ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ใต้ทางด่วน ยังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานในมหานครอันใหญ่โตแห่งนี้ กล่าวกันว่าที่ไหนมีทางด่วนที่นั้นก็จะมีชุมชนเกิดขึ้นใหม่เสมอ และที่แห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน “ทางด่วนศรีรัช” จากถนนพระราม 6 – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ บริเวณใต้ทางด่วนดังกล่าวจะมีการบุกรุกพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางมาเป็นระยะเวลานานมากแล้ว…
-1-
แหล่งข่าวในการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า เดิมพื้นที่ใต้ทางด่วนเป็นพื้นที่ว่างเปล่า เมื่อสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้มีนโยบายจะนำพื้นที่บริเวณนั้นมาสร้างเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ โดยได้มีการเทคอนกรีตเสริมเหล็กสูงเกือบ 30 เซนติเมตร ใช้งบประมาณเกือบ 28 ล้านบาท และสร้างเสร็จเมื่อปี 2545
หลังจากนั้น 2-3 ปีโครงการดังกล่าวถูกยกเลิกไปเพราะมองว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีศักยภาพ มันจึงกลายเป็นพื้นที่ว่างเปล่าและเริ่มมีการบุกรุกพื้นที่ทำเป็นร้านเหล้า ร้านเบียร์ คาราโอเกะ และแหล่งมั่วสุมยาเสพติดตามมา แม้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเจ้าของพื้นที่จะนำป้ายไปติดตั้งแต่ปี 2547 แต่ก็ไม่เป็นผล
ขณะที่บริเวณใต้ทางด่วนช่วงไหล่ทางเมื่อก่อนการทางพิเศษฯให้ชาวบ้านเช่า แต่เนื่องจากได้ไม่คุ้มเสียดังนั้นตั้งแต่ปี 2547 การทางพิเศษฯ จึงได้ยกเลิกสัญญาแต่ก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ที่สำคัญคือ นับวันปัญหายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นปล่อยให้ทำผิดกฎหมายจนกลายเป็นถูกกฎหมาย และไม่ใช่เฉพาะบริเวณนี้เท่านั้นที่เป็นปัญหา หากจะพูดให้ถูกแล้วเริ่มตั้งแต่ซอยพระรามหก 28 ก็มีการบุกรุกพื้นที่ตั้งแต่ต้นเช่นกัน
“พื้นที่ใต้ทางด่วนจะทำเป็นศูนย์ขายโอทอปไม่รู้ใช้อะไรคิด เพราะจะขายให้ใครซื้อ มันทุจริตตั้งแต่คิดแล้ว สมัยก่อนมีนักการเมืองพยายามเอาเสียงมวลชนจึงไม่กล้าเข้าไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่เพราะเกรงกระทบเลือกตั้ง โดยปล่อยให้ชุมชนขยายเข้ามาในพื้นที่การทางพิเศษฯเพื่อตั้งร้านค้าต่างๆ เกิดกองขยะส่งกลิ่นเหม็น ข้าวของต่างๆของรัฐก็ถูกขโมย ซึ่งผมคาดว่าอาจจะมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเรียกรับเงิน ไม่งั้นคงไม่มีใครกล้าทำจนกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรมแบบนี้”แหล่งข่าวรายเดิมอธิบาย
นอกจากนี้ ข้อผิดสังเกตอีกเรื่องคือพื้นที่บริเวณด่านเก็บเงินทางด่วนตรงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ให้รถตู้เช่าวิ่งไปที่ต่างๆ อาทิ เมืองทองธานี มหาชัย ก็ถูกยกเลิกสัญญาให้เช่าแล้ว และทางกทม. ได้สำรวจไว้ว่าควรจะนำมาทำเป็นเส้นทางลัด แต่การทางพิเศษฯกลับ ไม่ให้แต่ปล่อยให้รถตู้วิ่งวินได้
ที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้เคยมีการส่งจดหมายร้องเรียนไปที่เขตพญาไทและผู้ว่าฯกทม.เพื่อขอให้นำพื้นที่ใต้ทางด่วนดังกล่าวปรับปรุงเป็นเส้นทางลัดซึ่งทางเขตและผู้ว่าฯกทม.ก็เห็นด้วยแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องการทางพิเศษฯเป็นผู้ตัดสินใจในฐานะเจ้าของพื้นที่
-2-
จากการพยายามสอบถามคนขับรถตู้วิ่งวินอนุสาวรีย์ฯใต้ทางด่วนศรีรัช หลายรายแต่ไม่มีใครกล้าให้ข้อมูล โดยบางรายอ้างว่า “เพิ่งเข้ามาใหม่ไม่รู้เรื่องหรอก” จึงทำให้ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเพราะอะไรพื้นที่บริเวณนี้ถึงมีวินรถตู้จำนวนมาก และทำไมถึงไม่มีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาจัดการกับพื้นที่บริเวณนี้ ทั้งๆที่เป็นพื้นที่ห้ามกระทำการใดๆลงทั้งสิ้นตั้งแต่ปี 2547
“ผมต้องการให้การทางพิเศษฯนำพื้นที่ใต้ทางด่วนไปใช้ให้สมประโยชน์โดยเฉพาะเป็นเส้นทางลัดระบายรถจากถนนพระราม 6 ออกถนนพหลโยธิน เพราะย่านดังกล่าวมีหน่วยงานหลายแห่งตั้งอยู่ซึ่งแต่ละแห่งก็มีปริมาณรถจำนวนมาก และถ้าอยากมาอนุสาวรีย์ชัยฯต้องออกซอยพหลโยธิน 3 (ซอยลือชา 2) หรือก็ไปออกที่ซอยราชครูแทนที่จะได้ออกถนนใต้ทางด่วนเลย เจ้าหน้าที่การทางพิเศษฯบอกว่าทราบปัญหาทุกอย่างดีและตอนนี้ก็กำลังสุกงอมแล้ว และจะมีการเรียกประชุมชาวบ้าน เขต ตำรวจ การทางพิเศษฯ และรพ.พระมงกุฎ เพื่อขับไล่พื้นที่ที่บุกรุกแต่มันก็คงไม่เกิดอะไรเพราะบอกอย่างนี้มาหลายครั้งแล้วซึ่งเมื่อร้องข้างล่างไม่ได้ก็จะไปร้องข้างบนแทนและเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ผมก็เลยอยากลองดูอีกสักครั้ง” ก้อง - ชาวชุมชนริมคลองสามเสน บอกด้วยน้ำเสียงอันมุ่งมั่น
ด้านป้านุ้ย (นามสมมติ) ชาวชุมชนริมคลองสามเสน เล่าด้วยว่า อยู่ที่นี่มา 40 ปีแล้วตั้งแต่ทางด่วนยังไม่สร้าง โดยพื้นที่ตรงบริเวณใต้ทางด่วนเมื่อก่อนยังไม่มีใครเข้ามาตั้งปักหลักกันมากถึงขนาดนี้ เพราะเนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวต้องเสียค่าที่ให้กับการทางพิเศษฯ และนอกจากนี้ บริเวณรอบๆริมฝั่งถนนและเกาะกลางถนน(พื้นที่ที่เทคอนกรีต) เดือดร้อนอย่างมากทั้งปัญหามลพิษเสียงจากร้านค้าแถวเกาะกลางถนนที่เปิดขายตลอดทั้งคืน
“ตอนกลางคืนจะนอนก็นอนไม่หลับจะทำอะไรก็ทำไม่ได้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยต้องทนกับปัญญาต่อไป ทั้งๆที่พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นเขตห้ามฝ่าฝืนเพราะเป็นพื้นที่ของการทางพิเศษฯ ถ้าจะเปิดร้านขายของหรืออื่นๆจะต้องแจ้งทำเรื่องผ่านการทางพิเศษฯให้ผ่านเสียก่อน ซึ่งการทางพิเศษฯให้ขายได้แต่ในเขตริมฝั่งถนนเท่านั้น ไม่ให้ขายเกาะกลาง”
สำหรับพื้นที่หน้าบ้านของป้านุ้ย เสียค่าที่โดยถูกกฎหมายสัญญาเช่าถูกต้อง ซึ่งป้าจะต้องเสียค่าที่ให้การทางพิเศษเดือนละ 2,000 บาท ป้านุ้ยบอกว่าเริ่มเช่ามาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา จนถึง ปี พ.ศ. 2547 พื้นที่บริเวณหน้าบ้านป้านุ้ยและพื้นที่อื่นๆจากที่เคยมีหน่วยงานเข้ามาดูแลก็เริ่มลดน้อยลง
จากที่เมื่อก่อนมีการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ เสียค่าเช่าเป็นรายเดือน แต่ปัจจุบันกลับไม่ต้องเสียค่าที่เลยและไม่มีหน่วยงานมาเข้มงวดกวดขันเรื่องที่บริเวณนั้นจึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวและรวมทั้งเกาะกลางถนน ก็เลยเป็นแหล่งช่องทางของคนทำมาหากินจำนวนมากเป็นแหล่งสะสมของสิ่งสกปรกจำนวนมาก เป็นแหล่งอบายมุข และแหล่งมั่วสุมยาเสพติดของผู้คนละแวกนั้น
...คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร