xs
xsm
sm
md
lg

เด็กอ้วน! ทำอย่างไรดี/ผศ.พญ.จีรันดา สันติประภพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์สายตรงสุขภาพกับศิริราช
ผศ.พญ.จีรันดา สันติประภพ กุมารแพทย์

ปัญหาเด็กอ้วน กำลังเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งสำหรับเด็กและวัยรุ่นไทย เด็กอ้วนอาจจะดูน่ารักในสายตาของคนทั่วไป แต่ผลร้ายที่ตามมาจากโรคอ้วนนั้นมีมากมายจนนึกไม่ถึงทีเดียว วันนี้เรามารู้จักโรคอ้วน และการรักษาก่อนที่จะสายเกินแก้ดีกว่าค่ะ


สาเหตุของโรคอ้วน
1. รับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง พลังงานสูง ของมันของทอด เช่น ไก่ทอด ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ หรือรับประทานอาหารจำนวนมาก เช่น ข้าว 3 – 4 ทัพพีต่อมื้อ หรือรับประทานอาหารวันละหลาย ๆ มื้อ ร่วมกับขนมจุบจิบ ขนมถุงกรุบกรอบที่ให้พลังงานมาก แต่มีคุณค่าสารอาหารน้อย นอกจากนั้นเด็กอ้วนบางรายยังเกิดจากการดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่มีความหวาน หรือรับประทานอาหารฟาสต์ฟูดเป็นประจำ เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ฮ็อทด็อก ไก่ทอด ฯลฯ

2. ขาดการออกกำลังกาย เด็กและวัยรุ่นไทยในปัจจุบันไม่ค่อยออกกำลังกาย เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญ บางรายอาจไม่มีเวลา เนื่องจากต้องเรียนพิเศษ หรือเสียเวลาเดินทางในแต่ละวัน

3. พฤติกรรมของเด็กไทยในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป มักใช้เวลาว่างดูโทรทัศน์วันละหลาย ๆ ชั่วโมง หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เล่นอินเทอร์เน็ตร่วมกับการรับประทานขนม ซึ่งนอกจากจะไม่มีการเผาผลาญพลังงานแล้ว ยังรับประทานเกินความต้องการอีกด้วย รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เช่น การใช้ลิฟต์ บันไดเลื่อนแทนการขึ้นบันได

4. ครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ถ้าครอบครัวชอบรับประทานอาหารไขมันสูง พลังงานสูง หรือชอบรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่ไม่ออกกำลังกาย จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กติดนิสัยชอบรับประทานอาหารที่ทำให้อ้วนง่าย

5. โรคทางพันธุกรรมและความผิดปกติของฮอร์โมน เป็นสาเหตุของโรคอ้วนได้ แต่พบได้น้อย โดยทั่วไปเด็กอ้วนในกลุ่มนี้ จะอ้วน เตี้ย ไม่สูงใหญ่

อันตรายจากความอ้วน
1. เคลื่อนไหวลำบาก เนื่องจากน้ำหนักตัวมาก เคลื่อนไหวเชื่องช้า เวลาพลัดตกหกล้มจะเจ็บมากกว่าเด็กที่ไม่อ้วน เนื่องจากน้ำหนักมาก
2. กระดูกและข้อต่อเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร เนื่องจากต้องรับน้ำหนักมาก
3. ทำให้เกิดโรคเบาหวาน เด็กที่อ้วนมากจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย ในเด็กที่ที่อ้วนมาก ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน เกิดโรคเบาหวานเหมือนในผู้ใหญ่ได้ ซึ่งถ้าเป็นแล้วจะเป็นโรคเรื้อรัง เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อตา ไต ระบบประสาทและหัวใจตามมาได้
4. ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะในผู้ที่ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง ของมัน ของทอด
5. ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ เด็กอ้วนจะมีโรคความดันโลหิตสูงได้ มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
6. ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เด็กอ้วนจะมีอาการนอนกรน บางรายมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นร่วมด้วย ซึ่งมีผลทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงขณะหลับ ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีปัญหาภาวะหัวใจโตตามมาได้

นอกจากนั้น โรคอ้วนยังทำให้เกิดไขมันสะสมในตับ เกิดตับอักเสบ มีปัญหาทางไต และที่สำคัญอาจมีปัญหาทางด้านจิตใจตามมา เนื่องจากถูกเพื่อนล้อว่าอ้วน ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเข้าสังคม บางรายอาจจะถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าได้

ดังนั้น จะเห็นว่าโรคอ้วนมีแต่ผลร้ายตมมา ถ้าไม่อยากให้บุตรหลานของท่านอ้วน ต้องควบคุมเรื่องอาหารตั้งแต่วันนี้ รวมทั้งเน้นให้ทำกิจกรรม มีการออกกำลังกายเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยเผาผลาญพลังงานแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงสุขภาพดีอีกด้วย

เมื่อไรจึงควรพาบุตรมาพบแพทย์
ถ้าบุตรหลานของท่านอ้วน และมีประวัติครอบครัวดังต่อไปนี้ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง ควรนำบุตรหลานของท่านมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว โดยเฉพาะถ้าบุตรหลานของท่านมีผิวหนังรอบคอเป็นปื้นสีดำนูนบ่งบอกถึงภาวะดื้อต่ออินซูลิน ควรจะพามาพบแพทย์เพื่อตรวจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ และเพื่อให้ได้รับการแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับการลดน้ำหนักในแต่ละวัย

อย่าลืมหันมาใส่ใจสุขภาพของคุณและบุตรหลาน ดูแลอย่าให้โรคอ้วนถามหานะคะ
-----------------------------------------------------
ภาวะเหล็กเกิน : อันตรายที่ป้องกันได้
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลขอเชิญฟังบรรยายพิเศษเรื่อง ”ภาวะเหล็กเกินอันตรายที่ป้องกันได้” โดย ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ ผศ.นพ.วิปร วิประกษิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ในวันที่ 23 ธันวาคม 2549 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G รพ.ศิริราช
กำลังโหลดความคิดเห็น