xs
xsm
sm
md
lg

Getty Museum ใช้ความรวยให้เป็นประโยชน์ !/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิถีชีวิตเศรษฐีเมืองนอกนี่ช่างแตกต่างจากเศรษฐีเมืองไทยโดยแท้ !

ไม่มีมีใครปฏิเสธได้ว่าเมื่อได้ไปเยือน (J. Paul Getty Museum) หรือที่คุ้นหูคนไทยว่า “เกตตี้ มิวเซียม” แล้วจะอดชื่นชมถึงความสวยงามไม่ได้ โดยเฉพาะภูมิสถาปัตย์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ที่พบเห็นยิ่งนัก

ดิฉันเองก็เพิ่งเคยได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์เกตตี้ ที่ตั้งอยู่ ณ นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เคยได้ยินแต่ชื่อ และอ่านบทความของนักวิชาการที่ไปเยี่ยมเยือน และเขียนยกย่องชื่นชมกันไว้มากมาย

พิพิธภัณฑ์ เจ. พอล เกตตี้ เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชน เจ้าของชื่อ เจ. พอล เกตตี้ (J. Paul Getty) เศรษฐีน้ำมันที่ชื่นชอบงานศิลปะ จึงได้เก็บสะสมผลงานศิลปะดี ๆ ไว้ตั้งแต่สมัยหนุ่ม ทำให้มีงานศิลปะหลากชนิดจำนวนมาก จากนั้นก็ได้สร้างเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา
แม้ เจ. พอล เกตตี้ จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็มีทายาทรับช่วงต่อ และเปิดให้ผู้คนได้เข้าชมฟรี

ความประทับใจแรกเมื่อมาเยือนเริ่มตั้งแต่นั่งรถรางไฟฟ้าจากบริเวณที่จอดรถเข้าไปสู่พิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขา แค่วิธีเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ก็บรรเจิดซะแล้ว ยิ่งเมื่อได้เห็นวิวทิวทัศน์รอบข้างสร้างเสน่ห์สองข้างทางได้น่าจับใจทีเดียว

เมื่อเข้าสู่ตัวพิพิธภัณฑ์จะมีพื้นที่สำหรับ Orientation ให้ผู้ชมได้ทราบข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และวิธีการชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จากนั้นก็จะมีคู่มือสำหรับเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ให้เราติดไม้ติดมือไปด้วย

ภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งอาคารออกเป็นส่วนโดยใช้ทิศเป็นตัวบอกอาคาร คือ North Pavilion, South Pavilion, East Pavilion, West Pavilion รวมถึงส่วนนิทรรศการ ส่วน Family room และสุดท้ายเป็นสวนสวยด้านนอก

ส่วนที่ดิฉันเลือกตรงดิ่งไปที่แรกเลยคือส่วน Family Room

แค่ชื่อก็บอกแล้วว่าให้ความสำคัญกับกิจกรรมสำหรับครอบครัว โดยเน้น 3 ส่วน คือ Create, Discover และ Explore

ส่วน Family Room มีกิจกรรมให้เด็ก ๆ สนุกกับครอบครัวมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การนำเอาภาพวาดดัง ๆ ที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์มาขยายใหญ่แล้วให้เด็ก ๆ ต่อเติมด้วยการเล่นจิ๊กซอว์ วาดภาพ และถ่ายรูป

ทั้งยังมีกิจกรรมสำหรับนักศิลปะตัวน้อยที่สามารถทำกิจกรรมได้ทุกวัย เพราะถูกแบ่งสัดส่วนได้อย่างลงตัว เพราะพื้นที่ภายในไม่ได้กว้างนัก แต่การจัดแบ่งพื้นที่และมุมของกิจกรรมก็ทำให้ไม่ดูแออัดจนเกินไป

มุมที่เด็ก ๆ ชาวต่างชาติสนใจเห็นจะเป็นมุมนักศิลปะตามล่าหาสมบัติจากกำแพง การเรียนรู้สเต็ปการวาดภาพ และการสร้างประติมากรรมจากการต่อบล็อกงวงสองข้างให้พาดกำแพงได้หลากหลายแล้วแต่จินตนาการของเด็ก ๆ ก็สร้างความสนุกสนานให้แก่เด็ก ๆ ไม่น้อยทีเดียว

ส่วนเด็กเล็กก็มีพื้นที่สำหรับพักผ่อนด้วยการจำลองเตียงนอนของกษัตริย์และราชินีให้ยุคศตวรรษที่ 18 โดยมีหนังสือนิทานภาพ และหนังสือนิทานจำนวนมากวางเรียงรายล่อตาล่อใจให้เด็ก ๆ อยากเข้าไปนั่งภายใน

ความพิเศษของกิจกรรมส่วนนี้ที่ออกแบบมา โดยมีวัตถุประสงค์อยากให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับเอาผลงานดี ๆ ทางศิลปะตั้งแต่เล็ก มีหลายครอบครัวที่ไม่เพียงจูงเด็ก แต่มีทารกที่นั่งรถเข็นเข้ามาภายในโซนนี้จำนวนมาก

นั่นคือการตอกย้ำอีกครั้งว่าการเรียนรู้ของเด็กตั้งเริ่มตั้งแต่ทารก

และไม่มีข้อจำกัดสำหรับเด็กเล็ก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้ในเรื่องพิพิธภัณฑ์

เพราะภาพพ่อแม่ชาวไทยจูงลูกนั่งรถเข็นเข้าพิพิธภัณฑ์ดูจะเป็นเรื่องหายากไปซะอีก เพราะมักเข้าใจว่าลูกดูไม่รู้เรื่องหรอก ทั้งที่ในความเป็นจริง การเรียนรู้ของวัยทารก ต้องเริ่มจากพ่อแม่ “ปลูกฝัง” ต่างหาก

ถัดจาก Family Room ก็ไปชม Children’s Shop ซึ่งตั้งอยู่ในอาคาร South Pavilion เป็นพื้นที่ไม่กว้างนัก มีพื้นที่ให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมเล็ก ๆ แต่ไม่เน้นมาก จะเน้นขายของมากกว่า เป็นของเกี่ยวกับกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็ก หนังสือ สีสารพัดชนิด ตุ๊กตาประดิษฐ์ และอีกมากมายที่เน้นเรื่องการลงมือทำ ทำให้ได้ไอเดียมาพอสมควร ย้ำว่าได้ไอเดีย เพราะราคาสินค้าแต่ละชิ้นแพงมากเมื่อเทียบกับบ้านเรา

ความจริงไอเดียงานศิลปะบ้านเราไม่ได้เป็นรองเขาเลย ทั้งคุณภาพและราคา เพียงแต่ว่าไม่ค่อยได้ถูกให้ความสำคัญ หรือแบ่งเป็นโซนที่ชัดเจนให้พ่อแม่หรือเด็กได้เลือกซื้อ หรือได้ทำ workshop แบบเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนอย่างในบ้านเขา ของเราจะค่อนไปทางวางโต๊ะและสีให้เด็กได้ขีดๆ เขียนๆ ไปตามเรื่อง

ในขณะที่บ้านเขาเน้นเรื่องฝีมือลายมือด้วย ทำ Workshop ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาสอนเป็นเรื่องเป็นราว ที่สำคัญที่สุดก็คือ พ่อแม่ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะเขาเห็นความสำคัญ ไม่ใช่เห็นเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมก็เลยเอาลูกมาฝาก ยามเมื่อตัวเองต้องไปชอบปิ้ง

ผลผลิตก็เลยต่างกันอย่างที่เป็นอยู่

นี่ยังไม่นับรวม กิจกรรมพิเศษในช่วงพิเศษ ที่จัด Family Events หรือ Family Festivals รวมถึงคอนเสิร์ตในสวนของเด็ก ๆ ในช่วงโอกาสพิเศษปีหนึ่งก็หลายครั้ง เช่น ช่วงซัมเมอร์ ช่วงเดือนสิงหาคม หรือตุลาคม แล้วแต่ปีนั้น ๆ ซึ่งจะมีตารางกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ

ที่ดิฉันชอบในเป็นพิเศษก็คือห้องน้ำที่เก๋สุด ๆ คือนอกจากจะมีป้ายห้องน้ำ Men, Women ก็จะมี Family ด้วย นั่นคือการให้ความสำคัญในเรื่องครอบครัวเป็นอย่างมาก

เฮ้อ..แค่นึกถึงสนามบินสุวรรณภูมิที่ต้องใช้สำหรับเป็นจุดเดินทาง เห็นประกาศกันใหญ่โตอยากให้เป็นสนามบินสุดโก้หรูเป็นฮับการบิน ปัดโธ่...เดินหาห้องเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือสถานที่ให้นมแม่ยังไม่มีเลย

กลับมาที่เกตตี้ มิวเซียมดีกว่า...

หลังจากดิฉันและคนข้างกายป้วนเปี้ยนแถว ๆ โซนครอบครัวแล้วก็ไป West Pavilion เป็นสถานที่ที่มีการแสดงภาพผลงานของศิลปินชื่อก้องโลก Vincent Van Gogh และศิลปินชื่อก้องโลกอีกจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทั้งหญิงและชายคอยยืนมองผู้มาชมงานอยู่ตลอด พวกเขาจะคอยดู ไม่ให้ใครเข้าใกล้ภาพเขียนจนเกินไป
        
ในส่วนของห้องจัดแสดงงานก็พิถีพิถัน เพราะห้องที่ถูกสร้างเพื่อการโชว์ภาพงานศิลปะ ก็มีการให้ความสำคัญในเรื่องแสงจากธรรมชาติ รายละเอียดของผนัง รวมถึงพื้นห้องก็จะมีการปูพื้นคนละสี เพื่อเป็นเส้นกั้นไม่ให้ผู้ชมเข้าใกล้งานศิลปะมากเกินไป บริเวณผนังก็จะใช้สีอ่อน เพื่อเน้นขับผลงานให้โดดเด่น
        
จากนั้นดิฉันและคนข้างกายย้ายไป South Pavilion ซึ่งเป็นส่วนที่แสดงศิลปะสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของประเทศฝรั่งเศส ห้องนี้มีทั้งตู้ โต๊ะ เตียง เก้าอี้ ภาพวาด ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ล้วนๆ
    
ไปได้แค่ 2 อาคารก็ใช้เวลาไปหมดซะแล้ว ทำให้เราไปไม่ได้ทั่ว แต่ก็ไม่ลืมที่จะได้ไปดูสวนด้านนอก เพราะได้พบเห็นการจัดสวนที่สวยงามตระการตาจริง ๆ มีดอกไม้ ต้นไม้ พันธุ์แปลก ๆ แตกต่างจากบ้านเรามากมาย ที่นี่มีการจัดสวนเป็นเขาวงกตด้วย

และด้วยความที่เกตตี้ มิวเซียมให้ความสำคัญแก่สวนค่อนข้างมาก ก็เลยมีการจัดแสดงและมีการจัดทัวร์ชมสวนเป็นรอบ ๆ อีกต่างหาก ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่อยู่บนภูเขา แล้วอากาศดีอีกต่างหาก ก็เลยทำให้ผู้ชมอยู่นอกตัวอาคารก็ดื่มด่ำกับงานสถาปัตย์ตัวอาคารสีขาวที่สวยงามได้อย่างไม่รู้เบื่อทีเดียว

ว่าแล้วก็ฝันหวานอยากมีสถานที่แบบนี้ในบ้านเรามั่งจัง

นี่ถ้าอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่แล้วใช้ความรวยมาทำอย่างนี้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะไม่ต้องระหกระเหินอยู่อย่างทุกวันนี้
       
กำลังโหลดความคิดเห็น