xs
xsm
sm
md
lg

สร้างตึกสูงใน กทม.ต้องทนแผ่นดินไหวได้ 7 ริกเตอร์!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อธิบดีกรมโยธาธิการ เสนอแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดการก่อสร้างให้รับแผ่นดินไหวเพิ่มพื้นที่อีก 12 จังหวัด ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งภาคใต้ 7 จังหวัด ระบุ อาคารที่จะสร้างต้องรับแรงสั่นสะเทือนได้ประมาณ 7 ริกเตอร์ ยันไม่ห่วงความปลอดภัยตึกสูง แต่ห่วงตึกที่ชาวบ้านสร้างเองมากกว่า เพราะอาจไม่มีวิศวกรดูแล

นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ อธิบดีกรมโยธาธิการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน และความคงทนของอาคาร พื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ฉบับที่ 49 พ.ศ.2540 ที่ออกตามกฎหมายควบคุมอาคาร ได้กำหนดพื้นที่ควบคุมสำหรับอาคารที่ต้องออกแบบการก่อสร้างให้ป้องกันการเกิดแผ่นดินไหวไว้แล้ว ซึ่งจะต้องรับแรงสั่นสะเทือนประมาณ 7 ริกเตอร์ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัย สูตรคำนวณการก่อสร้างจะต้องเผื่อไว้อย่างไร ซึ่งพื้นที่ควบคุมทั้งหมดเดิมมี 10 จังหวัด คือ ในภาคเหนือ 9 จังหวัด มีจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ภาคตะวันตก ที่จังหวัดกาญจนบุรี

ขณะนี้ได้แก้ไขเพิ่มเติมในกฎกระทรวงดังกล่าวเพิ่มพื้นที่ควบคุมอีก 12 จังหวัด คือ ภาคใต้ ที่จังหวัดกระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี และพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ร่างแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่า จะมีผลออกมาบังคับใช้เร็วๆ นี้

นายฐิระวัตร กล่าวด้วยว่า แม้ว่าในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ จะไม่ได้อยู่ในกฎกระทรวงดังกล่าว แต่อยู่ในการควบคุมการก่อสร้างโดยรวมของกฎหมายควบคุมอาคาร แต่เมื่อสภาพวิทยาการเปลี่ยนไป ประกอบเป็นบริเวณที่มีดินอ่อนมาก อยู่ใกล้รอยเลื่อน ถือว่ามีความเสี่ยงได้รับผลกระทบของน้ำใต้ดินในระยะไกลได้ เป็นบริเวณที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง จึงต้องปรับสูตรคำนวณใหม่เกี่ยวกับระบบวิศวกรรมและเทคโนโลยีให้การก่อสร้างได้มาตรฐานป้องกันแผ่นดินไหวโดยเฉพาะ โดยเพิ่มรายละเอียดลงในกฎกระทรวงที่ขอเสนอแก้ไขอยู่

“สำหรับตึกอาคารที่ไม่ได้มาตรฐานรองรับนั้น ตนไม่ค่อยห่วงตึกขนาดสูง เพราะการก่อสร้างจะมีคณะวิศวกรดูแลอยู่ แต่ที่ห่วงคือ ตึกขนาดกลางที่ชาวบ้านปลูกกันเองอาจจะไม่คำนึงถึงรายละเอียดความปลอดภัยของการก่อสร้าง”

อธิบดีกรมโยธาธิการ กล่าวอีกว่า ได้เตรียมออกใบอนุญาตให้ผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสภาพอาคารเป็นรายปี ตามกฎกระทรวงการตรวจสอบอาคารที่ออกมา เมื่อปลายปี 2548 ตามกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้ไปตรวจสอบอาคารให้เกิดความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลาทุกปี และมีการตรวจสอบใหญ่ 5 ปีครั้งหนึ่ง คาดว่า จะมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประมาณ 5,000-6,000 คน จากจำนวนวิศวกรโยธาที่มีเกือบ 10,000 คนทั่วประเทศ ขณะนี้กรมโยธาธิการกำลังสอบผู้ที่มีคุณสมบัติและเริ่มบังคับใช้ได้ปลายปี 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น