ในรอบปี 2549 โรคอันตรายขนาดที่สร้างความตื่นตระหนกหวาดกลัวอาจไม่ปรากฏให้เห็นชัดมากมายนัก อย่างไรก็ตาม ก็มีโรคต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอยู่หลายโรคด้วยกัน นั่นก็คือ บรรดา “โรคติดเชื้ออุบัติใหม่” ที่มีรายงานในคนและกำลังเป็นปัญหาในประเทศไทย
และในปี 2550 โรคเหล่านี้ก็จะเป็นโรคที่ต้องเฝ้าจับตามองใกล้ชิดอย่างไม่วางตาเลยทีเดียว
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่สำคัญในรอบปี 2549 เอาไว้ว่า อย่างน้อยมี 7 โรคที่ต้องจับตา แม้บางโรคจะยังไม่พบในไทย แต่อาจเกิดการระบาดขยายตัวในอนาคตได้
โรคอันดับ 1 ได้แก่ ไข้หวัดนก H5N1 ที่เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ Influenza กลุ่ม A
นับตั้งแต่เริ่มมีรายงานการระบาดในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้ว 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย เฉพาะปี 2549 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีรายงานการระบาดในสัตว์ปีกที่ยืนยัน 2 จังหวัด และมีผู้ป่วยรวม 3 ราย ซึ่งเสียชีวิตทั้ง 3 ราย ผู้ป่วยไข้หวัดนกส่วนใหญ่จะมาด้วยอาการไข้ ปวดเมื่อย อาจมีท้องเสียร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง ต่อมามีอาการระบบทางเดินหายใจ และสุดท้ายมักเสียชีวิตด้วยระบบหายใจล้มเหลว อัตราป่วยตายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-70
ความสำคัญของโรคไข้หวัดนกอยู่ที่โอกาสในการก่อให้เกิด Influenza Pandemic ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 คือ มีการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนหรือมีการติดเชื้อจากคนสู่คนแต่ยังไม่ง่ายนัก ทำให้ประชาคมโลกต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับมือหากสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้นเข้าสู่ระยะที่ 4 ที่มีการแพร่จากคนสู่คนในพื้นที่จำกัด หากหยุดไม่ได้ก็จะเข้าสู่ระยะที่ 5 ซึ่งการระบาดขยายวงไปสู่หลายพื้นที่หรือหลายประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะไปถึงระยะที่ 6 คือ การแพร่ระบาดขยายตัวทั่วโลกในที่สุด
อันดับ 2 โรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 หรือโรคมือเท้าปาก
ในปี 2549 มีข่าวการระบาดทั้งในมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทย ซึ่งโดยปกติโรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดในเด็กเล็กส่วนใหญ่ต่ำกว่าห้าขวบ สามารถหายได้เอง หลังการระบาดในมาเลเซีย ประเทศไทยก็เริ่มให้มีการรายงานโรค และพบว่าตั้งแต่ต้นปี 2549 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน มีรายงานผู้ป่วยมือเท้าปากประมาณ 1,800 ราย และมีที่เสียชีวิตแล้ว 5 ราย มีการชันสูตรศพตรวจพบเป็นเชื้อ EV 71 จำนวน 1 ราย นอกจากนี้ยังมีรายงานกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มาด้วยอาการไข้และต่อมามีระบบหัวใจและหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Cardio-pulnomary failure) ที่เสียชีวิตอีก 10 ราย ในจำนวนตรวจพบหลักฐานการติดเชื้อ EV 71 รวม 3 ราย โดยอาการและอาการแสดงคล้ายคลึงกับรายงานอื่นๆ ที่มีสมมติฐานว่ามีการติดเชื้อในระบบสมอง (Encephalomyelitis)
ทั้งนี้ ในการป้องกัน สธ.ได้ขอความร่วมมือให้ทุกโรงพยาบาล คลินิก และหน่วยบริการทางการแพทย์หรือทางสาธารณสุข หากพบผู้ป่วยมือเท้าปากที่อาการรุนแรงหรือกลุ่มอาการไข้และหัวใจ หรือการหายใจล้มเหลวให้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ รายงาน และทำการสอบสวนควบคุมโรคโดยเร่งด่วน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการระบาดรุนแรงดังเช่นที่เกิดในมาเลเซีย และไต้หวันมาแล้ว
อันดับ 3 โรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcal suis)
เชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในทางเดินหายใจส่วนบนของหมูโดยไม่มีอาการ แต่มีหมูจำนวนหนึ่งที่จะป่วยมีอาการทางสมอง หรือติดเชื้อในกระแสโลหิต มีอาการชักและตาย ซึ่งจะพบเชื้อจำนวนมากในกระแสโลหิตและอวัยวะต่างๆ ดังนั้น ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการนำหมูที่ป่วยหรือเสียชีวิตมาชำแหละ
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้รับรายงานผู้ป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ จากจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร ลำพูน เชียงใหม่ รวมแล้วประมาณ 40 ราย คาดว่าหากมีการรายงานครบอาจมีไม่น้อยกว่า 300 รายต่อปี โดยมักจะพบว่า ผู้ป่วยเป็นผู้ชาย ชอบทานลาบหลู่ที่เอาเลือดหมูดิบๆมาผสมเป็นส่วนประกอบสำคัญ นอกจากนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้ชายยังชอบทานสุราเป็นประจำหรืออาจเป็นโรคสุราเรื้อรัง ซึ่งโรคนี้หากไม่สามารถวินิจฉัยได้ทัน ผู้ป่วยมีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 10-20 และหากรอดชีวิตก็จะมีปัญหาหูหนวกสนิทสองข้าง เนื่องจากเกิดการติดเชื้อในสมองและประสาทที่เกี่ยวกับการได้ยิน และยังอาจทำให้ตาบอดได้อีกด้วย
อันดับ 4 โรคอาหารเป็นพิษจากเชื้อคลอสตริเดียม บูโทลินัม (Clostridium botulinum)
โรคนี้เป็นข่าวโด่งดังหลังจากชาวบ้านในอำเภอบ้านหลวง จ. น่าน รับประทานหน่อไม้อัดปีบที่ผลิตเอง โดยนำมาเลี้ยงเป็นอาหารกลางวันในงานบุญประจำปี แล้วเกิดอาการแน่นอึดอัดท้อง เสียงหาย ลิ้นจุกปาก ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน หายใจลำบาก และหยุดหายใจ ทำให้มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 209 ราย ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล 134 ราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 42 ราย
สำหรับแนวโน้มการระบาดของโบทูลินัมจะยังคงมีต่อไป และมาจากอาหารที่แตกต่างกันไป เช่น ในเดือนมิถุนายน 2549 พบผู้ป่วย 6 รายในชาวบ้านอำเภอเชียงคำ จ.พะเยา ทานเนื้อและเครื่องในของเก้งที่ล่าได้ในป่า โดยที่ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดกินแบบดิบ อย่างไรก็ตาม พิษโบทูลินัม ไม่ทนต่อความร้อน ดังนั้น กระบวนการผลิตอาหารจึงต้องได้มาตรฐาน ภาวะกรดและความร้อนจะช่วยทำลายเชื้อและพิษได้
อันดับ 5 โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อกลุ่มไวรัสแคลิซี (Caliciviruses)
ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว และส่วนใหญ่หายเอง คาดว่าโรคอุจจาระร่วงที่เกิดแบบอาหารเป็นพิษจำนวนมากเกิดจากเชื้อกลุ่มนี้ มีการระบาดบ่อยในเรือสำราญเดินสมุทร ทำให้ผู้โดยสารป่วยเป็นร้อยๆ คน และเป็นข่าวคราวอยู่เสมอในต่างประเทศแต่ไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยในไทย เนื่องมาจากไม่มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมากเท่าที่ควร
ประเทศไทยรายงานการระบาดของเชื้อไวรัสแคลิซี ในปี 2549 จำนวน 2 ครั้งในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. และเมื่อเดือนกันยายนที่มหาวิทยาแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งใน 1 สัปดาห์มีนักศึกษาป่วย 325 ราย โดยการส่งอุจจาระตรวจครั้งแรกจำนวน 40 ตัวอย่างไม่พบเชื้อแบคทีเรีย แต่เมื่อเอามาตรวจหาไวรัส ก็พบเชื้อไวรัสแคลิซี 17 จาก 18 ตัวอย่างที่ส่งมา
ดังนั้น หากพบการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษที่ตรวจไม่พบเชื้อแบคทีเรียก็ควรคิดถึงไวรัสกลุ่มนี้ด้วย เชื้อนี้ติดต่อทางการกินเข้าไปพร้อมอาหารหรือน้ำดื่ม (fecal –oral) ดังนั้น การกินอาหารสุกและสะอาด การปรับปรุงสุขาภิบาลของสถานที่และสุขลักษณะของผู้ปรุง ตลอดจนน้ำดื่มน้ำใช้จะเป็นมาตรการหลักในการป้องกันโรค
อันดับ 6.โรคบรูเซลโลซิส หรือโรคติดต่อจากแพะสู่คน (Brucellosis1)
ในอดีตประเทศไทยไม่ค่อยมีการรายงานโรคนี้ จนกระทั่งในระยะหลังที่เริ่มมีการส่งเสริมการเลี้ยงแพะเพื่อนำนมมาเป็นอาหารเสริม ทำให้ปัจจุบันมีการเลี้ยงแพะกระจายในทุกภาคและเกือบทุกจังหวัด โดยสำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยไข้ไม่ทราบสาเหตุที่ภายหลังได้รับการตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ โรคบรูเซลโลซิสครั้งแรกในปี 46 และตรวจพบเรื่อยมาทุกปี ซึ่งในปี 49 พบใน จ.สมุทรปราการ จันทบุรี สระบุรี และล่าสุดที่กาญจนบุรี
สำหรับอาการของผู้ป่วยจะมีไข้เรื้อรัง เหงื่อออกมากในเวลากลางคืน เป็นๆ หายๆ บางรายหลายเดือน ขณะที่พบ 1 ราย มีอัณฑะอักเสบด้วย เกือบทั้งหมดเป็นคนงานเลี้ยงแพะตามฟาร์มใหญ่หรือเป็นชาวบ้านที่เลี้ยงแพะ ซึ่งเกิดจากการคลุกคลีใกล้ชิดแพะ โดยที่ไม่ได้มีการสวมเครื่องป้องกันตนเองเช่นถุงมือยาว ผ้ายางกันการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ ซึ่งเชื้อสามารถเข้าทางบาดแผลตามผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ นอกจากนี้ยังพบว่า มี 1 รายที่ จ.ราชบุรีติดโรคเนื่องจากทานนมแพะดิบอีกด้วย
และอันดับ 7 โรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya)
โรคนี้อาจไม่คุ้นหูคนไทยมากนัก แต่ในต่างประเทศช่วงปี 2548 มีข่าวการระบาดใหญ่ ในเกาะมาดากัสการ์ ในมหาสมุทรอินเดีย นอกชายฝั่งทวีปแอฟริกา มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ถึง 260,000 และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง การระบาดได้แพร่ขยายมาตามหมู่เกาะทางทิศตะวันออกเรื่อย และเข้าสู่ประเทศอินเดียทำให้เกิดการป่วยในหลายรัฐ นอกจากนี้ยังมีการรายงานจากประเทศอินโดนีเซียว่ามีการระบาด 24 ครั้งในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา
เชื้อชิคุนกุนยา เป็นไวรัสที่อาศัยยุงลายพาหะชนิด Aedes aegypti โดยปกติทำให้เกิดอาการไข้ ปวดข้อรุนแรง ปวดหัวมาก อาจมีผื่นขึ้น แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต อย่างไรก็ดี การระบาดในปีนี้มีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในสมอง ซึ่งยังคงต้องติดตามศึกษาต่อไป ซึ่งสธ.ได้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและเร่งรัดให้มีการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้ได้ผลจริงจังด้วย
นพ.คำนวน สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ คงไม่จำกัดว่าต้องเป็นเชื้อโรคตัวใหม่ถอดด้าม อาจเป็นตัวเก่าแต่กลับมาอาละวาดใหม่ ซึ่งวงการสาธารณสุขและวงการแพทย์ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่เครือข่ายทางการแพทย์และสาธารณสุขจะต้องเฝ้าจับตามอง ติดตามการเปลี่ยนแปลง สร้างองค์ความรู้เพื่อทำการรักษา ป้องกัน ควบคุม การแพร่ระบาดนี้ให้ได้ตั้งแต่ต้น สำหรับในปี 2550 โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ทั้ง 7 โรค ยังคงอยู่ในข่ายที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป