xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจหายีนเฮอร์-ทูรักษามะเร็งเต้านม ไม่ต้องจ่ายยาเหมาโหล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์แนะผู้ป่วยมะเร็งเต้านมตรวจหายีนเฮอร์-ทู ทำนายความรุนแรงของโรค ถือเป็นแนวทางใหม่ในการรักษามะเร็งเต้านม ช่วยแพทย์สั่งจ่ายยาถูกโรค ถูกคน ไม่ใช่การรักษาเหมาโหล ในอนาคตจะใช้เทคนิคการตรวจหา “ไบโอ มาร์กเกอร์” รักษามะเร็งเต้านมด้วย


นพ.อาคม เชียรศิลป์ รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวถึงแนวทางใหม่ในการรักษาโรคมะเร็งว่า ปัจจุบันแพทย์ได้นำเทคนิคการตรวจระดับยีนมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทำให้วางแผนการรักษาได้เหมาะสมในแต่ละคน โดยแนวทางใหม่แพทย์จะนำเซลล์ในก้อนมะเร็งไปตรวจหาตัวชี้วัดทางชีวภาพ หรือไบโอ มาร์กเกอร์ เพื่อดูว่า มีตัวรับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนฮอร์โมนหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าเป็นมะเร็งที่ตอบสนองต่อยาหรือสารต้านฮอร์โมน หรือเจาะเลือดของผู้ป่วยตรวจหายีนเฮอร์-ทู ด้วยเทคนิค FISH ซึ่งถ้ามียีนนี้แสดงว่า โรคมีความรุนแรง มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกภายใน 2 ปี การรักษาผู้ป่วยที่ยีนนี้ จำเป็นต้องให้ยากลุ่มพิเศษมาระงับการทำงานของยีนเฮอร์-ทู จากนั้นแพทย์จะตรวจหายีนมะเร็งเต้านมในภาพรวมว่า มีรูปแบบการเรียงตัวอย่างไร โดยใช้เครื่องไมโครอะเลย์ สามารถตรวจยีนได้จำนวนมากเรียงเป็นแถว นำมาพิจารณาว่าการเรียงตัวของยีนมะเร็งแบบนั้นๆ จะตอบสนองต่อยารักษามะเร็งชนิดใด

“เรารู้ว่าคนไข้มะเร็งคนไหนจะรักษาแบบไหน เหมือนการตัดเสื้อผ้าที่ดูรูปร่างประกอบด้วย อ้วน ผอมบาง ต้องดูด้วย ไม่ใช่ว่า ทุกคนจะใส่เสื้อผ้าแบบเดียวกันหรือเสื้อโหลแล้วออกมาดูดี ถ้ารักษาคนไข้มะเร็งเหมือนกัน เหมาโหล ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ ต้องตรวจระดับยีนด้วย เพื่อให้ยาถูกคน การตรวจหาตัวชี้วัดทางชีวภาพที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติอยู่ระหว่างการวิจัย” นพ.อาคม กล่าว

นพ.อาคม ย้ำว่า การตรวจหายีนเฮอร์-ทู สามารถรับบริการได้ที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ และที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยุคนี้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมควรถามแพทย์ว่า ตนเองมียีนเฮอร์-ทู หรือไม่ ซึ่งผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าตรวจเอง เนื่องจากสิทธิรักษาพยาบาลในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคมไม่ครอบคลุม แต่หากการตรวจนั้น ทำให้การรักษาได้ผลดีกว่าวิธีปกติก็อยากให้คนไข้พิจารณาแนวทางใหม่นี้ด้วย เดิมนั้นเมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะดูว่าก้อนขนาดใด ใช้การรักษาแบบผสมผสาน ทั้งให้ยา ผ่าตัด ฉายแสง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าความรุนแรงของโรคจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น