แสงสีเหลืองนวลจากดวงอาทิตย์ที่กำลังจะโผล่พ้นขอบฟ้าสาดส่องลงมากระทบกับ สายหมอกที่กำลังวิ่งเล่นพันกันเป็นเกลียวคลื่น ท่ามกลางภูผาอันสลับซับซ้อน กอปรกับผีเสื้อหลากสีที่บินโฉบไปโฉบมาให้เป็นสีสันยามเช้าแห่งไพรกว้าง พร้อมเสียงดุเหว่าเร่าร้องประสานเสียงเป็นทำนองแห่งพนาไพร น้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้สัมผัสแต่คงไม่อยากเกินไปสำหรับผู้ที่มีจิตใจรักธรรมชาติอย่างแท้จริง
บนพื้นที่กว่า 5 แสนไร่เศษของอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสระแก้วและจังหวัดปราจีนบุรี ถูกโอบล้อมไปด้วยทิวเขาน้อยใหญ่ เรียงรายติดกัน เป็นบริเวณกว้าง มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม
อุทยานแห่งชาติปางสีดา ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในกลุ่มผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2548 โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ที่ประเทศ แอฟริกาใต้ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้กลุ่มผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจาก ทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ซึ่งประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า 1 แห่ง
ส่วนหนึ่งของการเป็นมรดกโลก ด้วยความสวยงามที่ธรรมชาติสรรสร้างไว้ให้ ทำให้อุทยานแห่งชาติปางสีดา ในแต่ละวันจึงมีนักท่องเที่ยวที่นิยมการท่องไพรจากทั่วสารทิศ เดินทางมาเยี่ยมเยือนไม่ได้ขาดสาย
-1-
“เมืองผีเสื้อแห่งป่าตะวันออก”
อวยพร แสงเทียน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา บรรยายถึงความอุดมสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติว่า อุทยานแห่งนี้ เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นเขตที่อยู่ต่อเนื่องกับอุทยานแห่งชาติทับลาน จึงเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
“ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นภูเขาน้อยใหญ่ไม่สูงมากนัก เรียงรายติดกันเป็นบริเวณกว้าง พื้นที่ป่า จะประกอบไปด้วยป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้า ส่วนพรรณไม้ที่ขึ้นจะเป็นไม้ยาง มะค่าโมง ตะแบก เสลา ประดู่ มะกอก ส้าน สมอ ชิงชัน ขึ้นกระจัดกระจายตามชนิดของป่า และป่าค่อนข้างมีสภาพที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เพราะการบริหารจัดการป่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ทุกอย่าง เนื่องจากว่าบริเวณอุทยานนั้นไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ดินทำกินของประชาชน ดังนั้นบริเวณอุทยานจึงเต็มไปด้วยความสมบูรณ์ของป่าทั้งสิ้น”
นอกเหนือจากการมีทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่าที่อุดมสมบูรณ์แล้ว อุทยานแห่งชาติฯ ยังได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองผีเสื้อแห่งป่าตะวันออก” เพราะมีผีเสื้อหลากสีอาศัยเกาะกลุ่ม เพื่อสร้างสีสันให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมได้รื่นรมย์กับความสดใสของผีเสื้อแต่ละชนิด
“อุทยานแห่งชาติปางสีดา มีผีเสื้อหลากหลายชนิด ซึ่งถ้านับก็คงจะมีไม่ต่ำกว่า 300 ชนิด ผีเสื้อจะบินออกมาแสดงความงามของมัน ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งสถานที่แห่งนี้นับได้ว่าเป็นเมืองของผีเสื้อตะวันออก เพราะนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการดูนก และดูผีเสื้อก็จะเดินทางมาพักและค้างแรมที่นี่” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจกแจง
-2-
ลุยพงไพรกับ “คุณลุงต้นไม้”
การท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติปางสีดาไม่ได้เพียงแค่จะได้ยลความสวยงามที่มีตามธรรมชาติเท่านั้น ทางอุทยานฯ ยังได้จัดให้มีการเดินไพรศึกษาเส้นทางธรรมชาติของทุ่งหญ้าโป่งกระทิง หรือ “บุตาปอด” ซึ่งทุ่งหญ้าแห่งนี้ได้ชื่อว่า เป็นทุ่งหญ้าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด และเป็นแหล่งอาหารรสเยี่ยมของสัตว์กินพืช อย่างกระทิง และสัตว์ชนิดอื่นอีกเป็นจำนวนมาก
ประเสริฐ เทียมกล้า หรือคุณลุงต้นไม้ หัวหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติปางสีดา รับหน้าที่เป็นผู้บรรยายและพานักท่องเที่ยวเดินทางสำรวจเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
คุณลุงต้นไม้ อธิบายถึงความหมายของทุ่งหญ้า “บุตาปอด” แล้วพลางชี้นิ้วไปที่ทุ่งหญ้า ว่า ในอดีตทุ่งหญ้าแห่งนี้ เป็นท้องทุ่งนามีการทำการเกษตรกรรม เจ้าของนาชื่อตาปอด เมื่อมีสงครามโลกเกิดขึ้นทุ่งนาแห่งนี้จึงถูปล่อยทิ้งร้าง จนกลายเป็นทุ่งหญ้าขึ้นมาแทน
“ทุ่งหญ้า “บุตาปอด” มีที่มาจากชื่อคน คือเจ้าของที่ชื่อว่า ตาปอด ส่วน “บุ” นั้น ภาษาพื้นเมืองหมายถึง “ทุ่งหญ้า” พอนำมารวมกันจึงเป็น “ทุ่งหญ้าบุตาปอด” ทุ่งหญ้าของตาปอด ทุ่งหญ้าบุตาปอดมีพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่เศษ ในอดีตทุ่งหญ้าแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ที่มีการทำเกษตรกรรม มาก่อน ครั้นเมื่อเกิดสงครามโลก ที่นาแห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการดูแล ทำให้พืชที่ขึ้นไม่มีการเจริญเติบโตแพร่พันธ์ได้ พวกหญ้าต่างๆจึงขึ้นมาแทนที่ หญ้าที่ขึ้นส่วนใหญ่เป็นหญ้าคา แฝกหอม หญ้าชันอากาศ หญ้าพง สาบเสือ แต่อาจจะมีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่างๆ เช่น กระโดน กระถินป่าหรือกระถินพิมาน สีเสียดแก่น และประดู่ ซึ่งล้วนแต่เป็นพันธ์ไม้ที่ทนทานต่อไฟป่าทั้งสิ้น”
ทุ่งหญ้าที่แก่เกินกว่าที่กระทิงจะเคี้ยวได้ก็จะมีการเผาเพื่อสร้างยอดหญ้าขึ้นมาใหม่ และในอีกสองสัปดาห์ถัดมาทุ่งหญ้าที่ถูกเผาก็จะระบัดเป็นยอดหญ้าอ่อนๆ ชูช่อไสวโอนเอนไปตามสายลมอยู่กลางทุ่งหญ้า พวกกระทิงและสัตว์กินพืชชนิดต่างๆ ก็จะลงมาแทะเล็มยอดหญ้ากันอย่างเอร็ดอร่อย
ระหว่างเส้นทางเดินการสำรวจเส้นทางธรรมชาติ คุณลุงต้นไม้ได้อธิบายถึงคุณค่าของป่าด้วยน้ำเสียงเป็นประกายสดใสและชัดเจนว่า ป่าเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าต่างๆ หลายชนิด เป็นแหล่งอาหารและที่หลบภัยของสัตว์ป่าที่หาอยากในเมืองไทยหลายชนิด รวมทั้งเป็นที่รวมของพืชสมุนไพรที่หาอยากอีกเป็นจำนวนมาก
“ป่านั้นมีคุณค่าอนันต์ที่เราทุกคนมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาป่าไว้ให้คงอยู่ บางคนใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีที่จะตัดไม้หนึ่งต้น แต่อีกคนกลับใช้เวลาถึง 10 ปีในการปลูกและกว่าที่ต้นไม้หนึ่งต้นจะเจริญเติบโตต้องใช้เวลานาน ป่าเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเป็นที่รวมของไม้มีค่าที่หายาก และพืชสมุนไพร ทั้งที่พิสูจน์ทราบและยังไม่ได้มีการสำรวจพบอีกมากมายหลายชนิด และเนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน จึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารซึ่งเปรียบนเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรรมในภาคตะวันออก และด้วยสภาพสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ปะปนกัน ตามสภาพอันซับซ้อนของภูมิประเทศที่เป็นภูเขา ก่อให้เกิดทิวทัศน์ที่สวยงาม เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำตกที่สวยงามอีกหลายแห่ง จึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป” คุณลุงต้นไม้บรรยายด้วยน้ำเสียงที่ชัดใส
อาทิตย์ใกล้อัสดง ดวงตะวันคล้อยต่ำการเดินทางศึกษาธรรมชาติที่เริ่มเมื่อยหล้ามาตลอดทั้งวันจากการเดินสำรวจไพรก็เริ่มจางหายไปอย่างปลิดพริ้ง เมื่อเดินทางมาถึงหอส่องสัตว์ที่มีความสูงจากพื้นดินเกือบ 15 เมตรทำให้สามารถเห็นบรรยากาศโดยรอบของทุ่งหญ้า “บุตาปอด”ได้อย่างชัดเจน สายลมพัดลู่ปลิวยอดหญ้าไหวไปตามทิศทางลม ความหนาวเย็นเริ่มเข้ามาโอดรัดสัมผัสร่างกายเป็นระรอก แต่ก็ไม่ได้ลดทอนความตั้งใจของทุกคนที่จะคอยดูพระอาทิตย์ตกเขาในยามเย็น
คุณลุงต้นไม้ได้เล่าถึงหอส่องสัตว์ด้วยน้ำเสียงที่แหบพร่าเพราะเพิ่งเดินทางไต่ความสูงถึง 15 เมตรของหอส่องสัตว์ขึ้นมา คุณลุงเล่าว่าหอส่องสัตว์ที่นี้จะมีไว้เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาดูฝูงกระทิงออกมาเล็มหญ้ากินในช่วงตะวันใกล้ตกดิน บางครั้งถ้าโชคดีก็จะได้พบเห็นกระทิงออกมาเป็นฝูงแต่ถ้าโชคไม่ดีหรือถ้ากระทิงได้กลิ่นคนพวกมันก็จะไม่ออกมาปรากฏตัวให้เห็น
“ถ้าเรามองจากตรงนี้เราจะสังเกตเห็นได้ว่าทุ่งหญ้าตรงนี้จะมีขนาดกว้างมาก ทุกเย็นฝูงกระทิงจะลงมากินหญ้าที่บริเวณนี้ เพราะว่ามีฝายไว้สำหรับกั้นน้ำให้มันกิน และถัดไปก็จะเป็นดินโป่งที่มีแร่ธาตุอยู่ สัตว์ที่มีเขามักจะกินดินโป่งที่มีแคลเซียมเพราะจะเป็นการลับเขาให้แหลมอยู่เสมอ ถัดออกไปทางซ้ายมือก็จะเป็นส่วนที่พระอาทิตย์ตกดินนักท่องเที่ยวมักจะนิยมมาถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกดินบริเวณนี้ เพราะจะได้ภาพเป็นมุมกว้างที่สวยงามมาก เรียกว่าคุ้มค่ากับการเดินทางผจญภัยเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร”
ทั้งนี้คุณลุงต้นไม้ยังได้ฝากบอกถึงผู้ที่จะมาเยี่ยมชมความสวยงามของไพรแห่งนี้ว่า ขอให้นักท่องเที่ยวทุกคนเข้าเที่ยวเพราะความรักธรรมชาติไม่ใช่การเข้ามาเพื่อรุมโทรมธรรมชาติแล้วทิ้งร่องรอยของความเสื่อมโทรมใว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นเท่านั้น
...และที่น่าดีใจคือ เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด(มหาชน) หรือปตท.สผ. ได้ตัดสินใจที่จะร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ เข้าไปฟื้นฟูการบริหารจัดการพื้นที่ในอุทยานหลายด้านที่ยังขาดความพร้อมในการดูแลและรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น