xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภายันประกาศแพทยสภาไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการบริหารแพทยสภาแจงประกาศข้อเท็จจริงทางการแพทย์รายข้อละเอียดยิบ ย้ำประกาศไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ไม่ได้ละเมิดสิทธิผู้ป่วย เรียกร้องรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข นำการแพทย์พอเพียงมาใช้ แก้ปัญหาคนไข้วิ่งหาหมอพร่ำเพรื่อ พร้อมถกหาข้อสรุปประกาศดังกล่าวในที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการแพทย์สภาในวันที่ 14 ธ.ค.นี้
เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น.วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภาคนที่ 1 นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ เลขาธิการแพทยสภา นพ.สมศักดิ์ เจริญชัยปิยกุล รองเลขาธิการแพทยสภา พญ.เชิญชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ กรณีแพทยสภาได้ออกประกาศแพทยสภาที่ 46/ 2549 เรื่องข้อเท็จจริงทางการแพทย์ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างนั้น

นพ.สมศักดิ์ กล่าวชี้แจงว่า ประกาศฉบับนี้ไม่ได้เป็นข้อบังคับตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม แต่เป็นเพียงความจริงทางการแพทย์ที่ต้องการสื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจ ไม่มีข้อใดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิผู้ป่วย ส่วนข้อจำกัดทางแพทย์ตามข้อ 2, 3 และ 4 ซึ่งระบุว่า การแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัย ป้องกัน หรือบำบัดรักษาให้หายในทุกโรค บางโรคเพียงประคับประคอง ยิ่งกว่านั้นบางโรคไม่สามารถวินิจฉัยได้ในระยะเริ่มแรก ข้อที่ 3 ระบุว่า ในการบวนการทางการแพทย์อาจเกิดสภาวะอันไม่พึงประสงค์ แม้มีความระมัดระวังเพียงพอแล้วก็อาจมีเหตุสุดวิสัยได้ และข้อที่ 4 ที่ระบุว่า การประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถใช้ดุลยพินิจในการรักษาและการส่งต่อผู้ป่วย เป็นความจริงที่ได้ปฏิบัติอยู่แล้วในปัจจุบัน

สำหรับในข้อ 5 ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แพทยสภาประกาศข้อนี้มาทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิผู้ป่วย โดยไม่ต้องการให้แพทย์ปฏิเสธการรักษาโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วย และในการส่งต่อนั้นจะต้องให้คำแนะนำและส่งต่อตามความเหมาะสม ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับในสังคมอยู่แล้วว่าการส่งต่อผู้ป่วยโดยแพทย์ไปยังแพทย์ท่านอื่นที่มีความชำนาญตามสาขาเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสม

ส่วนในข้อ 6 ซึ่งระบุว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ ย่อมมีสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองที่จะไม่ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องที่แพทย์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว และในข้อ 7 เป็นเรื่องที่อธิบายให้ทราบว่าโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์มีศักยภาพในการทำงานไม่เท่ากัน และการที่แพทย์ทำงานโดยไม่ได้พักผ่อน หลับนอน อาจเกิดความผิดพลาดในการรักษาได้ ส่วนข้อ 8 และ 9 นั้น การให้ข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงทางการแพทย์กับผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของบุคลาการทางการแพทย์เป็นความรับผิดชอบของผู้ป่วยที่ต้องปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเอง

“คณะกรรมการแพทยสภาได้พิจารณาเรื่องนี้เป็นเวลานาน 3-4 ปีแล้ว ผ่านคณะกรรมการหลายชุด มีการนำเสนอที่ประชุมสภาวิชาชีพ ขอความคิดเห็นจากแพทย์และพยาบาล ปรับแก้ไขข้อมูล ก่อนที่จะนำเข้าสู่กรรมการแพทยสภา จึงออกเป็นประกาศ ซึ่งประกาศแต่ละข้อนั้นเป็นความจริงทุกข้อ แต่ไม่เคยมีการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษร ขณะที่ในต่างประเทศทั้งอเมริกา ออสเตรเลีย มีการออกประกาศในลักษณะนี้ทั้งนั้น ประเทศไทยไม่มีมาก่อนจึงอาจรับความจริงไม่ได้” นพ.สมศักดิ์กล่าวและว่าที่สำคัญในต่างประเทศจะมีการระบุถึงสิทธิ์และหน้าที่ของผู้ป่วยแต่ของไทยผู้ป่วยมีสิทธิ์แต่ลืมใส่คำว่าหน้าที่ ทั้งๆ ที่ ต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน

ด้านพญ.เชิญชู กล่าวว่า หน้าที่ของแพทยสภาในการควบคุมดูแลให้การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์มีมาตรฐานก็เพื่อคุ้มครองประชาชน ขณะเดียวกันก็จะต้องปกป้องแพทย์ที่ทำดีให้มีกำลังใจในการทำงานด้วย แต่ 3- 4 ปี ที่ผ่านมานี้มีคดีประชาชนฟ้องร้องแพทย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลตั้งแต่ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น เป็น 2 เท่า แพทย์มีเวลาในการดูแลผู้ป่วยน้อยลง ขณะที่รัฐบาลก็ตอกย้ำการประชาสัมพันธ์ว่าให้ประชาชนมาใช้บริการรักษาได้ทุกโรค ทุกเวลา โดยเน้นการสร้างสุขภาพ แต่ความเป็นจริงประชาชนยังไม่สนใจรับผิดชอบดูแลสุขภาพของตนเอง แต่หันมาใช้สิทธิ์ มากขึ้น ยิ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นรักษาฟรีไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็มาโรงพยาบาลกันหมด เท่ากับ มีแพทย์น้อยแต่มีคนมารักษามาก ขึ้น ทำให้แพทย์เกิดความเหนื่อยล้า เพราะต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน ติดต่อกัน เกิดปัญหาแพทย์เข้าสู่ภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น”

“ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดระเบียบการใช้บริการทางการแพทย์ให้เป็นการแพทย์พอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ ให้มีการใช้บริการทางการแพทย์อย่าง พอประมาณ สมเหตุ สมผล มีมาตรฐานตามหลักการวิชาการ มีความเสียสละร่วมมือกับทั้งประชาชนและบุคลากรการแพทย์ คือ ถ้าฉุกเฉินก็มาได้ตลอดเวลา แต่การป่วยที่ไม่ฉุกเฉินก็ควรมาในเวลาราชการและควรดูแลรักษาเบื้องต้นเอง ไม่ใช่มาใช้สิทธิรักษาตลอดเวลาเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงไม่ให้ประชาชนและแพทย์ได้รับผลกระทบในทางที่เสียหาย ซึ่งจะทำให้สังคมและประชาชนทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ได้รับความคุ้มครอง ไม่ให้เกิดผลเสียหายเช่นเดียวกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า เนื่องจากกระแสสังคมกดดันให้มีการทบทวนประกาศข้อเท็จจริงทางการแพทย์ แพทยสภาจะผลักดันให้เกิดการทบทวนประกาศดังกล่าวหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการแพทย์สภาชุดใหญ่ในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ จะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อ ดำเนินการชี้แจงให้ประชาชนทราบที่มาที่ไปและเหตุผล ซึ่งทุกข้อมีคำอธิบายที่ชัดเจน รวมทั้งอาจมีการแก้ไขข้อความบางข้อ ให้มีการใช้คำที่ยอมรับได้เนื่องจากอาจใช้ภาษาไม่ถูกต้อง อย่างคำว่า “อาจปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยที่ไม่อยู่ในสภาวะฉุกเฉิน” ในข้อที่ 5 ของประกาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น