ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง การเคหะแห่งชาติ สถาบันองค์กรชุมชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกันกำหนดรูปแบบการปรับปรุงพัฒนาที่ดินชุมชนสวนพลูพัฒนา ในลักษณะที่ชาวบ้านต้องการ ซึ่งจากการประชุมร่วมกันหลายครั้งในที่สุดก็มีทั้งแบบบ้านมั่นคงโดยมอบให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นผู้รับผิดชอบ และแบบบ้านเอื้ออาทรรับผิดชอบโดยการเคหะแห่งชาติ ส่วนเรื่องที่ดินนั้นให้เช่าในระยะยาว 30 ปีกับกรมธนารักษ์ อัตราผ่อนปรน ตารางวาละ 9 บาท/เดือน
“ได้มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันช่วยเหลือชาวชุมชน ให้สามารถอาศัยอยู่บนที่ดินเดิมได้ โดยมีทั้งรูปแบบบ้านเอื้ออาทรที่การเคหะสร้างให้ในลักษณะแฟลต ใครลงชื่อแจ้งความต้องการไว้ก็สามารถเข้าอาศัยในลักษณะเช่ากับการเคหะแห่งชาติได้เลย และแบบบ้านมั่นคงที่ชาวบ้านต้องสร้างเอง ออกแบบเอง และเป็นเจ้าของเองเลย พวกเราเลือกบ้านมั่นคง เพราะอยากมีบ้านที่สร้างมาจากความต้องการของเราเอง”
ราวี สุขจันทา ประธานสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนสวนพลู เล่าให้ฟังถึงกระบวนการสร้างบ้านมั่นคงว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 264 ครัวเรือน ได้รับส่วนแบ่งพื้นที่ทั้งหมด 6 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับสมาชิกทั้งหมดและชาวบ้านได้กรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยชาวชุมชนที่เข้าร่วมโครงการได้มีการรวมกลุ่มทำความเข้าใจ จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในนาม “สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนสวนพลู จำกัด” ขึ้น โดยในกระบวนการออมทรัพย์มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 15 กลุ่ม ตามความสนิทสนมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างระบบสังคมในการอยู่ร่วมกัน และกระบวนการทำงานยังได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 3 กลุ่มอย่างเป็นระบบ คือ กลุ่มสาธารณูปโภค, กลุ่มบัญชีการเงิน และกลุ่มสังคม
ในกระบวนการสร้างบ้าน สหกรณ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการช่วยเหลือระบบสาธารณูปโภคจาก พอช.จำนวน 14,850,000 บาท และงบประมาณสินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อปลูกสร้างบ้านจำนวน 46,631,160 บาท การสร้างบ้านชาวชุมชนจะเป็นผู้เสนอความคิดและออกแบบบ้านของตัวเองโดยมีสถาปนิกชุมชนเป็นผู้สนับสนุนในการออกแบบ ซึ่งได้รูปแบบบ้านออกมา 4 แบบ คือ บ้าน 2 ชั้น,บ้าน 2 ชั้นครึ่ง, บ้าน 3 ชั้น และห้องชุด พื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 37-77 ตารางเมตร ราคาประมาณ 147,000 บาท การสร้างบ้านจะใช้แรงงานจากภายในชุมชนเอง ขณะนี้มีบ้านที่สร้างเสร็จและมีผู้เข้าอาศัยอยู่แล้ว 60 หลังคาเรือน และที่ยังคงเหลืออีก 197 หลังคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายนนี้ ในส่วนของห้องชุดจำนวน 52 ห้องนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมนี้
นอกจากในส่วนของบ้าน พี่ราวียังเสริมอีกว่า ชุมชนยังได้จัดให้มีพื้นที่ส่วนกลางคือ สนามเด็กเล่น สนามกีฬา ศูนย์เรียนรู้ของชุมชน และศาลาอเนกประสงค์ไว้เพื่อเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพให้กับชาวชุมชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการจากเยาวชนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน เช่น กิจกรรมต้านยาเสพติด และยังมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นเพื่อดูแลซึ่งกันและกันในชุมชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส คนแก่ และเด็กในชุมชนอีกด้วย
“โครงการบ้านมั่นคงนี้ไม่ใช่แค่เป็นการสร้างบ้าน แต่เป็นการสร้างคนสร้างชุมชนสร้างสังคมร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน บ้านมั่นคงยุ่งยากลำบากในช่วงแรก เพราะเราต้องทำเอง เริ่มจากชี้แจงให้ชาวบ้านเข้าใจต้องรวมกลุ่มให้ได้ ทำออมทรัพย์ ออกแบบกันเอง ทำกันทุกเรื่อง แต่มาวันนี้เราพบว่ามันดี เราภูมิใจที่ยืนบนขาของตนเองได้ ทำให้พวกเราที่ไม่เคยรู้จักกันเลย ได้มารู้จักกันสนิทกัน ต่อไปรุ่นลูกก็ยิ่งรักใคร่กันมากขึ้น มาวันนี้ทุกอย่างที่ทำมาหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เราได้ทั้งบ้านที่เป็นของเราและได้สังคมที่อบอุ่น” นายวารี กล่าวทิ้งท้าย
ความร่วมมือร่วมใจต่อสู้ของชาวชุมชนสวนพลู นอกจากก่อให้เกิดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและชีวิตของพวกเขาแล้ว วันนี้ยังสานให้เกิดความรักความเอื้ออาทรต่อกันในสังคมเมืองหลวงที่ความเกื้อกูลกันและกันหาได้ยากเต็มที ชุมชนสวนพลู จึงเป็นตัวอย่างรูปธรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมือง ที่ชุมชนแออัดในเมืองอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองก้าวไปพร้อมกันทั่วประเทศ
ชนิดา ธาราธร
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน