xs
xsm
sm
md
lg

ประชาคมจุฬาฯค้านออกนอกระบบ ขู่หยุดเรียน-จี้อธิการฯ ลาออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชาคมจุฬาฯ ดุ! นำทีมสถาบันอุดมศึกษาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ขู่หยุดเรียน-เดินขบวนประท้วง อ้างรัฐบาลดำเนินการตามรอยรัฐบาลเดิม และไม่มีสิทธิตัดสินแทนประชาชนเพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เผย ม.ออกนอกระบบจะส่งผลให้ท่าเทอมแพงขึ้น สร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับสังคม บี้รับให้ทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษาเหมือนเดิม จี้อธิการบดีจุฬาลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีหรือสมาชิกสนช. พร้อมประกาศเดินสายตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านทุกสถาบัน

วันนี้(30 พ.ย.) ที่ห้องประชุม 12 ชั้น 2 ตึกเกษมอุทยานนิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประชาคมจุฬาฯ ประกอบด้วยคณาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น พร้อมทั้งบุคลากร และนิสิตจุฬาฯ ร่วมกับอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยรัฐ อาทิ ม.บูรพา ม.รามคำแหง ประมาณ 80 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ

นายเก่งกิจ กิติเรียงลาภ นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อ่านแถลงการณ์โดยสรุปว่า รัฐบาลชุดนี้เป็น รีบเร่งนำมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่งออกนอกระบบราชการตามแนวทางเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาดโดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและมหาวิทยาลัยทักษิณเป็น 3 มหาวิทยาลัยแรก และจะตามมาด้วยมหาวิทยาลัยอื่นๆอีกกว่า 20 แห่ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลทักษิณที่พยายามผลักดันนโยบายกลไกตลาดเหล่านี้ในช่วงที่อยู่ในอำนาจ แต่การผลักดันดังกล่าวของรัฐบาลทักษิณก็ถูกยับยั้งไปอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของประชาชนที่คัดค้านนโยบายนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบมาโดยตลอด นิสิต คณาจารย์และบุคลากรประชาชนทั่วไปได้พูดคุยกันและมีความเห็นว่าการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นเป็นการกระทำที่ไม่มีความชอบธรรม ดังนี้

1.รัฐบาลชุดนี้อ้างว่ามีหน้าที่ล้างระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นระบอบเศรษฐกิจที่มีนโยบายทำลายผลประโยชน์ของประชาชนคนยากจนในสังคมเช่น นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบตามแนวทางเศรษฐกิจที่เน้นกลไกตลาดนั้น รัฐบาลชุดนี้กลับไม่รักษาคำพูด แต่กลับดำเนินนโยบายที่ซ้ำรอยกับรัฐบาลชุดเดิม และรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้รวมไปถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติฯที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จึงไม่มีสิทธิที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนที่จะตัดสินดำเนินนโยบายที่ส่งผลกระทบกับชีวิตของประชาชน เช่น การแปรรูปน้ำ ไฟฟ้า หรือการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้

2.แนวนโยบายต้องการแปรรูปมหาวิทยาลัยเช่นนี้ มีผลต่อคนยากจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมโดยตรง อันเนื่องมาจากค่าเทอมที่พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และจะพุ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ หลังจากที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบสำเร็จแล้วนั้น จะเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงสำหรับคนยากจนในสังคมที่ไม่สามารถจ่ายค่าเทอมที่แพงลิบลิ่วได้

นอกจากนี้ ทุนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยหยิบยื่นให้นั้นเป็นไปในรูปแบบสังคมสงเคราะห์ที่นิสิตต้องนำเสนอความยากจนของตนให้เป็นที่ประจักษ์พอใจแก่คณะกรรมการให้ทุนถือว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างมาก

“ขอเสนอให้รัฐกลับไปทำหน้าที่หลักของตนเองในการสนับสนุนการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการทำให้การศึกษาทุกระดับเป็นสวัสดิการแก่ประชาชนและให้เก็บภาษีในอัตราก้าวหน้ามาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แทนที่การกระทำสิ่งที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมให้มากขึ้น”

3.การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบส่งผลโดยตรงต่อสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงานของอาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบันอาจารย์และบุคลากรมหาวิทยาลัยจำนวนมากอยู่ภายใต้สภาพการจ้างงานที่เหมือนบริษัทเอกชน ซึ่งต้องเซ็นสัญญาจ้างงานในระยะสั้นและไม่มีสวัสดิการใดๆทั้งสิ้น เมื่อนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบสำเร็จแล้ว อำนาจในการตัดสินใจจ้างงานหรือการลงโทษคนที่จะทำงานในมหาวิทยาลัยนั้น จะรวมศูนย์อยู่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งไม่ใช่ระบอบการบริหารจัดการที่เคารพหลักการการมีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ในทุกระดับ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

4.ด้านคุณภาพและความหลากหลายของการศึกษานั้นจะลดลงอย่างมาก โดยเมื่อรัฐบาลลดการสนับสนุนงบประมาณแก่มหาวิทยาลัย ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต้องหาเงินด้วยตัวเอง มหาวิทยาลัยจะเน้นการให้การศึกษาเฉพาะในสาขาวิชาที่สร้างกำไรให้แก่มหาวิทยาลัยมากกว่าสาขาที่ไม่สามารถสร้างกำไรได้ ส่งผลให้ทางเลือกของนิสิตและอาจารย์ที่ต้องการเรียนและสอนวิชาที่หลากหลายหมดไป

5.กระบวนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบขาดความโปร่งใสและขาดการรับฟังความคิดเห็นจากนิสิต นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ เพราะไม่เคารพความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ที่คัดค้านข้อเสนอนี้และหลายคนมองว่าข้อเสนอนี่ขัดต่อจดหมายจากสำนักราชเลขาธิการในวันที่ 26 เมษายน 2543

6.จากการที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆโดยเฉพาะคุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ อธิการบดีของจุฬาฯ ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญในสภานิติบัญญัติฯ ของรัฐบาลชุดนี้ แต่กลับไม่ทำหน้าที่ในนามของประชาคมจุฬาฯ ที่จะคัดค้านหรือโต้แย้งนโยบายของมหาวิทยาลัยออกนอกระบบของรัฐบาลแม้แต่น้อย

“คุณหญิงสุชาดาในฐานะของอธิการบดีซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาคมจุฬาฯทั้งหมด จึงควรจะเลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี หรือลาออกจากการเข้าร่วมกับรัฐบาล เพื่อแสดงความโปร่งใสตรวจสอบได้และความจริงใจต่อประชาคมจุฬาฯโดยทันที และรัฐบาลต้องยกเลิกการผลักดันร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยอื่น ที่เป็นไปเพื่อการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการโดยทันที โดยประชาคมจุฬาฯ และประชาชนที่รักความเป็นธรรมทั่วไป จะขยายการเคลื่อนไหวออกไปอย่างกว้างขวาง เพื่อคัดค้านนโยบายนำมหาวิทยาลัยอกนอกระบบให้ถึงที่สุดจนกว่ารัฐบาลและผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะยกเลิกการกระทำที่ไม่ชอบธรรมดังกล่าว”

นายเก่งกาจ กล่าวอีกว่า ประชาคมจุฬาฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์ และตั้งโต๊ะล่ารายชื่อนิสิต นักศึกษาที่คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยเริ่มจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และกระจายไปตามคณะต่างๆ ซึ่งขณะนี้รวบรวมรายชื่ออาจารย์ บุคลากร และนิสิตได้ประมาณ 100 คนแล้ว รวมถึงมีนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยเข้าร่วมแล้ว เช่น ม.ขอนแก่น ม.รามคำแหง ม.เกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(สจพ.) ซึ่งจะขยายเครือข่ายไปยังสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ต่อไป

“เราจะหารือกับเครือข่ายคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งอาจจะใช้มาตรการหยุดเรียนหรือเดินขบวนคัดค้าน ซึ่งหากเห็นตรงกันว่าจะใช้มาตรการหยุดเรียน ก็จะเริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากใช้วิธีการเดินขบวนก็จะประสานกับเครือข่ายหลายมหาวิทยาลัย” นายเก่งกาจ กล่าว

สำหรับบรรยากาศบริเวณหน้าคณะรัฐศาสตร์ได้มีการติดป้ายผ้าเขียนข้อความคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เช่น ค่าเทอมแพงขึ้น เด็ก…ฉลาดขึ้น? ,ข้อดีของการออกนอกระบบ เจ้าหน้าที่ตกงาน-จ่ายค่าเทอมแพงขึ้น…รวยขึ้น!!! ,ก่อนจะออกไป ทำไมไม่ถามหนู (ไม่มีตั้งค์จ่ายนะ) มหาวิทยาลัยไม่มี…ที่ให้ทบทวน

ขณะที่นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ขณะนี้เหตุผลในการออกนอกระบบที่มหาวิทยาลัยนำมาอ้างคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานให้คล่องตัวเป็นเหตุผลที่แคบเกินไป ทั้งนี้ มองว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วงจากการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยก็คือ การแสวงหากำไรจากนักศึกษาที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาและความหลากหลาย รวมทั้งความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของสาขาวิชาเป็นอย่างมาก เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะไม่ให้ความสำคัญกับสาขาวิชาที่ไม่สร้างรายได้จนนักศึกษาขาดความเป็นบัณฑิตที่แท้จริง รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบรากเหง้าของมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทำให้ความภูมิใจต่อสถาบันหายไป
กำลังโหลดความคิดเห็น