“วิจิตร ศรีสอ้าน” เตรียมหาวิธีและเครื่องมือให้ครู-อาจารย์ ใช้ดูแลนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษา ยืนยันไม่นำ “ไม้เรียว” กลับมาใช้แน่นอน ด้านคณะกรรมการสิทธิฯ ให้ข้อมูลความรุนแรงในสถานศึกษาที่นับวันทวีความรุนแรงจนสร้างความเก็บกดให้เด็ก พร้อมเผยนักเรียนประมาณร้อยละ 40 เคยถูกรังแกเดือนละ 2-3 ครั้ง
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังคณะของคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ประธานอนุกรรมการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบเพื่อหารือเกี่ยวกับจัดเวทีสาธารณะลดความรุนแรงในโรงเรียนว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินำเสนอข้อค้นพบว่า ขณะนี้มีพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงหรือข่มเหงรังแกกันเกิดขึ้นในสถาบันทางสังคมหลายสถาบัน รวมทั้งสถานศึกษาด้วย
“ผมเห็นด้วยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งปัญหาความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น แต่เกิดกับสถาบันสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อผมได้พิจารณาข้อเสนอคณะกรรมการฯแล้วก็เห็นว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการคุณธรรมในระบบการศึกษาไทยที่กระทรวงมอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดำเนินการยกร่างยุทธศาสตร์และแนวทาง ซึ่งเห็นชอบในหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา แล้วกำลังจะนำเสนอเข้าสู่ ครม.ต่อไป”
ศ.ดร.วิจิตร กล่าวต่อว่า การที่มีคนมาอยู่มากกว่า 1 คนจะต้องมีการจัดระบบรองรับอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีนักเรียนอยู่รวมกัน 30-40 คนต่อห้อง หรือเป็น 1,000 คนก็ต้องจัดระบบรองรับ ระบบจะเรียกชื่อว่าอะไรก็แล้วแต่ ที่จริงก็คือระบบความเป็นอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และสามารถใช้ความเป็นอยู่ร่วมกันเป็นการเรียนรู้และพัฒนา
“สมัยก่อนเดิมยึดประเพณีปฏิบัติการลงโทษเด็ก โดยดูจากพ่อแม่ลงโทษลูกของตนได้ด้วยวิธีใดก็ตาม ครูก็ควรลงโทษได้เช่นเดียวกัน ช่วงนั้นพ่อแม่ใช้ไม้เรียว ครูก็ใช้ไม้เรียว แต่ใช้ด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ใช่เป็นการจงใจทำร้าย ก็ไม่เคยมีศาลใดในโลกพิพากษาว่าผิด เขาใช้หลักที่ว่า พ่อแม่อบรมเลี้ยงดูลูกเพื่อให้อยู่ในระเบียบวินัย และมีการลงโทษด้วยวิธีใด ครูทำด้วย ก็เสมือนพ่อแม่ที่ 2 ความจริงการเฆี่ยนตีก็ถือว่าใช้ความรุนแรง ปัจจุบันพ่อแม่ไม่ปรารถนาให้ใช้ไม้เรียว ก็ยกเลิกการทำโทษด้วยการเฆี่ยนตี ถามว่าจะเอาอะไรมาแทน เพื่อให้ครูมีเครื่องมือในการดูแลความประพฤติของเด็กไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง หรือพฤติกรรมที่ไม่พึ่งปรารถนา ตอนนี้จะต้องมาคิดกันแล้ววิธีปกครองเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ควรจะเป็นอย่างไร”
“วิธีของการลงโทษมี 2 ลักษณะ คือ วิธีที่ลงโทษเพื่อสกัดกั้นไม่ให้พฤติกรรมนั้นเกิดอีก หรือลงโทษเพื่อที่จะให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในแนวที่เราพึงปรารถนา ดังนั้น ต้องคิดให้รอบคอบกว่านี้และผมจะเปิดประเด็นนี้เพื่อหารือกับสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นยังไม่สามารถให้คำตอบเป็นสูตรสำเร็จได้ว่าจะเป็นวิธีใด แต่ผมคิดว่าไม่ไกลเกินกว่าสติปัญญาที่จะคิดกันได้ และต้องให้มีตัวแทนจากฝ่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษามาร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องนี้ด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าว
ด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขานุการคณะอนุกรรมการด้านเด็กฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดในสถานศึกษานับวันทวีความรุนแรงขึ้น แต่เด็กอาจจะไม่ได้แสดงออก เพราะอาจจะเก็บกดไว้แล้วแสดงออกก้าวร้าวรุนแรงเช่น ทำร้ายหรือฆ่าเพื่อนและครู หรือฆ่าตัวตาย หรือไม่ยอมไปโรงเรียนด้วยข้ออ้างอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ซึ่งความรุนแรงที่เด็กได้รับไม่เฉพาะเรื่องของการถูกครูตีเมื่อทำผิด แต่ยังปรากฏในเรื่องการชกต่อย ตบตี นักเรียนที่อ่อนแอกว่าถูกรังแกเป็นประจำ ซึ่งมีผลสำรวจพบว่านักเรียนประมาณร้อยละ 40 เคยถูกรังแกเดือนละ 2-3 ครั้ง
ทั้งนี้ การถูกรังแกจะเกิดขึ้นมากที่สุดในชั้น ป.4 และลดลงเรื่อยๆ ตามระดับชั้นที่สูงขึ้น ดังนั้น น่าจะเร่งยุติความรุนแรงในสถานศึกษา รวมทั้งสร้างกระบวนทักษะให้ครูมีเครื่องมือใช้ในการดูแลเด็ก หลังจากที่มีการยกเลิกใช้ไม้เรียว