ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ ได้เขียนไว้หนังสือสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” หมายถึง ผู้ทรงดูแลแผ่นดิน และทรงมีพระราชภาระในการทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่แผ่นดิน ประชาชน และประเทศชาติ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระนาม “ภูมิพลอดุลยเดช” มีความหมายว่า “พลังของแผ่นดิน เป็นอำนาจที่หาใดเปรียบมิได้” และตลอดระยะเวลาอันยาวนานแห่งการครองราชย์ ได้ทรงทำหน้าที่ “พระเจ้าแผ่นดิน”ที่สมบูรณ์ครบถ้วน ทรงเป็นพลังของแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความร่มเย็นแก่ทุกมวลชีวิตบนผืนแผ่นดินไทย
ข้อความข้างต้นคือ ความนำในสารคดีชุด “พระเจ้าแผ่นดิน” ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.)ได้จัดทำขึ้น และเคยจัดแสดงในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน-๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ มาแล้ว โดยมีทั้งหมด ๙ ตอนๆละประมาณ ๗ นาที คือ ตอนทรงพระเยาว์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ทรงผนวช พระราชกรณียกิจในประเทศ พระราชกรณียกิจในต่างประเทศ กษัตริย์นักพัฒนา อัครศิลปิน และพระบรมวงศ์ ซึ่งแต่ละตอนล้วนเป็นภาพประวัติศาสตร์อันน่าประทับใจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นภาพเมื่อทรงพระเยาว์ สมัยยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภาพที่ทรงเสด็จออกสีหบัญชรเป็นครั้งแรก ภาพเสด็จเยือนมิตรประเทศ และภาพที่กำลังทรงวาดภาพเหมือนโดยมีสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถประทับเป็นต้นแบบ เป็นต้น
สำหรับเนื้อหาของสารคดีชุดนี้ แม้จะเป็นเพียงวิดีทัศน์สั้นๆ เกี่ยวกับพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจบางส่วนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ก็จะทำให้เราได้เห็นถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ และซาบซึ้งถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยตลอดมา ดังจะได้สรุปภาพรวมบางตอนในสารคดีชุดนี้เพื่อให้ผู้สนใจได้ทราบพอสังเขป ดังต่อไปนี้
ในตอนทรงพระเยาว์ ได้กล่าวถึงสถานที่ที่ทรงเสด็จพระราชสมภพคือ โรงพยาบาลเคมบริดจ์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น ที่อยู่ในรัฐแมสซาซูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ธันวาคม เวลา๘ นาฬิกา ๔๕ นาที(เวลาในสหรัฐฯ) ทรงดำรงพระอิสริยศเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นพระเชษฐาภคินี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อทรงมีพระชนมพรรษาได้ ๑ พรรษาในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ สมเด็จพระบรมราชชนกก็ได้พาครอบครัวเสด็จนิวัติกลับกรุงเทพมหานคร และเสด็จประทับที่วังสระปทุม
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ สมเด็จพระบรมราชชนกได้เสด็จสวรรคต
ครั้นปีพ.ศ. ๒๔๗๕ ความผันผวนทางการเมือง กอปรกับพระสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรงนักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีพาพระโอรสธิดาเสด็จไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นการถาวร ซึ่งที่นี่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราก็ได้ทรงศึกษาต่อในชั้นประถมที่โรงเรียนเมียร์มองต์ หลังจากได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอีในประเทศไทยมาแล้ว ต่อมาได้ย้ายไปศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนูแวล เดอลา ซืออิสโรมองค์ ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติเอกชน
นายเซอรายดาริส พระอาจารย์ท่านหนึ่ง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ทั้งสองพระองค์ทรงสนใจในทุกๆเรื่องทุกวิชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์มาก
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลต้องเสวยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
ครั้นต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ เสด็จสวรรคต พระองค์ได้สืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ขณะทรงพระชนมายุเพียง ๑๙ พรรษา และเมื่อเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์จึงได้เปลี่ยนแนวการศึกษาจากสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มาเป็นวิชารัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์เพื่อให้เหมาะสมกับพระราชภาระในการปกครองประเทศ และในวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ อันเป็นวันที่ทรงอำลาพสกนิกรและประเทศไทยเพื่อเสด็จกลับไปศึกษาต่อนั้น ได้ทรงเสด็จไปถวายบังคมลาพระบรมศพพระบรมเชษฐาธิราชที่พระบรมมหาราชวัง ขณะที่ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังสนามบินดอนเมือง ได้มีประชาชนคนหนึ่งตะโกนว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์เรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์” ว่าทรงอยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง”ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว..”
คำมั่นสัญญาที่จะไม่ทรงละทิ้งประชาชน ไม่ละทิ้งหน้าที่ดังกล่าว เป็นเสมือนสัญญาแรกที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแต่ทรงพระเยาว์นี้ได้ผูกพันเป็นพระราชภาระอันยิ่งใหญ่ที่ทรงทำเพื่อประชาชนของพระองค์นับแต่นั้นมา
สำหรับตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ อันเป็นพระราชพิธีในการสถาปนาขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์นั้นก็ทรงให้มีการประกอบพิธีตามแบบโบราณราชประเพณี มีการสรงน้ำมธุราภิเษก และทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งพระปฐมบรมราชโองการนี้เป็นดังคำมั่นสัญญา และบทเริ่มต้นแห่งพันธสัญญาที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ และในวันนี้ก็ได้มีการเฉลิมพระนามาภิไธยที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”
รวมทั้งได้มีการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี
ครั้นในวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้มีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเทียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ซึ่งเป็นพระราชพิธีสุดท้ายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์จะเสด็จฯ บรรมทมบนพระแท่นเป็นเวลา ๑ คืน และในวันที่ ๗ พฤษภาคม ปีเดียวกัน ได้เสด็จออกสีหบัญชรเป็นครั้งแรกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ทำให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าปลื้มปีติ และเกิดความมั่นใจว่าจะทรงอยู่ดูแลทุกข์สุขของพวกเขาตลอดไป จากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ครั้งแรก
ต่อมาในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๑ ก็ได้มีพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองที่ทรงครองราชย์ยืนยาวนานกว่าบุรพกษัตราธิราชพระองค์ใดๆ คือทรงดำรงอยู่ในสิริราชสมบัติเป็นเวลา ๔๒ ปี ๒๓ วัน และในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็นับเป็นวันมหาปีติอีกครั้งของประชาชนชาวไทย ด้วยว่าเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี อันเป็นมหามงคลสมัยที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย รัฐบาลและประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ร่วมจัดงานเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในครั้งนั้น (สารคดีชุดนี้ ได้ผลิตขึ้นก่อนปี ๒๕๔๙ นี้ จึงมิได้บรรจุพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของปีนี้ไว้ด้วย)
ส่วนตอนพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ในวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ นั้น เราจะได้เห็นพระราชพิธีที่มีขึ้นที่วังสระประทุม ซึ่งมีสมเด็จพระศรีสวรินทิรา พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นองค์ประธาน และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสเป็นพระองค์แรก และม.ร.ว.หญิงสิริกิติ์ กิติยากร ได้ลงนามในทะเบียนสมรสเป็นคนที่สองในฐานะคู่สมรส อันนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกสำหรับพระมหากษัตริย์ไทยในยุคประชาธิปไตย ที่ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่นเดียวกับปวงชนชาวไทย ซึ่งในวันเดียวกันนี้ได้ทรงประกาศสถาปนา ม.ร.ว.หญิงสิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พร้อมพระราชทานเครื่องขัตติราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์ประดับเพชรให้สมเด็จพระราชินีด้วย นอกจากนี้เรายังจะได้เห็นหีบบุหรี่ถมเงินประดับด้วยพระนามาภิไธยย่อ ภอ.และสก. ที่มีลวดลายเป็นรูปจักรกับตรี ที่ได้พระราชทานเป็นของที่ระลึกในวันแห่งงดงามของทั้งสองพระองค์ด้วย
ตอนทรงพระผนวช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ประชาชนถึงพระราชประสงค์ที่จะทรงพระผนวชเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ว่า “ อันพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของเรานี้ ตามความอบรมที่ได้รับมาก็ดี ตามความศรัทธาที่เชื่อถือส่วนตัวข้าพเจ้าก็ดี เห็นเป็นศาสนาที่ดีศาสนาหนึ่ง ทั้งเพียบพร้อมด้วยบรรดาสัจจธรรมอันชอบด้วยเหตุผล น่าเลื่อมใสยิ่งนัก ข้าพเจ้ามีความคิดว่า ถ้ามีโอกาสอำนวย ก็น่าจักได้อุปสมบทในพระศาสนาตามพระราชประเพณีสักเวลาหนึ่ง ซึ่งจักเป็นการสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการีตามคตินิยมอีกโสดหนึ่งด้วย”
ดังนั้นจึงได้ทรงสู่พิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขณะพระชนมายุ ๒๙ พรรษาโดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช (ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์) ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาย์ ทรงมีพระฉายานามว่า “ภูมิพโล ภิกขุ” ทรงประทับ ณ เรือนปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชอยู่
ระหว่างทรงผนวช ๑๕ วัน (๒๒ ต.ค-๕ พ.ย.)ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงบำเพ็ญพระจริยาวัตรเหมือนพระภิกษุทั่วไป ไม่ว่าจะด้วยกิจของสงฆ์หรือเสด็จออกรับบิณฑบาตจากประชาชนทั่วไป ทรงตั้งมั่นในพระพุทธบัญญัติ และพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด แม้จะทรงเป็นถึงพระมหากษัตริย์ ที่สามารถกระทำภารกิจเหนือภิกษุสามเณรทั่วไปได้ ก็ทรงไม่กระทำเช่นนั้น ยังความปลื้มปีติแก่เหล่าพสกนิกรที่ได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีเป็นยิ่งนัก
พระราชกรณียกิจในประเทศ ภาพคุณยายเมือง นาสัน ชาวบ้านอีสาน อายุ ๙๓ ปีที่มาเฝ้ารอรับเสด็จแต่เช้ามืด พร้อมด้วยบัวสายสีขาว ๓ ดอก ซึ่งกว่าจะได้รับเสด็จฯดอกบัวในมือก็โรยรา แต่คุณยายก็ปลื้มปีติและจำได้ไม่ลืมถึงสายพระเนตรและพระสุรเสียงที่ทรงถามว่า “ยายสบายดีไหม” ภาพนี้ได้ถูกบันทึกไว้ และได้กลายมาเป็นภาพประทับใจที่ถ่ายทอดถึงพระมหากรุณาธิคุณมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๙๘ จนปัจจุบัน และยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย
หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฎรในทุกภูมิภาค เพื่อให้รู้จักประชาชนและแผ่นดินของพระองค์เอง ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินนี้เองที่ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นถึงความแห้งแล้ง และปัญหาความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างแท้จริง ทรงเสด็จไปทุกหนทุกแห่ง แม้แต่ในสถานที่วิกฤต เพื่อไปไต่ถามทุกข์สุขของประชาชน โดยในช่วง ๑๐ ปีแรก ตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๑๐ เป็นการสงเคราะห์และให้ความช่วยเหลือในปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อบรรเทาทุกข์เบื้องต้น เช่น ทรงช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ครั้นเมื่อภาคใต้ประสบวาตภัยและอุทกภัย กรณีแหลมตะลุมพุก ในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ ที่มีผู้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ก็ได้ทรงริเริ่มใช้วิทยุอส.ชักชวนให้ประชาชนจากภาคอื่นมาช่วย ทำให้ได้รับเงินและของบริจาคมากมาย และเป็นเหตุให้เกิดมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ อันหมายถึง พระมหากษัตริย์และประชาชนให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นร่วมกัน
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ทรงเสด็จไปเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นต่างๆยังทำให้ทรงเห็นปัญหาสาธารณสุข การขาดแคลนแพทย์และพยาบาล จึงได้พระราชทานรถพยาบาลเคลื่อนที่แก่สาธารณสุข และเรือเวชพาหน์แก่สภากาชาดไทย เพื่อให้บริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และที่สำคัญยังทรงได้ตั้งมูลนิธิราชประชาสมาสัย เพื่อกำจัดโรคเรื้อนที่สร้างความทุกข์แก่ประชาชนให้หมดไปอีกด้วย หากจะนับพระราชกรณียกิจที่ทรงริเริ่มและทำเพื่อราษฎรของพระองค์แล้วนับว่ามีไม่ถ้วน
จนกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลกก็ว่าได้
ตอนพระราชกรณียกิจในต่างประเทศ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรู้จักประชาชนและแผ่นดินของพระองค์แล้ว ในปีพ.ศ.๒๕๐๒-๒๕๑๐ พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินาถก็ได้เสด็จฯไปเยือนประเทศต่างๆอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ชาวโลกจะได้รู้จักประเทศไทยอย่างแท้จริง ประเทศเพื่อนบ้านที่เสด็จฯไปเยือนประเทศแรกคือเวียดนามใต้ ต่อมาก็เป็นอินโดนีเซีย และพม่า
เมื่อเสด็จฯไปเยือนสหรัฐอเมริกาในปีพ.ศ. ๒๕๐๓ นั้น ได้มีพระราชดำรัสใจความสำคัญต่อรัฐสภาอเมริกันว่า ทรงปรารถนาที่จะเรียนรู้ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งได้นำคำอวยพรและสันถวไมตรีของประชาชนชาวไทยมามอบให้ และสุดท้ายคือพระองค์ปรารถนาที่จะได้ทอดพระเนตรสถานที่ที่เสด็จพระราชสมภพ ซึ่งในวันที่ ๗ กรกฎาคม ปีเดียวกันนั้นเอง ก็ได้เสด็จฯโรงพยาบาลเมาน์ออเบอร์น และได้พบกับนายแพทย์สจ๊วต วิทมอร์ นายแพทย์ผู้ถวายพระสูติกาล และได้พระราชทานหีบบุหรี่ถมทอง มีพระนามาภิไธยย่อภปร.ด้านหน้า และด้านหลังจารึกว่า “แด่เพื่อนคนแรกของฉัน” (To my first friend)
เป็นเวลากว่า ๑ เดือนที่ทั้งสองพระองค์ได้นำพาประเทศเล็กๆของพระองค์มาให้เป็นที่รู้จักของอเมริกา ซึ่งถือเป็นมิตรภาพในชีวิตแรกของพระองค์ด้วย และระหว่างเสด็จเยือนประเทศต่างๆทางยุโรปนี้ ก็ได้ทรงเลือกประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่พระองค์ทรงผูกพันและคุ้นเคยกว่า ๑๙ ปีเป็นที่ประทับพัก จากนั้นก็ได้ไปเยือนประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายที่จะกระชับสัมพันธไมตรีกับประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งในโลก และเมื่อเยือนประเทศเบลเยี่ยม ก็เป็นจุดเริ่มต้นแห่งสายสัมพันธ์อันอบอุ่นยาวนานระหว่างพระองค์กับพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยี่ยมที่มีมาจนปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลา ๖ เดือนที่เสด็จฯประเทศต่างๆทั้งทางยุโรปและอเมริกา ท่ามกลามความผิดแผกแตกต่างทั้งภูมิประเทศ ภูมิอากาศ วัฒนธรรม ประเพณีและภาษา ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่างประเทศในฐานะประมุขจากประเทศเล็กๆ จนสามารถทำให้ประเทศที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ได้รู้จัก เข้าใจถึงวัฒนธรรม และความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๑๐ ที่เสด็จเยือนนานาประเทศรวม ๒๘ ประเทศทั้งทวีปยุโรป อเมริกา เอเซีย และออสเตรเลียนั้น ได้ทรงวางรากฐานความสัมพันธระหว่างประเทศและก่อให้เกิดความร่วมมือในโครงการต่างๆมากมาย ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นชัดอีกครั้ง จากพระราชสาส์น สาส์น และการมาร่วมแสดงความยินดีของประมุขประเทศต่างๆในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปีเมื่อปี ๒๕๓๙ ที่ผ่านมา
ตอนกษัตริย์นักพัฒนา เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงค้นคิดวิธีการต่างๆเพื่อบำบัดทุกข์ และส่งเสริมความสุข ความเจริญแก่ราษฎรทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะทางด้านเกษตรกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศ โดยได้ใช้พระตำหนักจิตรลดาเป็นศูนย์ทดลองส่วนพระองค์เพื่อชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมแก่เกษตรกร
ดังจะได้เห็นจากโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆที่มีมากกว่า ๒,๐๐๐ โครงการ และยังมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาค เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ อันมีชีวิตที่เป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่จับต้องได้ นำไปปฏิบัติได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาดินและน้ำ ที่ทรงตระหนักดีว่าเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรไทย เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา เป็นตัวอย่างของการพัฒนาพื้นที่ดินทรายที่เสื่อมโทรมให้นำกลับมาใช้ได้ใหม่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ตัวอย่างของการประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่งอย่างยั่งยืน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จ.นราธิวาส เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว และการใช้พื้นที่พรุให้เป็นประโยชน์ (พรุ คือ บริเวณที่ลุ่มชื้นแฉะ และมีซากผุพังของพืชพรรณทับถมอยู่มาก) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้ทรงคิดรูปแบบการจัดการดินและน้ำที่เรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” อันเป็นการแบ่งใช้พื้นที่ดินและน้ำเป็นสัดส่วนที่สามารถทำให้เกษตรกรเลี้ยงชีวิตได้ พึ่งตนเองได้ และยังสามารถพัฒนาก้าวหน้าไปอีก ๒ ขั้นตามศักยภาพของชุมชน ซึ่งแนวคิดและการบริหารจัดการดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งของการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นเครื่องมือที่จะกำกับสติ และกำหนดกรอบในการดำรงชีวิตตามที่ได้พระราชทานไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปีพ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม
ตอนอัครศิลปิน เป็นเรื่องราวพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในศิลปะแต่ละแขนง เช่น พระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี ที่ทรงสนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “แสงเทียน” ขึ้นเป็นเพลงแรก และตามด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์อื่นๆอีกมากมาย ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีเป็นอย่างสูง สามารถทรงคลาริเน็ต แซกโซโฟน และเครื่องดนตรีได้อีกหลายชิ้น อีกทั้งทรงสามารถบรรเลงโต้ตอบกับนักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงระดับโลกได้ทันที ทำให้นักดนตรีเอกของโลกพากันชื่นชมและยกย่องพระองค์ว่าเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีพระอัจฉริยภาพสูงส่งของโลกดนตรี
นอกจากด้านดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรายังมีพระปรีชาสามารถในเชิงหัตถกรรมและงานช่าง ทรงประดิษฐ์เรือใบมด ซูเปอร์มด และไมโครมดด้วยพระองค์เอง ทั้งการออกแบบ ตกแต่งและทาสี รวมถึงทรงคิดกังหันน้ำชัยพัฒนา และสิ่งประดิษฐ์อื่นอีกหลายชิ้น ซึ่งในปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ทรงได้รับการทูลเกล้าฯรางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมของโลกถึง ๕ รางวัลจากงานยูเรก้า ๒๐๐๐
สำหรับทางด้านจิตรกรรมและประติมากรรม แม้จะมีไม่มากนัก แต่ภาพหรือผลงานปั้นแต่ละชิ้นของพระองค์ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถที่ไม่แพ้ศิลปินอาชีพ ยิ่งพระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพแล้ว เราจะได้เห็นถึงความงดงาม อารมณ์และความสมบูรณ์ขององค์ประกอบภาพอย่างชัดเจน
ทางด้านวรรณศิลป์ นอกเหนือไปจากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต้ ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการใช้ภาษาทั้งไทยและต่างประเทศแล้ว ล่าสุดคือพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนกที่เป็นดังขุมทรัพย์แห่งปัญญา ให้ประชาชนชาวไทยได้อ่านและพินิจพิจารณาถึงการดำเนินชีวิตที่มีความเพียรเป็นหลัก
ยิ่งกว่านั้น ในด้านเทคโนโลยี พระองค์ยังทรงพระปรีชาสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์ไม่น้อย ได้ทรงคิดสร้างโปรแกรมเทวนาครี ที่มีทั้งอักษรไทย สันสฤต อังกฤษ และโครเนติก ที่แสดงสัญลักษณ์การออกเสียงอย่างถูกต้องที่โปรแกรมอื่นยังทำไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ส.ค.ส.ที่ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในหลายปีที่ผ่านมา
พระอัจฉริยภาพเชิงศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงแต่จะเป็นความสำราญส่วนพระองค์เท่านั้น แต่สิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นยังเป็นประโยชน์ต่อเหล่าอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์อีกด้วย สมดังพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน ที่หมายถึง ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ หรือผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน”
สำหรับตอนสุดท้าย คือตอน พระบรมวงศ์ จะเป็นตอนที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินาถจะต้องทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อเหล่าอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์แล้ว พระบรมวงศ์พระองค์อื่นๆ อันได้แก่ สมเด็จพระบรมราชชนนีเมื่อครั้นทรงมีพระชนม์ชีพ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ ต่างล้วนต้องทรงงานหนักเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระในการดูแลประชาชนและแผ่นดินไทยทั้งสิ้น
ทั้งหมดข้างต้น คือส่วนหนึ่งของสารคดีชุด “พระเจ้าแผ่นดิน” อันเป็นเรื่องราวบอกกล่าวถึงพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งนับตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จวบจนต้องรับพระราชภาระอันยิ่งใหญ่บำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมายในฐานะ “พระเจ้าแผ่นดิน” ที่คนไทยเราต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ด้วยตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์มาจนครบ ๖๐ ปีในปัจจุบัน ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยความเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดมา
ใครก็ตามที่ยังไม่เคยทราบพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจอันหลากหลายของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” มาก่อน หากได้ชมสารคดีชุดดังกล่าว คงอดทึ่งไม่ได้ว่าพระองค์ช่างเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระปรีสามารถในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ ที่ยากนักจะหาผู้ใดเสมอเหมือน เพราะตามธรรมดา คนเรามักเก่งด้านใดด้านหนึ่ง แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ “ในหลวง”ของเรานั้น ต้องพูดแบบสามัญว่า ทรงเก่งทุกด้าน และทรงเรียนรู้จริงอย่างลึกซึ้งจนสามารถนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งหากพระองค์ไม่ต้องรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์ และยังคงเรียนวิทยาศาสตร์ตามเดิมแล้ว พระองค์ก็อาจเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงก้องโลกก็ได้ แต่ก็เป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พร้อมด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการปฏิบัติพระราชภาระของพระเจ้าแผ่นดิน จึงทำให้ชาวไทยในวันนี้ ได้ปลื้มปีติและภาคภูมิใจที่เรามี “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” เป็น “พระเจ้าแผ่นดินของปวงชนชาวไทย”
.....................................................
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
หมายเหตุ: สั่งซื้อวีซีดีหรือดีวีดีสารคดีชุด “พระเจ้าแผ่นดิน” เพื่อเก็บภาพประวัติศาสตร์อันล้ำค่าไว้ฉายให้ลูกหลานได้ชื่นชมพระบารมีได้ ที่สวช. โทร. ๐๒ ๒๔๗ ๐๐๒๘ ต่อ ๔๑๖๒-๔๑๖๕ หรือหออัครศิลปิน โทร. ๐๒ ๙๘๖ ๕๐๒๒-๔ ในวันเวลาราชการ หรือซื้อได้ที่งานมหกรรมพืชสวนโลก บริเวณซุ้มโครงการหลวง ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๐ (ดีวีดี ราคาชุดละ ๒๙๙ บาท วีซีดี ราคาชุดละ ๑๙๙ บาท) รายได้ทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จพระราชกุศลฯ และสมทบกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ทั้งนี้ ได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว