xs
xsm
sm
md
lg

“อุทุมพร จามรมาน” กับภารกิจลุ้นระทึกสอบ ONET

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การจัดทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เพื่อใช้กับระบบแอดมิชชั่นในการคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในปีที่ผ่านมานั้น เต็มไปด้วยปัญหา นับตั้งแต่วันสอบที่มีนักเรียนไปผิดสนามสอบจำนวนมาก เนื่องจากความสับสนของการแจ้งสถานที่สอบไปจนถึงวันประกาศผล นักเรียนหลายคนมีคะแนนเป็นศูนย์ จนนำมาสู่การยกเลิกผลการสอบที่ประกาศไปในครั้งแรก รวมถึงการต้องเลื่อนการประกาศผลสอบอีกหลายต่อหลายครั้ง

บรรยากาศความวุ่นวายในการตรวจคะแนนโอเน็ต-เอเน็ตเมื่อปีที่แล้ว
เหตุการณ์ดังกล่าวสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อการจัดสอบโอเน็ตลงไปถึงรากถึงโคน และสำหรับปีนี้ การสอบโอเน็ตจะมีขึ้นในวันที่ 24-25 ก.พ.โดยมี “ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน” ที่โดดเข้ามารับงานแทนผู้อำนวยการ สทศ. คนเดิม ความไม่เชื่อมั่นคงปรากฏอยู่ในใจของนักเรียน และผู้ปกครองหลายๆ คน

ถึงเวลานี้ ศ.ดร.อุทุมพร พร้อมแค่ไหนสำหรับการจัดสอบที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้

ความพร้อมของ สทศ.ในการจัดสอบ O-NET ปีนี้พร้อมแค่ไหน ?
ตอนนี้ข้อสอบจัดพิมพ์พร้อมทั้งหมดแล้วจำนวน 3.3 แสนฉบับ 5 วิชา รวมทั้งกระดาษคำตอบ และได้จัดส่งกระดาษคำตอบให้ศูนย์สอบในมหาวิทยาลัย 18 แห่งทั่วประเทศ โดยในปีนี้มีสนามสอบทั้งสิ้น 325 แห่งและมีนักเรียนจาก 6,000 โรงเรียนเข้าสอบ

เด็กทั้งหมดเราใช้วิธีให้เลขที่นั่งสอบ 7 หลักต่อ 1 คน ทุกคนจะมีเลขที่นั่งสอบที่สามารถใช้ตรวจสอบสนามสอบ วิชา และห้องสอบได้ทั้งหมด

ส่วนกระบวนการการส่งข้อสอบให้ศูนย์สอบทั้ง 18 แห่งนั้น ศูนย์สอบเหล่านี้เคยทำเรื่องเอนทรานซ์มาก่อน 20-30 ปี กระบวนการจะเหมือนกับการจัดสอบเอนทรานซ์ในต่างจังหวัด โดยศูนย์สอบจะมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นประธานศูนย์ มีผู้อำนวยการสำนักวิชาการ หรือสำนักบริหาร หรือสำนักบริการ หรือสำนักทะเบียน เป็นหัวหน้าศูนย์สอบ โดยจะมีคณะกรรมการดำเนินการจัดสอบ ซึ่งจะมาประชุมร่วมกับ สทศ.หลายครั้งในการเตรียมการสอบ

เราวางหลักว่า 1 ห้อง จะจัดที่นั่งสอบ 30 ที่นั่ง ผู้คุมสอบ 2 คน มาจากต่างโรงเรียนกัน โดยมีการอบรมระเบียบปฏิบัติ แจกคู่มือ และซีดีวิธีการคุมสอบไปให้กับศูนย์สอบไปทั้งหมดแล้ว เพราะฉะนั้นศูนย์สอบก็ไปอบรมกับผู้คุมสอบ คุยกับทางสนามสอบว่า หากมีปัญหาจะแก้ไขอย่างไร ขณะที่ศูนย์สอบก็จะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์สอบไปอยู่ที่สนามสอบแห่งละ 1 คน เพื่อคอยช่วยเหลือแก้ไขปัญหาตัดสินใจ และเอาข้อมูลการตัดสินใจกลับไปที่ศูนย์สอบ ซึ่งปีนี้เราให้ศูนย์สอบมีอำนาจในการตัดสินใจแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ และรายงานให้เราทราบ เพราะไม่รู้ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่บ้าง หากเกิดปัญหาเราขอให้ศูนย์สอบตัดสินใจ
ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน
ความพร้อมในการจัดสอบO-NET ขณะนี้กี่เปอร์เซ็นต์แล้ว?
หากเทียบกับปีที่แล้วคิดว่า 100% แล้ว แต่หากเทียบกับอุดมคติของตัวดิฉันยังไม่ถึง เพราะเราเตรียมทุกเรื่องที่เคยเป็นปัญหาปีที่แล้ว แต่เราไม่รู้ว่าหากใกล้ๆ ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น ตอนนี้เราต้องแก้ปัญหาทุกวันเหมือนกัน เรื่องข้อมูล เรื่องความพร้อมของสนามสอบ เรื่องครูผู้คุมสอบ

ที่สำคัญข้อสอบอะไรก็ตามที่นำไปสู่การตัดสินจะมีคนหลายๆ กลุ่มที่จะทำอะไรบางอย่าง ซึ่งประสบการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้เตือนมา เราก็พยายามจะเตือนศูนย์สอบ เพื่อกำกับในพื้นที่ให้เรามีทั้งโรงเรียนกวดวิชา หรือคนที่อยากได้ข้อสอบไปพิมพ์ ก็จะให้ผู้คุมสอบถ่ายเอกสารข้อสอบในระหว่างคุมสอบ ซึ่งข้อสอบส่งกลับมาให้เรานั้นครบ แต่ที่ถ่ายเอกสารไปเราก็ไม่รู้

ในการเปิดซองข้อสอบนั้น เราก็วางระบบว่าจะต้องให้ผู้เข้าสอบ 2 คนมาเป็นพยานว่าซองข้อสอบไม่มีการเปิดก่อนล่วงหน้า และลงนามกำกับ จากนั้นผู้คุมสอบจะแจกข้อสอบออกไปให้เด็ก แล้วผู้คุมสอบจะเดินให้เด็กที่เข้าสอบเซ็นชื่อ พร้อมกับเช็กหลักฐานว่าตรงกับชื่อผู้เข้าสอบไหม เด็กคนไหนไม่มาก็ขีดทิ้ง เมื่อสอบเสร็จก็นับกระดาษว่าตรงกับจำนวนคนมาหรือไม่ ทุกวิชา หากมีคนไม่มาเข้าสอบ ให้เขียนมาด้วยว่า ใครขาดสอบ คั่นด้วยกระดาษเปล่า

ส่วนของคนที่ไม่มาสอบ ก็ต้องเขียนไว้หน้าซองแต่ละวิชาด้วยว่า มาสอบกี่คน ขาดสอบกี่คน ลงชื่อกำกับ เรามีแบบฟอร์มให้ผู้คุมสอบกรอกทั้งหมด จากนั้นต้องส่งกลับมาที่ศูนย์สอบ ศูนย์สอบก็ต้องนับอีกทีว่าตรงกับรายละเอียดหน้าซองหรือไม่ ก่อนจะส่งกลับมาให้ สทศ. ต้องดูว่ากระดาษคำตอบตรงกับที่สนามสอบส่งมาให้หรือไม่ แยกผู้เข้าสอบกับผู้ขาดสอบ ใส่กล่องที่เราจัดให้ นับให้ถูกต้อง และเซ็นกำกับ เรียงตามหมายเลขตามระบบที่ สทศ.จัดให้ และส่งกลับมายังสทศ.
ตัวอย่างกระดาษคำตอบในปีนี้
ดังนั้น เราสอบเสร็จ 25 ก.พ.วันที่ 26-27 ก.พ.น่าจะจัดการส่งกลับมาให้เราได้ ส่วน กทม.ต้องส่งให้เราได้วันที่ 27-28 ก.พ.เพราะ 3-4 มี.ค.ต้องจัดสอบเอเน็ต เมื่อศูนย์สอบส่งกระดาษคำตอบมาให้ สทศ.แล้ว ข้อสอบจะถูกนำไปเก็บไว้เราไม่เปิดเผย ล็อกอย่างดีและมีคนเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง สทศ.ต้องนับและตรวจสอบอีกรอบ เพื่อให้ตรงกัน เราเช็ก 3 จุด คือ สนามสอบ ศูนย์สอบ และ สทศ. และเริ่มทยอยตรวจ โดยจะนำไปทีละล๊อต แล้วเอากระดาษคำตอบกลับมา ซึ่งเราต้องสามารถเรียกกระดาษคำตอบออกมาให้ผู้เข้าสอบดูได้ หากมีข้อสงสัย

ปีที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการตรวจกระดาษคำตอบมาก ปีนี้ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างไร?
ปีนี้เราใช้ระบบ OMR ซึ่งผู้เข้าสอบต้องฝนด้วยดินสอ 2 บี ข้อสอบปีนี้เป็นปรนัยทั้งหมด เวลาตรวจแผ่นกระดาษคำตอบจะผ่านเข้าเครื่องอ่าน หากไม่มีปัญหาก็จะผ่านออกมาได้เลย กรณีที่มีปัญหาเครื่องจะดีดออกมา เช่น ฝนไม่เรียบร้อย ไม่สม่ำเสมอ ลบไม่สะอาด หรือฝน 2 ช่องใน 1 ข้อ จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งระบบนี้ใช้ในระบบเอนทรานซ์เดิม พบว่ามีปัญหาน้อยมาก โดยปีนี้เราเช่าเครื่องตรวจเพิ่มอีก 1 เครื่อง ใช้ร่วมกับเครื่องตรวจของ สกอ.ที่มีอยู่แล้ว 2 เครื่อง แต่ละเครื่องสามารถตรวจได้ 8 พันแผ่นต่อ 1 ชั่วโมง

เมื่อเราตรวจข้อสอบเสร็จแล้ว เราจะสุ่มออกมาให้คนตรวจอีกครั้ง วิชาละประมาณ 500 แผ่น ซึ่งการตรวจสอบนี้ คนตรวจกับเครื่องตรวจต้องมีผลตรงกัน 100% ต้องไม่มีการพลาดเลย จึงจะเชื่อใจได้ มั่นใจว่าเราจะสามารถตรวจข้อสอบและประกาศผลได้ในวันที่ 10 เม.ย.ตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งเราได้เตรียมบุคลากรที่ทำงานเรื่องการตรวจกระดาษคำตอบ และคร่ำหวอดอยู่ในการทำเรื่องเอนทรานซ์มานาน จำนวน 50 คน เชื่อว่าทันแน่นอน

ยืนยันความเชื่อมั่นเรื่องการตรวจกระดาษคำตอบและประมวลผลให้เด็กและผู้ปกครองได้หรือไม่
คงต้องถามว่า ระบบเอนทรานซ์ที่เราใช้กันมามีปัญหาหรือไม่ ที่ทำเอนทรานซ์กันมาไม่มีปัญหา เพราะฉะนั้นเราใช้ระบบเดียวกับเอนทรานซ์

สำหรับการประกาศผลวันที่ 10 เม.ย. เราจะประกาศผ่านเว็บไซต์ของ สกอ. และประกาศผ่านศูนย์สอบ 18 แห่ง เช็กจากเว็บไซต์ของศูนย์สอบก็ได้ และเราจะส่งคะแนนรายโรงเรียนให้แต่ละแห่ง ทางโรงเรียนสามารถประกาศให้เด็กมาดูได้ ซึ่งการประกาศผ่านเว็บไซต์ของ สกอ.นั้น เรามั่นใจว่าไม่มีปัญหาเพราะเซิร์ฟเวอร์ของ สกอ.สามารถรองรับได้ ปีที่แล้วระบบล่มเพราะประกาศผ่านเซิร์ฟเวอร์ของ สทศ.

ปีนี้ไม่เกิน 10 เม.ย.เราประกาศผลได้แน่ และเราประกาศเป็นคะแนนดิบ ทุกวิชาเต็มร้อยหมด แจงเป็นเปอร์เซ็นต์ ไม่น่าจะมีปัญหา ปีที่แล้วประกาศเป็นคะแนนมาตรฐาน จึงมีเด็กได้คะแนนศูนย์จึงเกิดปัญหาขึ้น

จะเรียกความเชื่อมั่นต่อปัญหา O-NET ได้อย่างไร?
หลังการสอบปีนี้ และประกาศผลแล้ว ความเชื่อมั่นน่าจะดีขึ้น ช่วงนี้เราพยายามสร้างความมั่นใจ แต่คนจะไม่มั่นใจ 100% เมื่อยังไม่เห็นผล เราหวังว่า เราจัดสอบ ช่วงสอบไม่มีปัญหา ประกาศผลไม่มีปัญหา ก็จะเป็นการพิสูจน์ว่าโอเน็ตไม่มีปัญหา

กำลังโหลดความคิดเห็น