xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ ม.ออกนอกระบบทรยศ ปชช.หวั่นที่ดินจุฬาฯแสนล้านถูกสูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจารย์จุฬาฯ จวก พ.ร.บ.ม.ออกนอกระบบ มีช่องโหว่ให้อำนาจผู้บริหารมากเกินไป หวั่นทรัพยากรมูลค่านับแสนล้านของจุฬาฯ ถูกใช้โดยไม่มีการท้วงติง ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตยออกแถลงการณ์ต้านเต็มที่ ลั่นขอให้รัฐบาลเฉพาะกาลหยุดทรยศประชาชน ขณะที่ อาจารย์ ม.ขอนแก่น ชี้ชัดค่าเทอมพุ่งแน่ เพราะเป็นมติ ครม.ปี 47 ผู้เรียนต้องจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน “วิจิตร” ประกาศชัดๆ รัฐบาลจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป

นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลักการใหญ่ๆ ของ พ.ร.บ.จุฬาฯ เป็นแนวทางที่ใช้จริงในทุกมหาวิทยาลัยทั่วไป ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นแนวทางเดียว ขณะที่แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีความแตกต่างกันออกไป อาทิ มหาวิทยาลัยที่มีความเก่าแก่มีทรัพย์สินมากก็ควรจะมีการบริหารจัดการที่ต่างจากมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งมาใหม่

สำหรับปัญหาใหญ่ของจุฬาฯ คือ เรื่องของหลักธรรมาภิบาล ซึ่งไม่มีการดำเนินการป้องกันไว้ก่อน ทำให้อาจมีปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากรโดยไม่มีการท้วงติงใดๆ เพราะ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ต้องการให้คล่องตัวในเรื่องของการบริหารจัดการเท่านั้น แม้จะบอกว่าฝ่ายผู้บริหารให้มีคณะกรรมการเพื่อเข้ามาตรวจสอบการทำงานได้และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก แต่นั่นก็เป็นคณะทำงานที่มาจากการสรรหาโดยผู้บริหารเอง

ดังนั้น ในเรื่องของวิธีการในการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการตรวจสอบควรกำหนดเงื่อนไขหลักๆ ไว้ในกฎหมายด้วย เพราะอนาคตไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะมีการเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยของรัฐไปเป็นมหาวิทยาลัยของผู้บริหารหรือไม่ เนื่องจากใน พ.ร.บ.ใหม่ไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าหากไม่มีการสรรหาก็ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ฉะนั้น ก็เป็นอำนาจของผู้บริหารที่จะแต่งตั้งใครก็ได้มากทำงาน ซึ่งเกรงว่าต่อไปหากเป็นเช่นนั้นจะเกิดการนำพวกพ้องกันเองเข้ามาทำงานทำให้เกิดการเกรงอกเกรงใจกันขณะปฏิบัติงาน

“ขณะนี้จุฬาฯ ที่เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมา เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก และเป็นทรัพย์สินของรัฐอยู่ แม้จะให้เหตุผลว่าการออกนอกระบบจะทำให้เกิดการคล่องตัวมากขึ้นในการบริหารงาน แต่ความคล่องตัวนั้นมาจากการบริหารจัดการก็ได้ เช่น ทัศนคติของผู้บริหารในการกระจายอำนาจให้ผู้อื่น เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเกิดเป็นระบบ CEO ผู้บริหารทำอะไรก็ได้”

อย่างไรก็ตาม นายตีรณ เสนอว่า หากท้ายที่สุดแล้วจุฬาฯสามารถออกนอกระบบได้จริงก็ควรจัดตั้งให้มี Due Diligence ซึ่งเป็นการเปิดให้บริษัท หรือสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงินเข้ามาประเมินมูลค่าทางทรัพย์สินทั้งหมด รวมถึงทิศทางในอนาคตของมหาวิทยาลัย เพราะหากจะให้ประมาณการมูลค่าทรัพย์สินของจุฬาฯในขณะนี้ คาดว่า น่าจะเฉียดเข้าใกล้แสนล้านบาท แต่อนาคตตัวเลขต้องพุ่งสูงกว่านี้ ส่วน พ.ร.บ.ฉบับใหม่กลับมุ่งสาระสำคัญไปเฉพาะเรื่องการบริหารงานที่คล่องตัวขึ้นของผู้บริหารเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ทำอย่างที่ว่านี้ก็ไม่สามารถรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงในทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยได้

ด้าน ผศ.นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเวทีอภิปรายที่จัดโดยสภานิสิตจุฬาฯ วานนี้ (14 ธ.ค.) ว่า ขณะนี้พยายามเสนอให้ผู้บริหารลดทิฐิลงมาคุย รับฟังความคิดเห็นของทั้งคณาจารย์ นิสิต และบุคลากรที่ไม่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอย่างแท้จริง เพราะเรื่องนี้ที่จุฬาฯมีการทำประชาคมตั้งแต่ปี 2544-2545 ซึ่งตอนนั้นผลของประชาคมก็ออกมาชัดเจนว่าอยากให้มีการปรับเปลี่ยนบัญชีเงินเดือนให้มีลักษณะคล้ายกับข้าราชการอัยการ ที่สำคัญคือ ไม่ได้ต้องการให้นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่กลับถูกนำมาตีความแบบบิดเบือน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็รอให้เรื่องเข้าที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อจะได้อธิบายให้อาจารย์ท่านอื่นๆ ได้ทราบข้อมูล

“ในส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการออกนอกระบบ อยากให้เป็นข้าราชการต่อไป แต่ต้องมีการปรับปรุงระบบ โดยเฉพาะเรื่องของบัญชีเงินเดือน อีกทั้ง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ยังขาดอีกหลายมิติโดยเฉพาะการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ลงมาพูดคุยกันอย่างประนีประนอมและถอนร่าง พ.ร.บ.ออกมาเสียก่อนแต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนใดๆ” นพ.ตุลย์ กล่าว

แฉมติ ครม.47 ไฟเขียวค่าเทอมพุ่ง
นพ.พิศิษฐ์ โจทย์กิ่ง อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า จริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเป็นอิสระและคล่องตัวในการบริหาร แต่ต้องเปลี่ยนแปลงให้ออกไปในรูปของส่วนราชการพิเศษมากกว่าที่จะนำออกนอกระบบที่มุ่งในเรื่องของการค้าขายทุกรูปแบบ

ที่สำคัญคือ เมื่อกลายเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะส่งผลให้ค่าเล่าเรียนแพงขึ้นเพราะในมติ ครม.วันที่ 7 เม.ย.2547 ระบุไว้ว่าผู้เรียนต้องจ่ายเงินให้ในส่วนของเงินเดือนพนักงานด้วยและล่าสุดในรัฐบาลชุดนี้บอกแล้วว่าไม่มีเงินให้กู้ยืมจะได้รับเฉพาะคนยากจนที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 150,000 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้คนชั้นกลางก็ไม่มีเงินมาเรียนแน่นอน

“รัฐบาลชุดนี้หมุนเงินไม่เป็นแถมยังไม่ยอมลดเพดานลงมาอีก ซึ่งผมคาดว่ามติครม.ดังกล่าวผู้บริหารบางคนยังไม่ทราบเรื่องด้วยซ้ำเพราะไม่ได้ติดตาม” นพ.พิศิษฐ์ กล่าว

YPD.ฉะรัฐบาลหยุดทรยศประชาชน
วันเดียวกันศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย(YPD.) ออกแถลงการณ์ค้านออกนอกระบบ โดยมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1.ความต่างของการออกนอกระบบที่ชัดเจนที่สุดในปัจจุบันคือ ไม่มีอะไรใหม่ในเรื่องการปฏิรูปคุณภาพทางการศึกษา มีเพียงรูปแบบการบริหารใหม่ตาม พ.ร.บ.ของแต่ละมหาวิทยาลัยเองที่แยกแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นเอกเทศ ภายใต้อำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จของอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยตามที่เขียนโครงสร้างอำนาจไว้ใน พ.ร.บ. ของแต่ละมหาวิทยาลัยโดยไร้การตรวจสอบหรือมีส่วนร่วมจากสังคม ขณะที่ประชากรในมหาวิทยาลัยจะถูกลอยแพให้ขึ้นต่อกลไกตลาดและการค้าแบบ “กำไร-ขาดทุน” ด้วย

2.สิทธิทางการศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแล จัดบริการสาธารณะนี้แก่ประชาชน ดังนั้น รัฐบาลจะปฏิเสธหน้าที่นี้โดยนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบสู่กลไกตลาดเสรีนิยมไม่ได้

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งโจทย์การปฏิรูปมหาวิทยาลัยใหม่ โดยเน้นการปฏิรูปสหวิทยาการ การพัฒนาภูมิปัญญาตนเอง ขณะเดียวกันศูนย์จะมีการประชุมใหญ่ประจำปีทั่วประเทศ เพื่อวางแผนการเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ และจะมีการแถลงข่าว ในเวลา 16.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน

”วิจิตร”พูดเหมือนเดิมไม่ขึ้นค่าเทอม
นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องมองเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เกี่ยวกับตัวมหาวิทยาลัยที่จะเปลี่ยนสถานะจากมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งมีหลักประกันในกฎหมายอยู่แล้วว่า เมื่อออกนอกระบบไปแล้ว รัฐบาลจะจัดเงินอุดหนุนประเภทเงินอุดหนุนทั่วไปให้กับทางมหาวิทยาลัย และถือเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความคล่องตัว

ขณะเดียวกันกฎหมายก็เขียนไว้ด้วยว่า รัฐบาลต้องให้การอุดหนุนอย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนามหาวิทยาลัยตามแผนการพัฒนา และหากมีภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถจัดหาจากแหล่งอื่นได้ รัฐก็จะต้องจัดให้เพียงพอ

นายวิจิตร กล่าวอีกว่า ส่วนข้อกังวลว่าจะขึ้นค่าเล่าเรียนจนคนยากจนไม่สามารถเรียนได้นั้น เรื่องดังกล่าวรัฐบาลเป็นห่วงอยู่แล้ว เพราะแม้ว่าอำนาจการกำหนดค่าเล่าเรียนจะเป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบหรือไม่ สภามหาวิทยาลัยก็ต้องกำหนดค่าเล่าเรียนตามสภาพความจำเป็น แล้วเท่าที่ตรวจสอบพบว่าค่าเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยเก็บเพียงแค่ 30% ของค่าใช้จ่ายตามจริง และหากจะเก็บเต็มตามค่าใช้จ่ายจริง ต้องเก็บเพิ่มถึง 70-80% สามารถเทียบได้กับมหาวิทยาลัยเอกชนที่จะเก็บค่าเล่าเรียนมากกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ 7-8 เท่า

“หากจะมีการขึ้นค่าเล่าเรียนมากเกินไป รัฐบาลก็สามารถที่จะยับยั้งได้ และมีกฎหมายเขียนว่ามหาวิทยาลัยอยู่ในกำกับของ รมว.ศธ. ซึ่งหากมีเรื่องอะไรที่ขัดแย้งก็ต้องถือมติ ครม.เป็นเด็ดขาด แต่เราไม่สามารถเขียนกำหนดค่าเล่าเรียนตายตัวไว้เลยได้ เพราะไม่เช่นนั้นต้องแก้กฎหมายกันอีกเมื่อจะขึ้นค่าเล่าเรียน อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องผลักดันเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ค้างมานานตั้งแต่รัฐบาลเดิม ไม่ใช่การเร่งรัด ส่วนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ คาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จใน 1 เดือน”นายวิจิตรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น