จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากส่วนราชการสู่นิติบุคคลในกำกับ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความสำคัญต่อชาติ จึงควรได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งทันสมัย และมีส่วนผลักดันความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาและวิชาการอย่างจริงจังให้เท่าเทียมอารยประเทศ
การปรับปรุงให้สถาบันแห่งนี้ออกจากระเบียบข้อบังคับของทางราชการไปเป็นนิติบุคคลในกำกับของรัฐจึงเป็นโอกาสที่จะทำให้การบริหารมีความคล่องตัวและรับผิดชอบต่อตนเองมากขึ้น
กระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ควรเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยตระหนักถึงวิธีการแปรรูปที่ถูกต้อง มีแผนที่เป็นขั้นเป็นตอนและนำไปสู่การบริหารที่ดี
ต่อไปนี้เป็นข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฉบับใหม่เพื่อประชาชนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่กำลังออกนอกระบบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
1. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เกิดจากความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยของรัฐต้องเป็นอิสระทางการเงิน และการบริหารมากขึ้น
จุดแข็งสำคัญ คือ การโอนข้าราชการและลูกจ้างเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยโดนสมัครใจ และการเปลี่ยนแปลงขนาดของสภามหาวิทยาลัยให้มีขนาดเล็กลงและสอดคล้องกับบทบาทในระดับนโยบายของมหาวิทยาลัยมากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่มีปัญหามากได้แก่ การกำหนดที่มาของผู้บริหารที่ยกให้เป็นข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัยแยกออกไปต่างหาก (มาตรา 18, 27 และ 33) โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขบังคับใดๆ เกี่ยวกับการสรรหา ทำให้ขาดหลักประกันว่ามหาวิทยาลัยที่รัฐยังเป็นเจ้าของนั้นจะมีธรรมาภิบาลที่เข็มแข็งและยอมรับวัฒนธรรมใหม่ของความโปร่งใส
การกำหนดที่มาและกระบวนการการสรรหาผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยของรัฐมีความสำคัญยิ่งเพราะจำเป็นต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยและได้รับความศรัทธาว่าจะนำไปสู่การยึดมั่นในผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง จึงควรมีการระบุให้การสรรหามีกระบวนการที่ชัดเจน ปราศจากการครอบงำและมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การสรรหาโดยอย่างเคร่งครัด
มาตรฐานที่สูงในการสรรหาผู้บริหารไม่เพียงแต่สะท้อนถึงคุณภาพและความสำเร็จของการบริหารเท่านั้น หากยังเป็นเงื่อนไขที่จะช่วยป้องกันมิให้มหาวิทยาลัยของรัฐถูกแปรรูปไปเป็นนิติบุคคลที่ถูกครอบงำด้วยการผสานความคิดซ้ำๆ เฉพาะในกลุ่มก้อนเดียวกัน (inbreeding)
นอกจากนี้ ความเป็นอิสระทางวิชาการยิ่งควรได้รับการประกันโดยบัญญัติแห่งกฎหมายว่าผู้บริหารจะไม่ดำเนินการใดๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการควบคุมกีดกันความคิดเห็น และการค้นคว้าของคณาจารย์
2. มาตรา 13 (4) ถึงแม้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทสูงขึ้นถ้าสามารถร่วมทุนได้ ก็ควรมีข้อบังคับที่ชัดเจนเพื่อป้องกันมิให้เครื่องมือทางเงินแปลงผลของมหาวิทยาลัยไปสู่รูปแบบอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์ของการเป็นสถาบันการศึกษา
การกู้ยืมนั้นอาจเป็นเครื่องมือที่สามารถผลักภาระไปให้อนาคตได้ง่ายจึงควรกระบวนการพิจารณาที่รอบคอบ สำหรับเรื่องการลงทุนและการร่วมลงทุนก็ควรมีข้อบังคับในลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมายร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน
3. มาตรา 18 ควรกำหนดให้อธิการบดีเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่งเพื่อให้การบริหารสามารถมีกลไกที่มีความพร้อมและเชื่อมต่อกับแนวทางของสภามหาวิทยาลัยสู่การดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. มาตรา 19 ควรมีการกำหนดจำนวนวาระของกรรมการสภามหาวิทยาลัยมิให้เกิน 3 วาระ (หรือเป็นเวลารวมกันไม่เกิน 12 ปี) และไม่ควรให้มีการดำรงตำแหน่งสภามหาวิทยาลัยเกินกว่า 2 แห่งในเวลาเดียวกัน กรรมการสภามหาวิทยาลัยควรจะได้อุทิศตนต่อความรุ่งเรืองของมหาวิทยาลัยหนึ่งๆอย่างแท้จริง กรรมการระดับนโยบายนี้ควรให้มีการเปิดโอกาสสำหรับกรรมการที่มีความคิดใหม่ๆหรือแตกต่างออกไปได้บ้าง
5. มาตรา 27และ33 อธิการบดี(และคณะบดี) ควรมาจากคำแนะนำของคณะกรรมการสรรหาที่ไม่ใช่ผู้ปฎิบัติในงานมหาวิทยาลัย ไม่เคยเป็นคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีหรือคณบดีมาก่อน โดยไม่ควรมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นจำนวนเกินหนึ่งในสามของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ข้อกำหนดนี้จะนำไปสู่ความหลากหลายและความเชื่อมั่นในกระบวนการสรรหา สามารถช่วยป้องกันมิให้มีผู้ใดผู้หนึ่งหรือกลุ่มเครือข่ายใดๆมีอิทธิพลมากเกินไปในการสรรหาผู้บริหาร
6. มาตรา 29และ34 อธิการบดี (และคณบดี) ควรพ้นจากตำแหน่งถ้ามีอายุเกินกำหนด 60 ปี ทั้งนี้เพราะเป็นตำแหน่งงานบริหารที่ต้องการบุคคลทำงานเต็มเวลา จึงไม่ควรมีอายุการทำงานนานเป็นพิเศษกว่าคณาจารย์ประจำหรือบุคลากรประเภทอื่นของมหาวิทยาลัย
7. มาตรา 36 เนื่องจากระดับคณะไม่มีสภาคณาจารย์คณะกรรมการบริหารจึงควรมีสัดส่วนผู้แทนคณาจารย์ประจำคณะที่มากเพียงพอเพื่อป้องกันมิให้การบริหารถูกรวมศูนย์จนขาดการแนะนำท้วงติงหรือขาดการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเป็นเวลานานก็จะส่งผลให้องค์กรมรความอ่อนแอ ขาดความเป็นธรรมและขาดความสามัคคี
นอกจากนี้ แล้วสำหรับคณะที่มีภาควิชาเป็นจำนวนมากด้วยแล้ว คณะกรรมการบริหารจะยิ่งมีองค์ประกอบที่มาจากการตัดสินของคณบดีซึ่งถ้าในทางปฏิบัติเป็นผู้นำที่ดี มีคุณธรรมประเด็นนี้ก็จะเบาบางลง ทว่าหากมิได้เป็นเช่นนั้น การบริหารระดับคณะก็จะเสี่ยงต่อปัญหาการสืบทอดระบบอุปถัมภ์ซึ่งจะบั่นทอนความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยอย่างหนักและยาวนาน
7.1 คณะกรรมการบิหารไม่จำเป็นต้องมีหัวหน้าภาควิชาเป็นองค์ประกอบ (ควรให้คล้ายคลึงกับที่สภามหาวิทยาลัยไม่มีองค์ประกอบที่เป็นคณบดีโดยตำแหน่ง) ผู้แทนคณาจารย์จะเป็นตัวแทนภาควิชาหรือคณะได้ดีกว่าและจะรับฟังความเห็นของประชาคมมากกว่า ความจริงแล้ว ในกรณีที่มีภาควิชาเช่นนี้คณบดีสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานภาควิชาได้อยู่แล้ว
7.2 ควรกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการบริหารคณะต้องไม่เคยเป็นผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อป้องกันมิให้มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้มีความคิดเห็นที่เป็นอิสระจริง
7.3 ควรกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ให้ผู้แทนคณาจารย์ประจำมีจำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการบริหารรวมทั้งหมด เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้บริหารอยู่ในกำกับเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ คณาจารย์นั้นควรมีบทบาทมากกว่าการเป็นพนักงานลูกจ้างธรรมดาเพราะมีความรู้ความสามารถที่ จะเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จในการบริหาร ทิศทางและวิสัยทัศน์ต่างๆ อาจมิได้ด้อยไปกว่าผู้บริหารเลย
8. มาตรา 48 ในส่วนของการบัญชีและการตรวจสอบเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมายสำหรับหน่วยงานที่ใช้งบประมาณแผ่นดินอยู่แล้วและควรให้การตรวจสอบมีมาตรฐานสูงและเป็นอิสระในในทางปฏิบัติ จึงควรเปลี่ยนจาก “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” เป็น “หน่วยงานตรวจสอบการบัญชีที่มีชื่อเสียงซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งโดยคำแนะนำของคณะกรรมการอิสระ”
9. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขาดองค์กรหรือกลไกที่จะรับเรื่องร้องทุกข์และเรื่องเกี่ยวกับปัญหารการปกครอง หรือความไม่เป็นอิสระทางวิชาการ กลไกนี้มีความสำคัญในการช่วยให้สภามหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารระดับสูงได้รับรู้ปัญหาตั้งแต่ในระยะต้นๆ
รวมทั้งเป็นที่พึ่งแก่คณาจารย์และบุคลากรหากเกิดความรู้สึกได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
มหาวิทยาลัยของรัฐจะดำรงเกียรติภูมิแห่งการรับใช้ประชาชนได้ย่อมต้องเป็นสถาบันที่มีมาตรฐานทางธรรมาภิบาล
รับฟังและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาคมไม่มีการสร้างการบังคับบัญชาที่เหนียวแน่นซึ่งต่อการฝังรากลึกของระบอบอำนาจนิยมที่ไม่จำเป็นต้องไวต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เพราะผู้บริหารและคณาจารย์ต่างก็จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของนิสิตนักศึกษาหรือเยาวชนที่จะเป็นกำลังของชาติในอนาคต
หมายเหตุ - เป็นบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 13 ธ.ค.2549