xs
xsm
sm
md
lg

โลกที่เต็มไปด้วยโรคของ “คนอ้วน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัจธรรมที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ก็คือ “ความพอดี” ด้วยเหตุดังกล่าวสิ่งที่เกินพอดีจึงมักจะมีภัยแฝงมาอยู่เสมอ เช่นเดียวกับน้ำหนักที่มากเกินพอดีก็ย่อมเป็นภัยกับผู้เป็นเจ้าของ โดยอันตรายที่จะตามมาพร้อมกับความอ้วนไม่ใช่แค่ทำให้รูปร่างของคนๆ นั้นเปลี่ยนแปลงไป หากแต่ความอ้วนนั้นเป็นโรคที่ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่สามารถจะเกิดโรคอื่นแทรกซ้อนได้มากมาย

โรคร้าย 500 จำพวกของคนอ้วน
ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ ประธานฝ่ายวิชาการชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลว่าคนที่เป็นโรคอ้วนย่อมมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ ได้มากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ โดยเริ่มตั้งแต่ส่งผลต่อสมอง คือทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ และโรคหัวใจมากกว่าคนทั่วไป 2-4 เท่า ของคนปกติ ทั้งทำให้ตกอยู่ในภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเกิดจากการที่ปอดขยายตัวได้ไม่ดีหรือเลือดไหลผ่านได้ไม่ดี รวมถึงทำให้เกิดอาการง่วงซึม และหายใจไม่เต็มปอด บางคนเสียชีวิตเนื่องจากความไวของศูนย์หายใจลดลง

ขณะเดียวกันเนื่องจากคนอ้วนมีการสร้างและขับคอเลสเตอรอลออกทางน้ำดีมากกว่าคนปกติจึงทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีที่มากกว่า 3-4 เท่า โดยพบถึง 68 -94 %ของคนอ้วนทั้งหมด และมักจะพบความผิดปกติในการทำงานของตับ ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมของไขมันในตับมากกว่าปกติ และร้อยละ 50 ของคนเป็นโรคอ้วนจะมีปัญหาตับอักเสบ

ส่วนโรคเบาหวานก็เป็นโรคที่พบบ่อยมากในคนอ้วน ซึ่งผู้หญิงจะมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนปกติถึง 8-10 เท่า ขณะที่ผู้ชายจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 2 เท่า โดยพบบ่อยในช่วงอายุ 40-50 ปีขึ้นไป

ไม่เพียงเท่านั้น....
ผลของการที่น้ำหนักมากขึ้นทำให้ร่างกายต้องรับภาระมากขึ้นตามกัน 30-40 % ของคนเป็นโรคอ้วนจะมีอาการข้อกระดูกเสื่อมเร็วกว่าปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเก๊าท์ และโรคอ้วนยังส่งผลให้ระดับฮอร์โมนลดลง โดยผู้หญิงจะมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอและมีบุตรยาก ส่วนผู้ชายจะมีปัญหาเรื่องการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ส่งผลให้เป็นมะเร็งทางอวัยวะสืบพันธุ์ โดยมีโอกาสเป็นมากกว่าคนปกติ 1-1.5 เท่า
ที่ร้ายยิ่งกว่าก็คือ ผู้หญิงอ้วนก็เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยมะเร็งที่พบบ่อยคือ มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งทางเดินน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปีกมดลูกและรังไข่ ส่วนในผู้ชาย มะเร็งที่พบบ่อยในคนอ้วนก็คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคอ้วนในไทย ภัยที่กำลังขยายตัว
ชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยข้อมูลถึงสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทยว่ามีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลจากรายงานการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการอาหารของประเทศไทย ครั้งที่ 5 พ.ศ.2546 พบว่าปัจจุบันประชากรไทยประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 29.7 % ของจำนวนประชากร ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่แชมป์อย่างสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนคนที่เป็นโรคอ้วนอยู่ที่ 60 %

การเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนนั้นพบในทุกภาค โดยภาคกลางจะมีจำนวนคนที่เป็นโรคอ้วนเยอะที่สุด ช่วงวัยที่พบโรคอ้วนมากที่สุดนั้นจะอยู่ในช่วงอายุ 40 ปี แม้แต่ในเด็กก็มีความชุกของโรคอ้วนไปในทิศทางเดียวกันกับผู้ใหญ่ โดย ศ.นพ.สุรัตน์ ได้กล่าวว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกทำให้ละเลยการออกกำลังกาย

น้ำหนักหาย คลายความเสี่ยง
เมื่อน้ำหนักลดลง ผลที่ได้ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงเพียงหุ่นหรือรูปร่างเท่านั้น ไม่ได้ตระหนักว่าเมื่อลดความอ้วนแล้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนั้นได้ลดตามไปด้วย

ศ.นพ.สุรัตน์ ได้ให้ข้อมูลว่าถ้าลดน้ำหนักลงได้เพียงแค่ 5-10 % ของน้ำหนักตัว สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ถึง 44 % ส่วนความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งนั้นลดลงถึง 37 % โรคหัวใจและหลอดเลือดนั้นลดลดไป 9 %

“ การลดน้ำหนักเพียง 5-10 % ของน้ำหนักตัว สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆถึง 20 % ซึ่งเป็นการดีกว่าที่จะมารักษาโรคที่เกิดขึ้นแล้วหากสามารถป้องกันได้” ศ.นพ.สุรัตน์กล่าวถึงความสำคัญของการลดน้ำหนัก

ส่วนการใช้ยาช่วยลดน้ำหนักนั้น ศ.นพ.สุรัตน์ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนที่จะใช้ยา เพราะยามักจะมีผลข้างเคียงโดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ยาที่ใช้ในการลดน้ำหนักมีอยู่หลายประเภทได้แก่ ยาที่ใช้ลดความอยากอาหาร ยาที่ใช้แทนที่อาหาร ยาที่ชะลอหรือขัดขวางการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ยาที่ลดการสร้างไขมันและยาที่ช่วยเพิ่มการเผาผลาญสารอาหาร และได้ย้ำว่าการรักษาโดยใช้ยานั้นต้องใช้ในกรณีที่จำเป็นต่อการรักษาโรคอ้วนจริง ๆ การใช้ยาไม่ได้สามารถใช้ได้กับทุกคน แพทย์จะเลือกใช้เฉพาะคนที่จะได้ผลดีเท่านั้น และมักต้องอาศัยการรักษาด้วยยาร่วมกับวิธีอื่น ๆ อย่างการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับความตั้งใจของคนไข้

เพิ่มกำลังใจ ลดน้ำหนัก
“ไม่ว่าจะเรียนชั้นไหน ผมก็ตัวใหญ่ที่สุดในโรงเรียน” คำพูดนี้คงพอจะทำให้เรารู้ว่ารอบๆตัวชายคนนี้ คงไม่มีใครที่จะตัวใหญ่ไปกว่าเขาอีกแล้ว

ธนรัตน์ กิติยาการ หรือที่เรียกกันว่า ดีเจแมน นักจัดรายการจากคลื่น 89 MHZ power zone จ.ภูเก็ต น้ำหนักตัวที่มากถึง 261 กก. กับการลดน้ำหนักลงมาถึง 180 กก. คงเพียงพอแล้วที่จะทำให้เราทึ่งกับน้ำหนัก 81 กก. ที่หายไปในเวลาเพียง 4 เดือน

ธนรัตน์เล่าให้ฟังว่า จริงๆแล้วเขามีความสุขกับความอ้วนของตัวเองพอสมควร ไม่ได้ใส่ใจกับความอ้วน แต่พออายุมากขึ้นก็เริ่มให้ความสำคัญกับสุขภาพ

“ครั้งหนึ่งในช่วงปีใหม่ แม่ผมส่ง สคส.ให้ แล้วขอให้ผมลดความอ้วน แม่บอกว่าถ้าผมเป็นอะไรไปแล้วแม่จะอยู่กับใคร ก็เลยตัดสินใจลดความอ้วนอย่างจริงจัง”

ศ.นพ.สุรัตน์เสริมว่าการเริ่มต้นในการลดความอ้วนนั้นต้องการกำลังใจ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความตั้งใจจริงในการที่จะลดน้ำหนัก ซึ่งในส่วนนี้คนรอบตัวสามารถช่วยได้โดยเป็นกำลังใจให้ และสิ่งสำคัญในการลดน้ำหนัก คือต้องลดอย่างถูกวิธี ต้องทำความเข้าใจว่าการควบคุมอาหารไม่ใช่การอดอาหาร แต่เป็นการควบคุมปริมาณแคลอรี่ที่ควรได้รับในแต่ละวัน

ธนรัตน์เล่าให้ฟังว่า “เหมือนกับเรารู้ทันไขมันว่ามันจะมาแบบไหน อาหารชนิดไหนแคลอรี่สูงเราก็เลี่ยงที่จะไม่กิน หรือถ้าจะกินก็ต้องไปลดในมื้อหน้าเป็นการชดเชย ฉะนั้นมันจึงไม่ใช่การห้ามกินแต่เป็นการควบคุม ผมสนุกกับการลดความอ้วน เลยไม่เครียด ตอนนี้ความดันโลหิตปกติ โรคเบาหวานก็หาย ไม่รู้สึกเพลีย หายใจคล่อง”

ลดอ้วน ลดโรค
นพ.ชัยชาญ ดีโรจนรงศ์ เลขาธิการชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันตัวเลขการเสียชีวิตจากโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้น ชมรมโรคอ้วนแห่งประเทศไทยจึงได้จัดมหกรรม “ลดอ้วน ลดโรค” ในหมู่คนไทย เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เพื่อรณรงค์ให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น รวมทั้งลดอัตราสูญเสียทางเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากคนไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนมากขึ้น และก่อให้เกิดโรคอื่นตามมา

“ การรณรงค์ให้ลดความอ้วนในครั้งนี้ จุดมุ่งหมายอยู่ที่การลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการลดความอ้วน ไม่ใช่เป็นการลดความอ้วนที่ต้องการให้รูปร่างดี ถ้าคนที่เป็นโรคอ้วนตั้งใจที่จะเดินเข้ามาเพื่อรับการรักษา ผมมั่นใจว่าคนเหล่านี้มีโอกาสที่จะหาย แต่คงไม่ใช่ลดไปเท่ากับคนปกติ เพราะในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคอ้วนให้หายขาดได้” นพ.ชัยชาญ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมมหกรรม “ลดอ้วน ลดโรค” ทางโครงการจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในภาวะอ้วน และต้องการจะลดน้ำหนัก เข้ามาสมัครโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยผู้สนใจสามารถสมัครได้ในวันที่ 17 ธ.ค. 2549 ณ บริเวณชั้น 1 Grand Hall – Siam Discovery Center ตั้งแต่เวลา 11.00 – 18.00 น. เพียงวันเดียวเท่านั้น ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 60 คนจะได้รับการรักษาโรคอ้วน ภายใต้การดูแลโดยแพทย์ของชมรมโรคอ้วนฯ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ในวันเดียวกันนั้นยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอ้วนอีกมากมาย ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.02-655-0405

สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกผู้สมัครในมหกรรม “ลดอ้วน ลดโรค” คือ ผู้สมัครต้องมีอายุระหว่าง 20- 60 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่สมัคร และต้องมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 30 ,มากกว่าหรือเท่ากับ 27 และมีโรคอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วนร่วมด้วย ซึ่งในระหว่างเข้าโครงการฯ ทางคณะกรรมการจะมีการนัดหมายให้ผู้เข้าร่วมโครงการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเข้าร่วมรับการรักษาตามเวลาและสถานที่ซึ่งได้จัดไว้คือ ร.พ. ศิริราช , รพ.รามาธิบดี และรพ.ราชวิถี

เกณฑ์ในการวัดความอ้วน
คำว่า "อ้วน" ในความหมายของคนทั่วไป กับความหมายทางวิชาการมีความแตกต่างกัน และควรที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาว่ามีความคิดวิตกกังวลว่าตนเอง "อ้วน" ทั้งที่จริง ๆ แล้วน้ำหนักยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามหลักสากลกำหนดไว้ว่าผู้ชายไม่ควรมีปริมาณไขมันในตัวเกินกว่า 12-15 % ของน้ำหนักตัว ส่วนผู้หญิงไม่ควรมีปริมาณไขมันในตัวเกินกว่า 18-20 % ของน้ำหนักตัว

ในทางวิชาการมีเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ใช้ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่โดยใช้ “ดัชนีมวลของร่างกาย” หรือ Body Mass Index (BMI) ซึ่งหาค่าได้จากการคำนวณ

ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (หน่วยกิโลกรัม)
                               ความสูง2 (หน่วยเมตร2)

ค่าน้ำหนักตัวปกติของชาวเอเชียควรอยู่ในช่วง 18.5-22.9 ถ้าสูงกว่านี้แสดงว่าเริ่มอ้วนแล้ว แต่ถ้าต่ำกว่านี้ก็จะถือว่าผอมไป



กำลังโหลดความคิดเห็น