xs
xsm
sm
md
lg

สังคมควรลงประชามตินโยบายการนำม.ของรัฐออกนอกระบบ/รศ.ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดประเด็น
มหาวิทยาลัยของรัฐควรจะอยู่หรือออกนอกระบบไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงไม่ลงรอยกันมาหลายปีแล้ว การมองต่างมุมอย่างมีเหตุผลเป็นเรื่องธรรมดาในวิถีประชาธิปไตย การนำเสนอเหตุผลที่ดีกว่า สมเหตุสมผลกว่า ก็เป็นเรื่องที่น่ารับฟังมิใช่เรื่องเอาชนะคะคานกัน ทั้งนี้เพราะเป็นเรื่องอนาคตของประเทศชาติ ตัวอย่างเช่น การถกเถียงกันในเรื่องการขึ้นหรือไม่ขึ้นค่าเล่าเรียนนั้น ประเด็นสำคัญที่ควรนำเสนอมากกว่าคือ หากจะปรับค่าเล่าเรียนควรดำเนินการอย่างไรจึงจะเป็นธรรมกับนักศึกษา เพราะการขึ้นค่าเล่าเรียนหลายกรณีสูงเกินไปไม่เป็นธรรมกับนักศึกษาจึงทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวล

หรืออย่างกรณีที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่านอาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์) กล่าวว่า การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยของรัฐก็คล้ายกับรูปแบบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ต้องขอแย้งว่าการมองหรือการเปรียบเทียบอย่างนี้อาจสร้างความเข้าใจผิดได้ จะเปรียบเทียบก็ควรเปรียบเทียบกับองค์กรที่มีเนื้อหา ภารกิจระดับชาติ โครงสร้างองค์กร อุดมการณ์ที่เหมือน ๆ กันหรือใกล้เคียงกัน (ไม่ใช่เอาแพะมาเทียบกับช้าง) เพราะ ธปท. นั้นเป็นธนาคารกลาง ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าธนาคารแบบนี้มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยถือกำเนิดจาก พ.ร.บ. ธปท. ปี 2485 โดยมีภารกิจเฉพาะจึงมีโครงสร้างองค์กรพิเศษที่ดูแลความมั่นคงทางเศรษฐกิจการเงินประเทศชาติ สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระในเรื่องสำคัญ เช่น การปรับค่าเงินภายนอก การนำทุนสำรองระหว่างประเทศของทางการไปลงทุนหาดอกผลในต่างประเทศ เป็นต้น

ที่น่าห่วงคือ นโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นเป็นนโยบายสาธารณะที่ผู้เกี่ยวข้องควรมีความเข้าใจลุ่มลึก คิดอย่างรอบด้าน วิเคราะห์อย่างครอบคลุมในมิติต่าง ๆ อีกทั้งควรมีผลงานวิจัยด้านมหภาคและด้านจุลภาคสนับสนุนอย่างเพียงพอที่จะอธิบาย โน้มน้าว ยืนยัน สร้างความเข้าใจและความมั่นใจให้ประชาคมในมหาวิทยาลัยตลอดจนคนไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีอากรผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนมหาวิทยาลัยของรัฐทุกแห่งมาโดยตลอดกว่าร้อยปีมาแล้ว ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองก็ยังชะลอ และมีทีท่าจะออก พ.ร.บ. กลางสำหรับมหาวิทยาลัยก่อน พอดีมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้น
อย่างไรก็ดีรัฐบาลชุดที่แล้วก็ยังยอมให้มหาวิทยาลัยของรัฐไปทำประชามติว่าจะออกหรือไม่ เป็นไปตามที่อดีตประธานสภาคณาจารย์แห่งประเทศไทยร้องขอ มิได้มีการเร่งผลักดันให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบตามความต้องการของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่อย่างใด

ขณะนี้การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงของสังคม การเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าปัญหานี้จะยังไม่จบโดยง่าย

ข้อเสนอแนะ
ขอเสนอแนะดังต่อไปนี้
ข้อที่หนึ่ง เรื่อง การออกหรือไม่ออกนอกระบบเป็นประเด็นคำถามปลายเหตุ ควรตั้งคำถามที่ดีกว่าว่าจะปฏิรูปมหาวิทยาลัยอย่างไร ด้วยแนวทางใดจึงจะทำให้มหาวิทยาลัยมีคุณภาพ เจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างกระจายตัวทั่วถึงชุมชนต่าง ๆ ในกรอบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและยั่งยืน

หากพิจารณาว่ามหาวิทยาลัยของรัฐมีหน้าที่สำคัญเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยก็ถือเป็นองค์กรทางสังคมที่มีพันธกิจทางสังคมอย่างเด่นชัด มิใช่องค์กรทำกำไรเชิงพาณิชย์อย่างมหาวิทยาลัยเอกชน

ข้อที่สอง คำตอบที่ตามมาจากคำถามข้างต้นจะชี้ได้ว่า มหาวิทยาลัยซึ่งมีบริบทต่างกันทั้ง ประวัติศาสตร์การก่อกำเนิดและความเป็นมาต่างกัน เนื้อหาปัจจุบันที่มีจุดเน้นหนัก ความถนัด องค์ความรู้ต่างกัน โดยเฉพาะมีขนาดแตกต่างกันในสินทรัพย์ทางกายภาพ (มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก-จิ๋ว) และประเด็นอื่น ๆ ฯลฯ ควรมีทิศทางการจัดการพัฒนามหาวิทยาลัยของตนต่างกันหรือไม่อย่างไร จะดำเนินการในทางเลือกใด

ทางเลือกที่หนึ่ง ออกนอกระบบ
หรือทางเลือกที่สอง อยู่อย่างเดิม (ไม่ออก)
หรือทางเลือกที่สาม แสวงหาทางเลือกอื่นโดย “ปฏิรูปแนวใหม่” แนวทางเลือกนี้ มีหลักประกันที่ชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาลและคล่องตัว / การแสวงหาความเป็นเลิศทางวิชาการ / การมีเสรีภาพทางวิชาการ / การสนับสนุนหรืออุดหนุนงบประมาณจากรัฐอย่างมีตัวชี้วัดชัดเจน / การกระจายโอกาสทางการศึกษา / ความรับผิดชอบทางสังคม / ผลตอบแทนและสวัสดิการของบุคลากรอย่างเป็นธรรม / การมีสหภาพบุคลากรในมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างหลักประกันคุณภาพชีวิต / การมีองค์กรแบบ Ombudsman ให้เป็นกลไกดูแลความเป็นธรรม / การให้มีส่วนร่วมจากชุมชนและสังคมเพื่อเป็นหลักประกันความรับผิดชอบทางสังคม / การปฏิรูปการได้มาซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกระดับ ให้ได้ “ผู้บริหารมืออาชีพ” โดยอาจแบ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยออกเป็นสองส่วน “ผู้บริหารทั่วไป” ที่ต้องการความเข้มข้นด้านทักษะความสามารถทางการบริหารองค์กร และ “ผู้บริหารวิชาการ” ที่ต้องการความเข้มข้นความรู้ความเข้าใจทางวิชาการดีพอ รวมถึงปฏิรูปการได้มาซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การปรับปรุงองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย ในการนี้เพื่อให้เป็นองค์กรเชิงสร้างสรรค์ทางปัญญาเพื่อคุณภาพใหม่ มากกว่าแบบเดิม (แบบที่เป็นอยู่) ที่เป็น “สภาตรายาง” หรือ “รักษาสถานภาพเดิม” ฯลฯ

ข้อที่สาม นโยบายรัฐบาลต่อระบบอุดมศึกษาไทยทั้งระบบต้องชัดเจน รอบคอบ มองยาว มองไกล อุดมศึกษาไทยอาจประกอบด้วยมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏ) มหาวิทยาลัยเอกชน วิทยาลัยชุมชน สถาบันลักษณะพิเศษ เช่น สถาบันนายร้อย จปร. วิทยาลัยพยาบาล เป็นต้น เนื่องจากสังคมไทยมีลักษณะเป็น “พหุสังคม” จึงควรมีมหาวิทยาลัยในหลากหลายรูปแบบจะเหมาะกว่าไม่ใช่ไล่จับมหาวิทยาลัยของรัฐบีบให้เข้าสู่ลู่วิ่งเดียวเท่านั้น แม้ในต่างประเทศเองเขาก็มีมหาวิทยาลัยหลากหลายรูปแบบ

ข้อที่สี่ รัฐมักจะย้ำให้มหาวิทยาลัยยืนยัน เรื่อง “ความพร้อม” ในการออกนอกระบบอยู่เสมอ จากนี้ไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหายืดเยื้อต่อไป

(ก) รัฐต้องประกาศให้ชัดเจนว่า “ความพร้อม” ที่รัฐหมายถึงนี้ นอกจากสภามหาวิทยาลัย อธิการบดีแล้ว ยังรวมถึงส่วนสำคัญที่สุดคือ “ประชาคมในมหาวิทยาลัย” (อันประกอบด้วย บุคลากรทุกประเภท ตั้งแต่ คณาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน ลูกจ้าง โดยเฉพาะนักศึกษา) ด้วยหรือไม่ ขณะนี้ การยืนยันความพร้อมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตกลงกันที่สภามหาวิทยาลัย ซึ่งมีนายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีเป็นหลักเท่านั้น

(ข) ในความเป็นจริงการยืนยัน “ความพร้อม” ที่ดำเนินการนั้นเริ่มโดยการเร่งรัดรีบร้อนของรัฐบาลนี้โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทำหนังสือ “ด่วนที่สุด” ฉบับแรกลงวันที่ 26 ตุลาคม 2549 ฉบับที่สองวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ให้มหาวิทยาลัยตอบยืนยันมติสภามหาวิทยาลัยภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ให้เวลาเพียงสี่ห้าวันเท่านั้น กว่ามหาวิทยาลัยจะได้รับเรื่องก็เหลือแค่หนึ่งถึงสองวัน เป็นการบีบด้วยเวลา รูปธรรมนี้ชัดเจนว่าเป็นการริเริ่มจากรัฐบาลไม่ใช่เริ่มจากการร้องขอจากมหาวิทยาลัย ข่าวทางรัฐบาลกลับออกมาอีกอย่าง จึงเป็นประเด็นไม่ตรงไปตรงมา เข้าใจกันยากเกิดความระแวงสงสัย และอาจเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งตามมาหรือไม่

ข้อที่ห้า ต้องยอมรับว่าข้อจำกัดของรัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มีเวลาสั้นมาก ต้องบริหารเวลาให้เกิดประโยชน์ทางสังคมสูงสุด ต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญก่อน-หลังของนโยบายในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติอย่างชัดเจน นโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่มีความสำคัญสูงสุด จะมาทำการรวบรัดในหนึ่งปีคงไม่ได้เพราะเกี่ยวพันกับคุณภาพของการศึกษาระดับสูงของประเทศ นโยบายปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญเร่งด่วนควรดำเนินการเป็นลำดับต้น ๆ ในช่วงรัฐบาลนี้มีอีกมากได้แก่ ปัญหาการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การปรับปรุงการสอบเข้ามหาวิทยาลัย (O-NET, A-NET) คุณภาพโรงเรียน สพฐ.ที่อาการโคม่า การถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษาสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

ข้อที่หก การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยของรัฐ จะเกี่ยวพันกับ “เอฟทีเอทางการศึกษา” ที่รัฐบาลชุดที่แล้วลงนามกับบางประเทศเอาไว้แล้ว และอาจมีผลกระทบตามมาอย่างคาดไม่ถึง ยกตัวอย่างเช่น ควรศึกษาวิเคราะห์พันธะผูกพันข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลียอย่างลึกซึ้งชัดเจน โดยเฉพาะประด็นเรื่องการเปิดเสรีทางการศึกษา

ข้อที่เจ็ด ควรชะลอนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไว้ก่อน ไม่ควรรีบร้อนรีบเร่งรวบรัดให้เกิดแรงเสียดทานรุนแรงอย่างไม่จำเป็น ถ้าให้ดีควรถอน (ร่าง) พ.ร.บ. การออกนอกระบบของทุกมหาวิทยาลัยออกจาการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรืออย่างน้อยควรฟังเสียงประชาคมมหาวิทยาลัยและสังคมให้ทั่วถึงกว้างขวางมากที่สุดก่อน

ควรให้คนไทยทั่วไปในสังคมมีส่วนร่วมโดย “การลงประชามติ” ว่าเห็นด้วยหรือคัดค้านนโยบายนี้ หากพิจารณาว่าการศึกษาเป็นการพัฒนาคน มหาวิทยาลัยของรัฐมิใช่องค์กรธุรกิจเอกชนที่มุ่งทำกำไรล้นเกิน เพื่อสร้างหลักประกันการอยู่รอดทางธุรกิจเป็นหลัก

การดำเนินการก่อนการลงประชามติควรเป็นไปอย่างมีขั้นมีตอน โดยมีการให้ข้อมูลครบถ้วน เปิดเวทีสาธารณะเพื่อฟังเสียงสนับสนุนและคัดค้าน การรับฟังความคิดเห็นควรทำกว้างขวางทั้งในระดับภายในประชากรมหาวิทยาลัยและภายนอกคือสังคมโดยรวม มีการเปิดเวทีในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และเวทีสัญจรทุกภาค จนข้อมูลความคิดเข้าใจอย่างสุกงอมเต็มที่แล้ว บุคลากรในมหาวิทยาลัย นักศึกษา และพี่น้องประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจดีแล้วเท่านั้น ไม่ควรจำกัดเวลาถ้าของดีจริงนโยบายดีจริงคนย่อมสนับสนุนอย่ารวบรัดจำกัดเรื่องเวลาเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นจะนำมาซึ่งความไม่เข้าใจกันและขัดแย้งแตกแยกได้ เมื่อเกิดความเข้าใจอย่างชัดเจนในกระบวนการมีส่วนร่วมโดยมีกระทำประชาพิจารณาแล้ว จึงจะเปิดให้มี “การลงประชามติ” ว่าเห็นด้วยหรือคัดค้านในวิถีประชาธิปไตย

ข้อที่แปด การเปลี่ยนแปลงอุดมศึกษาไทยของชาติครั้งนี้นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่ง เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงบน “แผ่นกระดาษ” หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงบน “ชีวิต” ของผู้คนในสังคมและยิ่งไปกว่านั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงบน “อนาคต” ของประเทศชาติ ของการอุดมศึกษาทั้งระบบ โดยเฉพาะอุดมศึกษาในฐานะ “ปราการทางปัญญา” ของสังคมไทยในกระแสโลกาภิวัตน์

ความส่งท้าย
อุดมศึกษาไทยเดินมาถึงทางแพร่งแล้ว เป็นทางแพร่งที่ต้องเลือก แล้วใครจะเป็นผู้เลือก? สังคมโดยรวมหรือเพียงแค่ผู้บริหารระดับสูงไม่กี่คนกับชนชั้นนำอำนาจรัฐเพียงหยิบมือเดียว

เรื่องการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น มีการคิดต่างกันมองต่างกันก็เพราะมีกรอบปรัชญาสองแนวทางต่างกัน

แนวแรก พิจารณาว่า “การศึกษา” คือ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่ประชาชนพึงได้รับ รัฐต้องตอบสนอง แนวนี้มองการศึกษาเป็นสิทธิ

แนวที่สอง พิจารณาว่า “การศึกษา” คือ “เครื่องมือ” ในระบบเศรษฐกิจเครื่องมือ เหมือนอย่างทุนอย่างเครื่องจักร อย่างเทคโนโลยี อย่างที่ดิน ฯลฯ เป็นเครื่องมือเพื่อทำการผลิต-ค้าขาย-ลงทุน-ส่งออก เพื่อเพิ่มพูนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP)

แนวแรกมอง “คน” เป็น “ศูนย์กลาง” มี “จิตวิญญาณ” มี “ความเป็นอิสระ” ส่วนแนวที่สองนั้น มอง “คน” เป็น “เครื่องมือ” เป็นสิ่งที่ถูกกระทำ แล้วแต่ระบบเศรษฐกิจจะจับไปวางไว้ในส่วนไหนของกระบวนการผลิต (เช่น คนที่เรียนจบด้านศาสนาเปรียบเทียบก็จะไม่ถูกหยิบไปเป็นนายหน้าค้าเงินในตลาดหุ้น เป็นต้น)

ฉะนั้น การถกเถียงเรื่องอนาคตของมหาวิทยาลัยไทยจะพูดกันลอย ๆ คงไม่ได้ ควรชัดเจนและทำการวิเคราะห์ในกรอบปรัชญาดังกล่าว ในกรอบกระบวนทัศน์การพัฒนา ในบริบทโลกาภิวัตน์ การนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบ ดูเป็นนโยบายที่อิงวิธีคิดแนวที่สอง มากกว่า แนวแรก

ถ้าจะขับเคลื่อนตามแนวที่สองก็ต้องหาทุนเล่าเรียนหรือเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้มาก (แต่คงไม่พอให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่ดี)

ถ้าจะเลือกแนวแรกยอมต้องปฏิรูปการหารายได้อย่างเพียงพอเพื่อจัดสรรให้มหาวิทยาลัย เช่น โดยการปฏิรูปภาษีอากรครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มพูนรายได้เพื่อโครงการทางการศึกษาและสังคม เช่น จัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น ภาษีที่ดิน และภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น

ที่พูดข้างต้น พูดให้คิดบางแง่บางมุมเท่านั้น

ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า การศึกษาที่ดีคือการศึกษาที่สามารถสร้างสันติภาพให้กับโลกได้ ท่านวิพากษ์วิจารณ์ว่า “การศึกษาไทยเป็นเหมือนหมาหางด้วน” ไม่สมประกอบ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก กล่าวตอกย้ำอย่างเห็นภาพความจริงอีกว่า “การศึกษาของไทยเสมือนหมาขาขาด” อันที่จริง “การศึกษา คือการปลูกและบำรุงคนซึ่งต้องใช้เวลาตลอดชีวิตของคนแต่ละคน อีกทั้งใช้บทเรียนจากชีวิตจริง”

การศึกษาที่ดีควรสอนให้คนลดความเห็นแก่ตัวลง ลดการเอาเปรียบผู้อื่นลง ลดการเบียดเบียนธรรมชาติลง จึงจะทำงานให้สังคมอย่างมีความเสียสละแล้วจึงจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดสันติภาพขึ้นมาได้

แล้วประเทศไทยจะปฏิรูปอุดมศึกษาแบบใดอย่างไรดี นโยบายการออกนอกระบบขณะนี้ ยังไม่ได้ตอบคำถามเหล่านี้ ซ้ำยังไม่อาจสร้างหลักประกันต่อเป้าหมายดังกล่าวได้มิใช่หรือ

8 มกราคม 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น