xs
xsm
sm
md
lg

Tread Mill ลู่วิ่ง “ม้า” เครื่องแรกของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตำนานปรัมปราในเทพปกรณัม กล่าวถึงการอุบัติขึ้นของม้าบนโลกใบนี้ ว่าเนื่องมาจากการแข่งขันกันระหว่างเทพเจ้าสององค์ คือโพไซดอนกับอาธีน่า ด้วยการวางกติกาว่า องค์ใดที่สามารถเนรมิตสิ่งที่ยังประโยชน์ให้มนุษย์มากที่สุดได้ พระนามของเทพองค์นั้นก็จะกลายเป็นชื่อเมืองหลวงของกรีก เทพอาธีน่าเลือกเนรมิตต้นมะกอก ที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของต้น ในขณะที่โพไซดอนเนรมิตอาชาพ่วงพีสีขาวปลอด เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างสมส่วนสง่างามมีกำลังวังชา และแม้คณะเทพโอลิมปัสจะตัดสินให้เทพีอาธีน่าเป็นฝ่ายชนะ แต่สิ่งที่โลกก็ได้รับจากเทพโพไซดอนตามตำนานความเชื่อของกรีก – โรมันนั้น ก็ได้รับของขวัญมีชีวิตอันมีค่าที่กลายมาเป็นสัตว์ที่สำคัญที่แทรกตัวและกลมกลืนอยู่กับมนุษย์มาช้านาน

สำหรับประเทศไทย ม้ามีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ โดยเฉพาะในบทบาทของยานพาหนะเพื่อใช้ในการเดินทางและการศึกสงคราม ดังเห็นได้จากการตั้งกรมในสมัยโบราณ นอกจากจะมีกรมเวียง กรมวัง กรมคลัง และกรมนา เป็นจัตุสดมภ์แล้ว ยังมีการตั้งกรมม้าเพื่อฝึกงานเพื่อใช้ในราชกิจและการสงครามอีกด้วย

แม้ในปัจจุบันม้าถูกลดบทบาทในบริบทของการใช้เป็นยานพาหนะและการสงคราม อันเนื่องมาจากความทันสมัยในการผลิตยานพาหนยนต์และยุทโธปกรณ์ต่างๆ ทำให้ในทุกวันนี้การใช้งานม้าจึงน้อยลงกว่าแต่ก่อน แต่อย่างไรก็ตามความสำคัญของม้าต่อจิตใจคนไทย ก็ไม่ได้ลงน้อยลงแต่อย่างใด เพราะม้าถือเป็นสัตว์ตระกูลสูง มีคุณูปการในประวัติศาสตร์ในด้านต่างๆ นั่นเอง

น.สพ.ธีระพร ภมรศักดา อาจารย์ประจำภาควิชาคลินิก คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ม.มหิดล นายสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์มหิดล กล่าวถึงประเภทของม้าที่ถูกแบ่งออกตามการใช้งานว่า ม้าในยุคปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ม้าเพื่องานราชการ เช่นม้าในกรมตำรวจม้า หรือม้าในกองทหารม้า , ม้าเพื่อการวิจัย เช่นม้าที่ใช้ศึกษาในการผลิตเซรุ่ม และม้าเพื่อการกีฬา

ทั้งนี้ ความนิยมด้านการกีฬาม้านั้น ในต่างประเทศนิยมด้านกีฬาม้ากันมานานแล้ว ทั้งในเรื่องของม้าแข่ง หรือกีฬาที่ต้องใช้ม้าเป็นส่วนประกอบ เช่น โปโล สำหรับในประเทศไทย ความสนใจในด้านกีฬาม้ามีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

สำหรับแนวคิดการสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาม้านั้น เริ่มจากที่ สพ.ญ.ปัทมา ฤทธิลือชัย หรือ “หมออ้อย” อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ที่ก่อนหน้านี้เคยทำงานในสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องม้ามาก โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ด้านเวชศาสตร์กล้ามเนื้อโดยเฉพาะ

“คุณหมอเคยกล่าวว่า อย่างนักกีฬาบ้านเรา เราก็มีการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อการพัฒนาการกีฬา การวิจัยด้านการกีฬาในเชิงวิชาการ เพื่อให้การกีฬาพัฒนาไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้นในเรื่องของกีฬาม้า เราก็คิดว่า การพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาม้าก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ”อ. ธีระพรอธิบายเพิ่มเติม

ด้าน สพ.ญ.ศลิษวรรณ แสงเอี่ยม หรือ “อาจารย์ไอซ์” อาจารย์ประจำภาควิชาคลินิก คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ม.มหิดล สัตวแพทย์หญิงประจำโรงพยาบาลสัตว์มหิดล เปิดเผยถึงความก้าวหน้าล่าสุดด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาม้าของมหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลสัตว์มหิดลว่า ขณะนี้ที่โรงพยาบาลได้นำเข้าเครื่อง Tread Mill หรือ “ลู่วิ่งม้า” จากประเทศสวีเดนเข้ามา พร้อมสัญญาจัดสร้างโรงเรือนเพื่อวางเจ้าเครื่องนี้ในบริเวณคณะสัตวแพทย์ ม.มหิดล วิทยาเขตศาลายาด้วย

สำหรับเครื่อง Tread Mill นี้ มีลักษณะคล้ายลู่วิ่งแบบเครื่องออกกำลังในคน ผิดกันที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก มีเครื่องควบคุมความเร็วลักษณะคล้ายจอยสติ๊ก และมีเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมเครื่องตรวจวัดร่างกายของม้าขณะที่กำลังวิ่งด้วย โดยเครื่องดังกล่าวสามารถใช้ได้ทั้งเป็นการออกกำลังกายม้าแบบธรรมดา การออกกำลังม้าที่ป่วยเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายม้า การออกกำลังกายม้าเพื่อฟิตร่างกายสำหรับม้าแข่ง และช่วยในการศึกษาวิจัย เก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาได้อีกด้วย

อาจารย์ไอซ์ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเครื่อง Tread Mill นี้ว่า ลักษณะการทำงานแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือฟิตเนสม้า คือวิ่งออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายม้าสมบูรณ์แข็งแรง และการวิจัยศึกษา คือการนำม้าเข้าซองและเดินเครื่องลู่วิ่งให้ม้าวิ่งไปพร้อมๆ กับการติดสายตรวจจับระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบการเต้นของหัวใจ ระบบการหายใจ การไหลเวียนโลหิต การตรวจจับระบบกล้ามเนื้อ เป็นต้น

“ม้าที่จะเข้าเครื่อง Tread Mill ได้จะต้องได้รับการฝึกมาก่อนพอสมควร ไม่เช่นนั้นจะอาจจะตื่นได้ ส่วนที่ยากที่สุดของการออกกำลังกายด้วยเครื่องนี้คือการนำม้าเข้าซอง ส่วนใหญ่จะกลัว แต่เราก็มีการเซฟหลายขั้นตอน ในการนำม้าเข้าซองนั้น เราจะให้คนเลี้ยงอย่างน้อย 1 – 2 คน คอยประกบม้ากันม้าตื่นกลัว ที่ด้านบนของเครื่อง Tread Mill ก็มีสายเซนเซอร์เพื่อเกี่ยวล็อกกับตัวม้า เมื่อม้าขึ้นเครื่องและเริ่มวิ่ง หากม้าเสียหลัก ตื่น หรือไม่ยอมวิ่ง แล้วตัวของม้าเลื่อนไปตามลู่จนเลยกำหนดของเซนเซอร์ เซนเซอร์จะตัดสัญญาณการเคลื่อนของลู่ให้หยุดทำงานทันที” อ.ธีระพรอธิบาย

อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ทั้งสองคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ตั้งแต่มีเจ้าเครื่อง Tread Mill นี้ การทำงาน วิจัย และเก็บข้อมูลของคณาจารย์ในคณะและรวมถึงนิสิตนักศึกษาทำได้ง่ายขึ้น เพราะจากเดิมที่ต้องสังเกตการออกกำลังกายของม้า หรือการฟื้นฟูร่างกาย ทำได้เพียงแค่ยืนสังเกตอยู่ห่างๆ และให้คนจูงม้าพาวิ่งให้ดูเท่านั้น ซึ่งเป็นการสังเกตในระยะห่างและอาจจะเก็บข้อมูลได้ไม่ครบถ้วนหรือละเอียด แต่เมื่อนำม้าขึ้นไปออกกำลังบน Tread Mill ทำให้มีโอกาสสังเกตได้แบบใกล้ชิด รวมถึงมีสายตรวจจับระบบต่างๆ ทำให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น ถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง และสำหรับเครื่อง Tread Mill ที่มีอยู่เครื่องนี้ถือเป็นเครื่องแรกในประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับอนาคตอันใกล้ที่ทาง รพ.สัตว์มหิดลจะได้เปิดบริการใหม่เพื่อให้บริการสังคมก็คือ การรับรักษาม้าเป็นผู้ป่วยใน เพราะก่อนหน้านี้การรักษาม้าของรพ.สัตว์มหิดล วิทยาเขตศาลายา รับรักษาเฉพาะผู้ป่วยนอก ฉีดวัคซีน การผ่าตัดเฉพาะกรณี ส่วนใหญ่การรักษาจะเป็นไปในรูปแบบของการออกไปรักษานอกสถานที่ ด้วยเพราะทางโรงเรือนรับม้ายังไม่พร้อมรับคนไข้ใน ไม่สามารถรับดูแลม้าแบบผู้ป่วยในได้ แต่ขณะนี้ทางคณะฯ ได้จัดทำโครงการและส่งเรื่องขออนุมัติจัดสร้างโรงเรือนม้า 1 โรงเรือนแล้ว เชื่อว่าหากสร้างเสร็จจะสามารถรองรับม้าที่ป่วยได้สะดวกมากขึ้นและขยายการบริการรักษาม้าได้หลากหลายมากขึ้น

นอกจากนั้น สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกหลานป่วยด้วยอาการออทิสติก ในอนาคตคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้เตรียมที่จะจัดโครงการทำ Hippotherapy หรือ “อาชาบำบัด” เพื่อเยียวยาบำบัดอาการสมาธิไม่นิ่งของเด็กออทิสติกอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น