xs
xsm
sm
md
lg

กศน.เตือน ปชช.เชื่อโฆษณา “เรียนลัดจบเร็ว” อาจสูญเปล่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กศน.เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาเรียนลัดจบเร็ว ให้ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ใจกับ กศน.ก่อน ทางโทร.1660 มิฉะนั้นอาจสูญเงินหลายหมื่นและไม่ได้วุฒิการศึกษา

นายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีผู้เดือดร้อนร้องเรียนมายังสายด่วน กศน. โทร.1660 เรื่องการเปิดรับสมัครเข้าเรียนหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 การเปิดโรงเรียนสาธิตบริหารการศึกษา ตั้งอยู่ระหว่างซอยอุดมสุข เลขที่ 49-51 แขวงประเวศ กรุงเทพฯ และโรงเรียนสาธิต เลขที่ 43/4 ถ.สุขุมวิท 103 เขตพระโขนง กรุงเทพฯ ซึ่งได้ลงโฆษณาชวนเชื่อในหนังสือพิมพ์ว่ารับสมัครนักศึกษาเรียนทางไปรษณีย์ เป็นหลักสูตรเทียบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จบภายใน 6 เดือน ค่าละทะเบียน 1,500 บาท และค่าเทอม 3,000 บาท และในระดับชั้น ปวส.หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งมีค่าลงทะเบียนเรียน จำนวน 45,000 บาท จบการศึกษาภายในระยะเวลา 8 เดือน วุฒิการศึกษารับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ

กรณีที่ 2 โรงเรียนเสริมวิทย์ฯ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดรับสมัครเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย และเสียค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าที่ กศน.เรียกเก็บ ซึ่งผู้ร้องเรียนมีข้อสงสัยว่าวุฒิการศึกษาจากโรงเรียนดังกล่าวข้างต้น ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริง กศน.มีวิธีจัดการกับโรงเรียนเหล่านี้อย่างไร

ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว ทางสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ได้มอบหมายให้กลุ่มการเจ้าหน้าที่ และกลุ่มพัฒนาการศึกษา ประสานงานกับสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และตรวจสอบข้อเท็จจริง จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 1-4 พบว่าทั้งสองแห่งแอบอ้างชื่อของสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน เจตนาทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อโฆษณาหลอกลวง เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชาทั้ง 2 แห่งไม่ได้เป็นสถานศึกษาของ กศน. เพราะฉะนั้น วุฒิการศึกษาที่ออกให้โดยโรงเรียนดังกล่าวจะไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และในเรื่องของหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนก็ไม่มีการจัดการศึกษาระดับ ปวส. การโฆษณาดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดก่อให้เกิดความเสียหายกับสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ว่าสามารถเรียนจบได้เร็วกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

นายสมบัติ กล่าวต่อไปว่า จากทั้ง 2 กรณีข้างต้นน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นกับ กศน. หากเกิดความไม่แน่ใจ ควรตรวจสอบกับหน่วยงานต้นสังกัด ก่อนจะตัดสินใจเชื่อสื่อโฆษณาต่างๆ จะได้ไม่เสียเวลา และเสียเงินฟรีไปกับการแอบอ้างเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตนดังกล่าว โดยอาจจะสอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับทางสายด่วน กศน.โทร.1660 ซึ่งเปิดให้บริการให้ข้อมูล ตอบข้อซักถาม และรับเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาประชาชนที่ใช้บริการจากหน่วยงานในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน หรือสอบถามจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนใกล้บ้านได้ทุกแห่งทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น