“กุน” เป็นชื่อปีที่ 12 หรือปีสุดท้ายของรอบนักษัตร อันประกอบด้วย ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ และกุน ซึ่งในปี พ.ศ.2550 นี้จะเป็นปีนักษัตร “กุน” ที่มี “หมู” เป็นสัญลักษณ์
หมู เป็นสัตว์ที่ทุกคนรู้จักคุ้นเคยกันดี แม้บางคนจะไม่เคยเห็นตัวเป็นๆของหมูมาก่อน แต่ส่วนใหญ่ก็จะเคยเห็นภาพของหมูผ่านสื่อต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ หนังสือ นิทาน หรือจากข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นอาจเป็นเพราะหมูมีลักษณะอ้วนกลม เมื่อไปปรากฏอยู่ในสิ่งใดก็ชวนให้น่ารักน่าเอ็นดู อีกทั้ง หมูยังเป็นอาหารที่พบเห็นกันอยู่ทั่วไปเพราะสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายรูปแบบ และมีรสชาติอันโอชะเป็นที่นิยมบริโภคกันมาก โดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน
หมู หรือ “สุกร” ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่เลี้ยงง่าย โตไว และใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน ซึ่งนอกจากกินเป็นอาหารแล้ว อวัยวะต่างๆ ยังมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย เช่น หนังหมู มีสรรพคุณแก้อาการเจ็บคอ แน่นหน้าอก เลือดหมู แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ท้องอืดแน่นเฟ้อ กระเพาะหมู ช่วยย่อยอาหาร แก้กระหาย ปัสสาวะบ่อย ไตหมู ใช้เป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว บำรุงไต ดีหมู ใช้เป็นยาเย็นดับร้อน ทำให้ชุ่มชื่น และแก้อาการท้องผูก ดีซ่าน หัวใจหมู ใช้แก้อาการนอนไม่หลับ เหงื่อออกง่าย ใจสั่น เป็นต้น ส่วน ขนหมู สามารถนำไปทำเป็นขนแปรงสีฟัน และขี้หมู ก็ใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืช หรือผลิตแก๊สชีวภาพได้อีกด้วย
กล่าวกันว่า มนุษย์เรานำหมูป่ามาเลี้ยงเป็นหมูบ้านมาแต่โบราณ โดยสมัยก่อนหมูจะมีขนาดเล็ก และมีหัวโตกว่าตัว สำหรับหมูที่เลี้ยงกันในปัจจุบันเชื่อกันว่าได้ปรับปรุงพันธุ์มาจากหมูป่าแถบยุโรป และหมูป่าแถบเอเชีย โดยธรรมชาติของหมูจะไม่มีต่อมเหงื่อ มันจึงไม่อาจระบายความร้อนออกทางผิวหนังได้ ดังนั้น เมื่ออากาศร้อนเราจึงมักเห็นหมูหอบ และพยายามเกลือกกลิ้งกับน้ำ โคลน หรือสิ่งที่ชื้นแฉะในคอก หรือขุดดินนอนเพื่อคลายร้อน ทำให้คนมักเข้าใจผิดคิดว่าหมูเป็นสัตว์ชอบสกปรกเลอะเทอะ ซึ่งที่มันทำเช่นนั้นก็เพราะมันร้อนต่างหาก อีกทั้งโคลนยังช่วยป้องกันผิวมันจากแสงอาทิตย์ หมูสมัยก่อนจะมีขนแข็งและมันหนามาก แต่ปัจจุบันมีการผสมพันธุ์ใหม่ๆทำให้ขนนุ่มและมันน้อยลง หมูทั่วไปจะ มีผิวหนังสีดำ เทา หรือดำขาว บางชนิดก็เป็น สีขาวหรือชมพู
หมูเป็นสัตว์ที่มีลูกดก ครอกหนึ่งประมาณ 9-10 ตัว เป็นสัตว์ที่ มีนิสัยสอดรู้สอดเห็น ชอบเรียนรู้ ไม่อยู่นิ่งเฉย และมีความไวอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ว่าตกใจง่าย ว่ากันว่าลูกหมูที่ลืมตาดูโลกไม่กี่นาที จะพยายามยืนและเดินหาเต้านมแม่เพื่อดูดกิน และจะจำเต้านมที่ดูดได้ภายใน 7 วันหลังคลอด จากนั้นมันก็จะครองเต้านมนั้นไปจนหย่านม (ราว 6-8 สัปดาห์หลังคลอด) โดยไม่ยอมให้ตัวอื่นมาแย่งเลย การที่ หมูกินเสียงดัง ก็เพราะเมื่อมันใช้ลิ้นตวัดอาหารเข้าปาก หมูจะดูดอากาศเข้าไปด้วย เมื่อเคี้ยวอาหารอย่างรวดเร็วในขณะที่ดูดอากาศเข้าไปพร้อมกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดเสียงดังเวลามันกินอาหาร เขาจึงมักเปรียบคนกินอาหารมูมมาม เสียงดังว่ากินเหมือนหมู
ตัวอย่างอาหาร ที่ทำจากหมู ได้แก่ ไส้กรอก แฮม เบคอน หมูแดง หมูตั้ง หมูสามชั้น หมูยอ หมูหย็อง หมูแผ่น หมูหัน และหมูแนม เป็นต้น
สำหรับหมูดังๆ ที่คนไทยรู้จักกันดี น่าจะได้แก่ ตือโป๊ยก่าย ในเรื่องไซอิ๋ว อันเป็นเรื่องการเดินทางไปยังชมพูทวีปของพระถังซำจั๋งเพื่อไปอัญเชิญคัมภีร์พุทธศาสนากลับประเทศจีน โดยมีเห้งเจีย หรือหงอคง (ลิง) ตือโป๊ยก่าย (หมู) และซัวเจ๋ง (ปลา)เป็นบริวารคอยช่วยเหลือปราบเหล่าปีศาจที่ออกมาขัดขวาง ซึ่งตือโป้ยก่ายเองก็ถือว่าเป็นปีศาจหมูตัวหนึ่ง ที่ถูกเห้งเจียกำราบจนอยู่หมัดและดึงตัวมาเป็นลูกน้อง ในทางสัญลักษณ์กล่าวกันว่า ตือโป๊ยก่ายเปรียบเสมือนศีล อุปมาเป็นหมูที่ตะกละตะกลาม เจ้าชู้ คอยจะทำผิดศีลอยู่บ่อยๆ จึงต้องมีหงอคง (คือปัญญา) คอยกำกับตลอดเวลา
ส่วนหมูที่มีชื่อเสียงอีกตัว คือ เจ้าเบบ หมูน้อยที่อยากเป็นหมาเลี้ยงแกะ ในหนังดังจากออสเตรเลียที่คนไทยส่วนใหญ่คงได้ชมกันแล้ว
และถ้าหากใครผ่านไปบริเวณริมคลองหลอดด้านหลังวัดราชประดิษฐ์ หรือแถวกระทรวงมหาดไทย ท่านก็จะได้เห็น “อนุสาวรีย์หมู” ยืนเด่นเป็นสง่า บางคนที่ไม่ทราบความเป็นมาของอนุสาวรีย์หมูแห่งนี้ อาจคิดว่าเป็น “เจ้าแห่งหมู” ที่ไหน เพราะปัจจุบันจะเห็นคนไปบูชากราบไหว้อยู่เสมอๆ ซึ่งโดยแท้จริงอนุสาวรีย์ดังกล่าวสร้างขึ้นในโอกาสที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 50 พรรษา ใน พ.ศ.2456 และ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้สร้างคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระยาพิพัฒน์ (เซเลสติโน ซาเวียร์) และพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ที่เกิดปีเดียวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ คือ ปีกุน 2406 โดยสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบ ลักษณะคือเป็นรูปหมูหล่อด้วยโลหะ ยืนอยู่บนกองหินที่ก่อเป็นภูเขาเล็กๆ มีก๊อกน้ำประปาอยู่ข้างล่างเพื่อสาธารณประโยชน์ แต่ภายหลังก๊อกใช้ไม่ได้จึงถูกรื้อทิ้ง เหลือแต่อนุสาวรีย์หมูดังกล่าว ซึ่งแต่เดิมมีคำโคลงจารึกไว้ด้วย แต่ข้อความลางเลือนมาก เพราะประชาชนต่างพากันไปกราบไหว้และปิดทองเปลวจนทั่ว
ในทางโหราศาสตร์ของไทย กล่าวไว้ว่า คนเกิดปีกุน ธาตุน้ำ มนุษย์ผู้หญิง มิ่งขวัญอยู่ที่ต้นบัวหลวงและต้นบัวบก เป็นคนพูดจาหลักแหลม รู้หลักนักปราชญ์ แต่ไม่สู้จะมีผู้เชื่อถือ มักต้องทำงานหนัก เหนื่อยยาก ใจร้อน เป็นคนเจ้าโทสะ โกรธง่ายหายเร็ว ไม่ผูกอาฆาต จากที่เกิดไปอยู่ที่อื่นจะได้ดี ส่วน ตำราจีน ก็ว่า คนเกิดปีกุนสุภาพน่ารัก พูดช้า มีเชาวน์ รักการอ่าน ใจดี ส่วน ตำราญี่ปุ่น บอกว่าคนปีกุนเป็นคนไม่ค่อยจะได้ไตร่ตรองอะไรให้รอบคอบ ฉะนั้นจึงทำให้ต้องพบกับเศร้าโศกบ่อยครั้ง ทั้งนี้ เนื่องจากหุนหันพลันแล่น จึงควรคิดก่อนทำ จะดีขึ้นมาก คนเกิดปีนี้เป็นคนซื่อ ปราศจากมารยา
อนึ่ง ภาษิต คำพังเพย และสำนวนเกี่ยวกับหมูก็มีไม่น้อย เช่น หมูเขาจะหามเอาคานเข้าไปสอด หมายถึง ขัดขวางผลประโยชน์ที่คนอื่นคาดหวังว่าจะได้ หมูเขี้ยวตัน หมายถึง บุคคลที่คิดว่าจะหลอกหรือเอาชนะได้ง่ายๆ แต่กลับปรากฏว่าตรงกันข้าม หมูในเล้า หมายถึง คนหรือทรัพย์ที่อยู่ในอาณัติ ย่อมง่ายต่อการควบคุมหรือจัดการ ส่วน หมูในอวย หมายถึง อยู่ในกำมือ จะจัดการอย่างไรกับสิ่งนั้นก็ได้ หมูไปไก่มา คือ มีของแลกกัน ให้ของตอบแทน หมูสนาม เป็นคำเรียกนักกีฬาที่ฝีมือเป็นรอง ที่คู่ต่อสู้ชนะได้โดยง่าย ดินพอกหางหมู หมายถึง คนที่ชอบเก็บงานเอาไว้คั่งค้าง ไม่ทำให้ลุล่วงไปสักที หมูไม่กลัวน้ำร้อน คือ คนที่สู้ทั้งๆที่รู้ว่าชนะยาก หรือผู้ที่เปิดเผยข้อบกพร่องของผู้มีอำนาจโดยไม่กลัวโทษทัณฑ์
หมูเห็ดเป็ดไก่ เดิมหมายถึงพืช 4 ชนิดที่มาต้มเป็นยารักษาโรคกษัย (โรคตามตำราแพทย์แผนโบราณที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรม มีอาการผอมแห้ง ตัวเหลืองเท้าเย็น) หมูคือ แห้วหมู เห็ด คือ ใบชุมเห็ด เป็ด คือ รากต้นตีนเป็ด และไก่ คือ ใบมะคำไก่ ปัจจุบันคำนี้มักหมายถึง อาหารชั้นดี
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม