xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางชีวิต....สุดยอดผลงาน 9 ศิลปินแห่งชาติปี 2549

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2550 ที่ผ่านมา คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ได้ประกาศผลการคัดเลือกศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2549 จำนวน 9 คนจาก 3 สาขาคือทัศนศิลป์ วรรณศิลป์และศิลปะการแสดง

...กว่าที่ศิลปินแห่งชาติแต่ละคนจะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินั้น ล้วนแล้วแต่ฝากผลงานที่โดดเด่นให้กับแผ่นดินมากมาย


ระวี ภาวิไล
สาขาวรรณศิลป์

ปัจจุบันอายุ 81 ปี เกิดวันที่ 17 ต.ค. 2468 นอกจากผลงานทางดาราศาสตร์ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในต่างประเทศแล้ว ยังมีผลงานแปล และเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม ล้วนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น ปรัชญาชีวิต และ ทรายฟองคลื่น แปลจากงานของ Kalil Gibran กวีชาวเลบานอนที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก

ด้วยความสามารถทางด้านภาษาและวิทยาศาสตร์ ดร.ระวีจึงได้เป็นกรรมการบริหารโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ราชบัณฑิตสถาน ผู้อำนวยการธรรมสถานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย ดร.ระวี สนใจแสวงหาความรู้จากหนังสือตั้งแต่เยาว์วัย เริ่มต้นด้วยความเพียรพยายามคัดลอกหนังสือและบทกวีนิพนธ์สำคัญๆ จนเป็นการฝึกสมาธิได้ดี และฝึกลายมือได้งดงามสม่ำเสมอ เป็นลายมือที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่ออายุครบ 70 ปี สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้มอบโล่กิตติคุณในฐานะนักวิทยาศาสตร์อาวุโสผู้มีผลงานดีเด่นของประเทศไทย

เดชา บุญค้ำ
สาขาทัศนศิลป์(ภูมิสถาปัตยกรรม)

ปัจจุบันอายุ 68 ปี เกิดเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2482 ในระหว่างการปฏิบัติงานด้านภูมิสถาปัตยกรรมที่ได้ปฏิบัติงานมากว่า 30 ปีทำให้มีผลงานจำนวนมาก ได้แก่ สวนหลวง ร.9 อุทยานเบญจสิริ ถนนสุขุมวิท กทม. สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สวนเบญจกิตติ อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ งานภูมิสถาปัตยกรรมวัดโสธรวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา และสวนเฉลิมภัทราชินี จ.สุพรรณบุรี

นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีส่วนร่วมผลักดันให้ออกกฎหมายอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ และจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นผลสำเร็จ อาจารย์เดชา จึงนับว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อสังคม และวงการศึกษาที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง

เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ
สาขาทัศศิลป์(จิตรกรรม)

ปัจจุบันอายุ 64 ปี เกิดเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2486 ตลอด 40 ปีของการสร้างสรรค์งานศิลปะเนื้อหาของงานสะท้อนสาระที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ โดยให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางและเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ ผลงานอยู่ในแนวเซอร์เรียลิสต์ แต่ได้แปรเปลี่ยนให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมไทย ส่งผลให้เกิดเป็นแนวทางสร้างสรรค์ผลงานที่มีลักษณะเฉพาะโดดเด่น

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้บุกเบิกงานศิลปะด้านจิตรกรรมของศิลปินไทยในการใช้วัสดุสำเร็จรูปจนประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติหลายครั้ง ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนศิลปะ และได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ลูกศิษย์และเยาวชนที่มีความสนใจทางด้านศิลปะอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ

ร.ต.ต.กาหลง พึ่งทองคำ
สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย)

เกิดเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2472 เป็นผู้ที่มีความสามารถในการบรรเลงเครื่องดนตรีได้ดีทุกประเภท ได้แก่ ขลุ่ยปี ระนาเอก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ระนาดทุ้ม เครื่องหนัง เป็นต้น ด้วยความสามารถอันหลากหลายนี้ จึงทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้มากมายทั้งผลงานของตนเองและของลูกศิษย์

ร.ต.ต.กาหลง ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาด้านดนตรีไทยจึงเสียสละเวลาโดยการให้ความรู้ทางด้านดนตรีเป็นวิทยาทานนับตั้งแต่สำนักดนตรีของตนเอง และสถาบันการศึกษาที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาล นอกจากนี้ยังได้ร่วมเป็นครูสอนดนตรีไทยในศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ปัจจุบัน ร.ต.ต.กาหลง เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านดนตรีไทย ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และเป็นหนึ่งในคณะครูในมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สอนดนตรีร่วมกับครูสำราญ เกิดผล ณ บ้านพาทยรัตน์ ต.บางชะนี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และยังทำหน้าที่พิธีกรอ่านโองการในงานไหว้ครูตามสถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

มณี พยอมยงค์
สาขาวรรณศิลป์
ปัจจุบันอายุ 77 ปี เกิดเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2473 เป็นกวีและปราชญ์แห่งล้านนา ผู้สืบสานและสร้างสรรค์วรรณกรรมล้านนาร่วม เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งวรรณกรรมลายลักษณ์และวรรณกรรมมุขปาฐะผลงานสำคัญคือคำประพันธ์ที่เกี่ยวกับการเรียกขวัญ การบวงสรวงและงานทูลเกล้าฯ ถวายสิ่งของแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ งานถวายสลุงหลวงในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และถวายสลุงหลวงในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา ของสมเด็จพระราชินีนาถ อาจารย์มณีจะเป็นผู้ประพันธ์คำทูนพระขวัญและกล่าวถวายด้วยตนเอง

นอกจากนั้น ยังมีผลงานตำราจำนวนมากที่ใช้เป็นแบบเรียนในสถาบันการศึกษาต่างๆ และเป็นที่อ้างอิงทางวิชาการ ทั้งผลงานด้านอักษร ภาษา วรรณคดี ประเพณี พิธีกรรม ได้แก่ ตำราหนังสือเรียนล้านนา ฉบับที่ 1 และ 2 ประวัติและวรรณคดีล้านนา ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย เครื่องสักการะในล้านนาไทย ปันพร(ให้พร) และเทียนส่องใจ(สุภาษิตล้านนา) นอกจากนี้ยังมีพจนานุกรม ได้แก่ พจนานุกรมล้านนาไทย และสารพจนานุกรม

นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน
สาขาทัศนศิลป์(ประติมากรรม)

ปัจจุบันอายุ 66 ปี เปิดเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2489 ปัจจุบันรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตกรรมฯ ม.ศิลปากร อาจารย์นนทิวรรธน์เป็นประติมากรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของไทย ผลงานเป็นรูปทรง 3 มิติ ที่มีความสัมพันธ์ของเส้นและปริมาตราอันกลมกลืนงดงาม โดยนำเสนอทางความรู้สึก อารมณ์ และความปรารถนา เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ และต่อมาในภายหลังได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีเนื้อหาแผงปรัชญาทางพุทธศาสนา ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายครั้ง ปัจจุบันเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ทางศิลปะแก่สังคมและวงการศึกษาศิลปะไทย

สุชาติ ทรัพย์สิน
สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน)

เกิดเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2481 ที่ ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่อายุ 13 ปีถึงปัจจุบัน เป็นช่างแกะรูปหนังตะลุง และตั้งแต่อายุ 15 ปีถึงปัจจุบัน เป็นนักแสดงหนังตะลุง ทำให้มีผู้สนใจที่จะมาศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ทั้งกลุ่มนักแสดงหนังตะลุง และกลุ่มช่างทำรูปหนังตะลุง ทั้งนี้ผลงานที่เผยแพร่สาธารณชนในต่างประเทศ ได้แก่ ปี 2536 เคยได้ร่วมแสดงมหกรรมหนังตะลุงโลก ที่เยอรมนี, ปี 2539 สาธิตการแกะรูปหนังตะลุง ที่ฮอลแลนด์ และปี 2544 ได้รับเกียรติจากเทศบาลเมืองโตคุชิม่า ญี่ปุ่น ให้ไปแสดงหนังตะลุง

ขณะเดียวกันยังได้รางวัลและเกียรติคุณจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย อาทิ ปี 2516 ได้รับรางวัลที่ 1 และ 3 ในการประกวดหนังใหญ่ จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จ.นครศรีธรรมราช, ปี 2532 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, ปี 2539 ได้รับรางวัล THAILAND TOURISM AWARD ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณสถาน จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

สมถวิล อุรัสยะนันทน์
สาขาทัศนศิลป์ (ออกแบบอุตสาหกรรม)

เกิดเมื่อวันที่ 13 ม.ค.2465 ที่กรุงเทพฯปัจจุบันอายุ 85 ปี ท่านเป็นผู้ที่มุ่งมั่นค้นคว้า และสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบงานเครื่องปั้นดินเผามาตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ผลงานแต่ละชิ้นได้รับการออกแบบโดยผสมผสานลักษณะความเป็นไปกับตะวันตกได้อย่างลงตัวสวยงาม อีกทั้งมีเทคนิคการเคลือบและสีที่เฉพาะตัว นอกจากนี้ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก แม้ปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์อย่างเข้มแข็ง จึงนับว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการศึกษาไทย และเป็นศิลปินที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง

สำหรับการแสดงผลงานในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ปี 2541 ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนนักออกแบบเครื่องปั้นดินเผาจากประเทศไทย ในการแสดงผลงานผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ที่ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯส่วนการทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม อาทิ ปี 2524 บรรยายทางวิชาการประกอบการฉายภาพนิ่งในหัวข้อเรื่อง WUNGLAZED POTTERY” ในการประชุมใหญ่ขอช่างศิลป์โลก พ.ศ.2523 ที่ออสเตรีย, ปี 2530 ตั้งกองทุน เลิศและสมถวิล อุรัสยะนันทน์ นำผลประโยชน์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และปี 2546-2547 เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานทางวิชาการ ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เกียรติพงศ์ กาญจนภี(สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์)
สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีสากล-ผู้ประพันธ์เพลง)
เกิดเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2469 ได้ร่วมแต่งเพลงกับครูเพลงหลายท่าน อาทิ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ครุเวส สุนทรจามร ครูสมาน นภายน เป็นต้น เพลงที่ได้รับความนิยมเพลงหนึ่งคือ เพลงรักคุณเข้าแล้ว ตลอดชีวิตการทำงานอ.เกียรติพงศ์แต่งเพลงมาแล้วประมาณ 1,000 กว่าเพลง ส่วนใหญ่แต่งร่วมกับครูสง่า อารัมภีร์ ซึ่งเป็นเพลงในละครเวที และเพลงที่แต่งกับครูสมาน กาญจนะผลิน เพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อาทิ รักปักใจ แน่หรือคุณขา

ผลงานล่าสุดแต่งเพลงนางสาวไทย ให้สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับใช้บรรเลงในการประกวดนางสาวไทย เมื่อ พ.ศ.2543 และแต่งเพลง 72 พรรษา พระเมตตาปกเกล้า ร่วมเฉลิมฉลอง 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้ง 2 เพลง แต่งร่วมกับอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์








กำลังโหลดความคิดเห็น