xs
xsm
sm
md
lg

“หมอตุลย์” เชื่อร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ถูกถอน ชี้ข้อดี-ข้อเสียออกนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอตุลย์” เชื่อร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ถูกถอน โดยจะแปรญัตติตั้งแต่หลักการและเหตุผล เสนอให้ผู้บริหารตั้งคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาการออกนอกระบบ ชี้ที่ผ่านมาผู้บริหารบอกแต่ข้อดี แต่ไม่เคยตอบคำถามของฝ่ายคัดค้าน “ดร.อุกฤษ” เทียบข้อดี-ข้อเสีย ม.ออกนอกระบบ

ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันนี้ (19 ธ.ค.) คณะกรรมาวิสามัญจะพิจารณาแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการแปรญัตตินั้นจะพิจารณาตั้งแต่หลักการและเหตุผล โดยไม่เน้นเรื่องกฎหมาย ซึ่งเท่าที่หารือกันเรายังไม่ต้องการรับร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ในเวลานี้ เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวร่างโดยผู้บริหารซึ่งเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของคนในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ที่ระบุว่ามีการทำประชาพิจารณ์และบุคลากรในจุฬาฯ เห็นด้วยหมดแล้วนั้นก็ไม่เป็นความจริง และไม่อยากให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งขึ้นในสถาบันซึ่งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

“ผมค่อนข้างมั่นใจว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะชะลอไว้ก่อน หากได้พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล โดยสภาคณาจารย์เคยเสนอว่า ควรตั้งคณะกรรมการร่วม ให้มีทั้งฝ่ายบริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า แต่ไม่ได้รับการพิจารณาจากฝ่ายบริหาร แต่หากสามารถพิจารณาร่วมกันได้ก็จะดี เพราะที่ผ่านมาผู้บริหารไม่ได้ไขความกระจ่างของฝ่ายคัดค้าน หากตอบข้อคัดค้านได้ ความขัดแย้งก็จะหมดไป ที่ผ่านมาผู้บริหารบอกแต่ว่าออกนอกระบบดี จนเป็นแผ่นเสียงตกร่องแล้ว แต่ผมยังเชื่อว่าหากมีการอธิบายไขข้อข้องใจทุกคนจะเข้าใจ”

ผศ.นพ.ตุลย์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ จะถูกถอนออกมา ในอนาคตก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จุฬาฯ จะออกนอกระบบ แต่ในส่วนตัวขอเสนอทางออกที่เหมาะสม ให้มีการปรับปรุงระบบราชการใน จุฬาฯ เพื่อให้เอื้อต่อการทำงานรวม รวมถึงสถานะพิเศษของจุฬาฯ ที่ได้รับพระราชทานทรัพย์สินจากรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 หากจะบริหารเพื่อหากำไรก็ทำต่อไปได้ แต่ให้นำรายได้มาหักลบค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ซึ่งถือเป็นสถานะพิเศษของจุฬาฯ ซึ่งจะทำให้ค่าเทอมไม่เพิ่มขึ้นมากและเป็นปณิธานของจุฬาฯ มาตั้งแต่การก่อตั้ง

เทียบข้อดี-ข้อเสีย ม.ออกนอกระบบ
ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภา ได้นำเสนอข้อสรุปของทบวงมหาวิทยาลัย โดยการประเมินข้อดีข้อเสียของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐว่า ทบวงมหาวิทยาลัยได้สรุปภาพรวมทั้งหมดเกี่ยวกับ “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยใช้มหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (2533), มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (2535), มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (2541),และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (2541) ดังต่อไปนี้

 

ข้อดี :

1. มีความเป็นอิสระในการดำเนินงานภายในขอบเขตหนึ่ง การดำเนินงานทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้น ต้องศึกษาความเป็นอิสระและการมีเสรีภาพทางวิชาการอย่างมาก เพื่อที่จะได้ค้นหาความรู้ใหม่ๆและถ่ายทอดความรู้นั้นให้เกิดประโยชน์แก่สังคม อย่างไรก็ดี ความเป็นอิสระนั้นกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเพื่อป้องกันมิให้มหาวิทยาลัยใช้ประโยชน์จากความเป็นอิสระจนเกินขอบเขต

2. มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถพัฒนาระบบบริหารด้านต่างๆ ให้เหมาะสมกับลักษณะงานและธรรมชาติของมหาวิทยาลัยได้เอง ดังนั้น

2.1 การจัดโครงสร้างองค์กร มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดรูปบบขององค์กรและหน่วยงานต่างๆในมหาวิทยาลัย และมีอำนาจจัดตั้งและกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ เหล่านั้น

2.2 การบริหารงานบุคคล มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดและดำเนินการสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง รวมทั้งกำหนดอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ซึ่งทำให้คล่องตัวและสามารถเลือกสรรผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดได้

2.3 การบริหารงานวิชาการ มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการเปิดหลักสูตรสาขาวิชาต่างๆ กำหนดเนื้อหาสาระของหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน คุณสมบัติของผู้สอน ฯลฯ รวมทั้งจัดตั้งยุบ เลิกหน่วยงานทางวิชาการ

2.4 การบริหารการเงิน มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีความคล่องตัวยืดหยุ่น เพื่อให้เหมาะสมกับงานมหาวิทยาลัยและวิทยาการที่ปรับเปลี่ยนใหม่

นอกจากนี้ การกำหนดให้รัฐจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุน ย่อมทำให้มหาวิทยาลัยมีความคล่องตัวในการบริหารงบประมาณให้เหมาะสมกับภารกิจของมหาวิทยาลัยในแต่ละด้าน ตามนโยบายและแผนงานของมหาวิทยาลัยได้ดีกว่าการจัดสรรงบประมาณตามวิธีการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

3. การกำหนดให้การดำเนินงานสิ้นสุดที่มหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุดนั้น ทำให้ขั้นตอนในการดำเนินงานน้อยลง ส่งผลให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

4. มหาวิทยาลัยกับรัฐบาลยังมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากมหาวิทยาลัยยังรับเงินอุดหนุนจากรัฐ แต่ความสัมพันธ์จะเป็นไปในลักษณะการกำกับดูและมากกว่าการบังคับบัญชา

5. การปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะทำให้การบริหารจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมีประสิทธิภาพ เพราะกระจายอำนาจ บริหารให้แก่นักศึกษา ทำให้การบริหารการจัดการมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพขึ้น
 
 

ข้อเสีย :

1. มหาวิทยาลัยอยู่ในระบบราชการมานาน อาจมีผลทำให้บุคคลากรของมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยมีจิตใจผูกติดอยู่กับระบบราชการ คือมีความยึดติดกับระเบียบจนกระทั่งคิดว่ากฎระเบียบสำคัญกว่าจุดมุ่งหมาย และหากคนเหล่านี้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนความคิดพฤติกรรมได้ อาจส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยที่ต้องการดำเนินงานในลักษณะที่ไม่ยึดติดกับระบบราชการ

2. การปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐซึ่งบุคคลบากรก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพเมื่อเปรียบเทียบกับระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบที่ให้ความมั่นคงมาก

3. การให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนดกฎเกณฑ์ หรือระเบียบในเรื่องต่างๆเอง ถ้ามีความแตกต่างกันมาก อาจทำให้เกิดการแข่งขันสูง หรือเกิดการไหลจากมหาวิทยาลัยหนึ่งไปสู่มหาวิทยาลัยหนึ่ง

4. การกำหนดให้การดำเนินงานทุกอย่างสิ้นสุดที่มหาวิทยาลัย โดยสภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุด ถ้าหากสภามหาวิทยาลัยไม่เข้มแข็ง ก็จะทำให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยไม่ประสบผลสำเร็จได้
กำลังโหลดความคิดเห็น