ภาวะสังคมบริโภคนิยมที่ทุกคนต่างดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของปากท้องตัวเอง จึงต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะหาสิ่งของต่างๆ มาสนองความต้องการของตัวเอง โดยไม่ใส่ใจว่าสิ่งที่ได้มานั้นจะต้องแลกกับการสูญเสียความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
ด้วยความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ จึงมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามจะอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยแรงกาย แรงใจ และด้วยความมุ่งมั่น โดยนำแนวคิดเรื่อง “ความพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้
และหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ วิถีชีวิตของ “วริสร รักษ์พันธ์” กรรมการผู้จัดการคาบาน่ารีสอร์ท จ.ชุมพร ชายหนุ่มที่ครั้งหนึ่งชีวิตต้องล่มสลายลงในระบบทุนนิยม มีหนี้สินถึง 300 ล้านบาท แต่สุดท้ายด้วยหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขาสามารถปลดโซ่ตรวนที่พันธนาการเข้าอยู่ได้ด้วยลำแข้งของเขาเองโดยที่ไม่ต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินใดเลย
ล่าสุดเขาได้รับรางวัล “ลูกโลกสีเขียว” ประเภทบุคคลเป็นหลักประกันแห่งความสำเร็จอีกด้วย
“หลังจากที่เศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี 2540 คาบาน่า รีสอร์ต ซึ่งเป็นกิจการของผมที่ทำอยู่ในขณะนั้น ต้องขาดทุน ผมมีหนี้สูงถึง 300 ล้านบาท เพราะค่าเงินบาทลอยตัว จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดน้อยลงทำให้ผมหมดสิ้นหนทางทุกอย่างในชีวิต ชีวิตของผมในช่วงนั้นเหมือนกับตกอยู่กลางทะเลลึกเพียงลำพังไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร”วริสรเล่า
แต่แล้วความโชคดีก็ได้บังเกิดขึ้นกับ วริสร ชายหนุ่มผู้มีจิตใจมุ่งมั่น เขากระโจนตัวเองขึ้นมาจากกลางทะเลลึก และปิดตำราเศรษฐศาสตร์ต่างประเทศทุกเล่มที่เคยศึกษามา หลังจากนั้นจึงหันมาเดินตามรอย เศรษฐกิจพอเพียงเนื่องจากมีโอกาสได้พบกับ “อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร”
“อาจารย์วิวัฒน์พาผมเดินดูบริเวณรีสอร์ต และขีดเขียนวาดภาพอะไรต่อมิอะไร ลงในกระดาษให้ผมดู และบอกว่าเป็นแนวทางพระราชดำริ จงปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม จะสำเร็จนำพาให้เกิดการแก้ปัญหาและนำไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนได้ แต่ภาพที่ผมเห็นเป็นเพียงรูปนาข้าว โรงเรียน แปลงผัก และหลากหลายจนดูไม่ออกว่าเป็นอะไรบ้าง จนกระทั่งวันหนึ่งผมจึงเข้าใจว่า นี่คือแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผมจึงนำสิ่งที่อาจารย์วิวัฒน์ เขียนให้นำเอามาประยุกต์ใช้ในธุรกิจจนประสบผลสำเร็จ”
10 ปีต่อมาภายใต้การดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้วริสร สามารถปลดปล่อยหนี้ ที่มีมูลค่าสูงถึง 300 ล้านบาทได้หมด โดยที่เขาไม่ต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินแม้แต่แห่งเดียว ภายใต้แนวคิดที่ว่า “เป็นหนี้อะไรไม่สำคัญเท่ากับการเป็นหนี้แผ่นดิน”
“ผมให้เขาเปลี่ยนสวนหย่อมที่รีสอร์ตเป็นแปลงนาข้าว ให้ทำแปลงผักรอบๆห้องประชุมใหญ่ ปลูกพืชกินได้ตามทางเดิน ผมให้เขาทำคอกเป็ด คอกไก่ แล้วให้นำเศษอาหารจากครัวมาผลิตเป็นอาหาร เป็ด ไก่ ผมผลิตของใช้จำพวก ยาสระผม สบู่ ยาสีฟันเอง ผมแทบไม่ได้ทำอะไรเลยในช่วงแรกนอกจากแปลงนาในช่วงแรก แต่จากจุดแรกผมได้ ฝึกตนเรียนรู้ ขยับสู่การทำสิ่งอื่น ทั้งแตกหน่อต่อยอดเป็นโครงการต่างๆอีกมากมาย จนผมสามารถเห็นผลของมัน”
“ผมเรียนรู้และเริ่มเข้าใจถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในที่สุดผมก็สามารถชำระหนี้ที่สูงถึง 300 ล้านบาทได้จนหมดภายในระยะเวลา 10 ปีโดยที่ไม่ต้องกู้ยืมเงินจากธนาคารแม้แต่แห่งเดียว และทำให้ผมได้รู้ซึ้งถึงคำว่าการเป็นหนี้ว่า การเป็นหนี้อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการเป็นหนี้แผ่นดิน”
ต่อมา วริสรจ้างชาวบ้านมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยออกเงินให้กู้ยืมเพื่อสร้างการทำการเกษตร และส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มาจำหน่ายให้กับโรงแรม ซึ่งราคาที่จำหน่ายจะได้ราคาถูกกว่าและได้ของที่มีคุณภาพปลอดสารพิษ ขณะที่ตัวรีสอร์ตเองได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดโดยใช้ “ธรรมชาติ” เป็นจุดดึงดูดแขกที่เข้ามาพักที่โรงแรม
นอกจากนี้ยังได้มีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลขึ้นเอง โดยนำน้ำมันพืชที่เหลือใช้จากครัวเรือนมาผสมกับเมทิลแอลกอฮอล์และโซดาไฟผสมให้เข้ากันเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงจะได้น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตขึ้นเอง ซึ่งเครื่องที่ทำการผสมก็คิดค้นขึ้นมาเองโดยชาวบ้านเป็นคนคิดแต่เขาเป็นคนออกทุนให้ ถือว่าเป็นการลดต้นทุนเชื้อเพลิงในการขนส่งได้พอสมควร และยังมีการทำหัวเชื้อน้ำยาทำความสะอาดโดยการนำผลมะนาวที่ใช้แล้วนำมาหมักจะได้น้ำยาทำความสะอาดที่ทำขึ้นเองและใช้ได้จริง
“ชาวบ้านสามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร เหมือนเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนภายในครัวเรือน และยังเป็นผลดีต่อโรงแรมอีกด้วยไม่ต้องสั่งซื้อของจากที่อื่นสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงแรมได้อีก และยังถือว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้เป็นอย่างดี”
“จะเห็นได้ว่านโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงนั้น มีประโยชน์อย่างมากมาย ถ้าทุกคนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ซึ่งรัฐบาลก็ได้นำนโยบายของในหลวงมาใช้ในการปกครองบ้านเมืองเพราะเล็งเห็นถึงคุณค่าของเศรษฐกิจพอเพียง ทุกคนไม่จำเป็นต้องก้าวตามเทคโนโลยีชาวต่างชาติไม่จำเป็นต้องทันสมัยเหมือนใครขอแค่พอมีพอใช้ก็พอ แล้วหันมาพึ่งพาตนเองให้มากๆ เพราะว่าประเทศไทยนั้นไม่ใช่เป็นประเทศอุตสาหกรรมแต่เป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าทางการเกษตรกรรมมากกว่า”วริสรสรุปทิ้งท้าย